xs
xsm
sm
md
lg

โชว์เฟอร์นิเจอร์เขียวเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้รักษ์โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภัทรพล จันทร์คำ กับโต๊ะที่และเก้าอี้ที่ออกแบบมาให้ปลูกผักไฮโดรพอนิกได้
iTAP โชว์ผลงาน หนุนผู้ประกอบการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในงานเฟอร์นิเจอร์ ทั้งเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากเศษเหลือใช้ในการผลิต และการออกแบบที่เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ผู้ใช้ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ โต๊ะกลางแจ้งพร้อมระบบปลูกผักไฮโดรพอนิก โต๊ะนักเรียนเปลี่ยนชิ้นส่วนซ่อมได้ เป็นต้น

โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โชว์ผลงานออกแบบของผู้ประกอบการไทยผ่านโครงการ "เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง" และ "โรงงานเฟอร์นิเจอร์สีเขียว" ภายในงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ 2553 (Thailand International Furniture Fair: TIFF 2010) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-14 มี.ค.53 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ทั้งนี้ ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวภายในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์จาก 2 โครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ว่า จากการวิจัยตลาดและวิเคราะห์ความต้องการผู้บริโภค ทำให้คณะทำงาน iTAP ได้เห็นว่า เฟอร์นิเจอร์คือความสุนทรีย์เหมือนแฟชัน และต้องปรับเปลี่ยนไปตามตลาด ซึ่งหากอาศัยการผลิตอย่างเดียวไม่อาจทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ ต้องเพิ่มการออกแบบและการตลาดเข้าไปด้วย

ดังนั้น iTAP จึงได้ทำโครงการเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์โดยเฉพาะ ตั้งแต่ปี 2550 และในปี 2551 ได้ ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีทางอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญให้กับโครงการ “เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง – รับกระแสโลกร้อนและสร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้” โดยมีบริษัทเข้าร่วมโครงการระยะแรก 3 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับไม้ เหล็กและสิ่งทอ

ทั้งนี้ ผศ.ดร.สิงห์กล่าวว่าในการผลิตนั้นเกิดขยะและเศษเหลือใช้มากถึง 30% ของปริมาณผลิตภัณฑ์ และด้วยเศรษฐกิจที่หลายคนบ่นว่าไม่มีลูกค้านั้น เราจำเป็นต้องสร้างมูลค่าให้กับสินค้าโดยไม่ใช้วัตถุดิบมากขึ้น ซึ่งมีหลากหลายวิธีนั้นคือ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้ใช้วัตถุดิบน้อยแต่ได้ผลผลิตออกมามาก รวมทั้งลดเวลาและปริมาณวัตถุดิบลง และลดต้นทุนการผลิตตั้งแต่กระบวนการขุดเจาะวัตถุดิบจากโลก เพิ่มคุณภาพของสินค้าให้ดีเยี่ยม สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และสร้างสินค้าที่ทุกคนมีสิทธิใช้ ไม่ใช่เฉพาะคนรวยเท่านั้น

สำหรับข้อดีของเฟอร์นิเจอร์จากสิ่งเศษเหลือใช้นั้น ผศ.ดร.สิงห์กล่าวว่า อย่างแรกช่วยลดการใช้ทรัพยากร ช่วยทำให้คนคิดมากขึ้น สร้างรายได้เพิ่ม และเปิดตลาดใหม่ ซึ่งน่าจะเป็นจุดขายให้เมืองไทยในเรื่องสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ ส่วนข้อเสียนั้นอาจารย์นักออกแบบกล่าวว่าหากออกแบบอย่างไม่ระวังจะกลายเป็นว่าเราได้เศษอีกกองขึ้นมา ซึ่งจะยากต่อการกำจัดมากขึ้น และการออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากเศษวัสดุนั้น ต้องใช้เวลามากในการทำความเข้าใจเศษวัสดุนั้นๆ

นอกจากนี้ iTAP ยังทำโครงการ “โรงงานเฟอร์นิเจอร์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” โดยมี ภัทรพล จันทร์คำ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้เชี่ยวชาญในโครงการ และมี 9 บริษัทต้นแบบเข้าร่วมโครงการในการทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ปรับทัศนคติ ออกแบบ สร้างห่วงโซ่อุปทาน ทำการผลิตและการตลาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนขอการรับรองผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของ อ.ภัทรพลนั้นมีหลักการคือสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้แตกต่างไปจากที่คนเข้าใจว่าคือการนำเศษเหลือใช้มาทำให้สวย ซึ่งการเป็นเศษเหลือใช้นั้นอาจมีข้อเสียที่ทำให้ราคาตกได้ ขณะที่การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นต้องออกแบบให้ดูไม่ต่างจากเฟอร์นิเจอร์ที่มีจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ทั่วไป แต่ทำให้ผู้ใช้เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

พร้อมทั้งยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์จาก บริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด ซึ่งเป็น 1 ใน 9 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ โดยบริษัทดังกล่าวมีจุดเด่นเป็นผลิตภัณฑ์ไม้สำหรับใช้กลางแจ้ง ทนแดดและฝน และได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีโครงการสำหรับปลูกพืชไฮโดรพอนิก ซึ่งทำให้คนเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตให้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น

โต๊ะ-เก้าอี้สำหรับนักเรียนที่ถอดชิ้นส่วนได้เป็นอีกผลงานจากโครงการโรงงานเฟอร์นิเจอร์สีเขียวฯ หากชิ้นส่วนใดเสียหายก็เพียงเปลี่ยนชิ้นส่วนนั้น โดยไม่ต้องทิ้งโต๊ะหรือเก้าอี้ทั้งตัว ซึ่งในการออกแบบนั้นดีไซเนอร์จำเป็นต้องค้นคว้าพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายด้วย ตัวอย่างเช่นนักเรียนซึ่งมีแนวโน้มในการทำลายข้าวของสูง จึงออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถซ่อมแซมได้ง่าย

“ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในโครงการที่ออกมานั้น ดูเผินๆ เหมือนผลิตภัณฑ์ทั่วไปในงานแสดงเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งนั่นทำให้ผมพอใจมาก ที่มองดูแล้วไม่รู้ว่าเป็น Eco-design อย่างไร” อ.ภัทรพลกล่าว พร้อมทั้งบอกด้วยว่าการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์จะทำให้เกิดความแตกต่างที่แสดงให้เห็นว่าสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นใช้งานได้จริงและมีกลุ่มเป้าหมายจริง
โซฟาสำหรับคนขี้เบื่อแต่อยากช่วยโลกลดการใช้ทรัพยากร แค่ยกเบาะหุ้มออกก็ได้เก้าอี้อีกสไตล์
โต๊ะ-เก้าอี้สำหรับนักเรียน ที่ถอดชิ้นส่วนเพื่อซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอะไหล่ได้ ไม่ต้องทิ้งโต๊ะ เก้าอี้ทั้งตัว
 ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต
เศษวัสดุที่กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ที่หลากหลาย
กระเป๋าหนังจากเศษวัสดุและท้องหนัง
โคมไฟจากเศษด้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น