xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-ญี่ปุ่น ลงนามJTEPA ตั้งคณะร่วมพัฒนาSMEsเชิงรุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเผย เนื่องในโอกาสฉลอง 120 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ลงนามความตกลง JTEPA 2 ประเทศ ตั้งกรรมร่วมสร้างความร่วมมือพัฒนา SMEs เชิงรุก หวังสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน เน้นพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยี พลังงาน ขยายตลาด และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในโอกาสครบรอบ 120 ปี ในการสถาปนาทางการทูตระหว่างไทย-ญี่ปุ่น และการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (JTEPA) ทั้งสองประเทศ จึงจัดตั้งคณะอนุกรรมการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมไทย – ญี่ปุ่นขึ้นเพื่อเร่งสร้างความร่วมมือด้าน การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในเชิงรุก 5 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย 1. ความร่วมมือพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม 2. ความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต 3. พัฒนาการใช้พลังงานภาคอุตสาหกรรม 4. พัฒนาความร่วมมือ ในการขยายช่องทางการตลาด และ 5. ความร่วมมือแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม กับหน่วยงานต่าง ๆ ของญี่ปุ่นทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาจุดอ่อน เสริมพลัง ในจุดแข็งให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยผลการดำเนินงานทุกด้านมีขอสรุปหลัก ดังนี้ .ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม อาทิ โครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือ เอ เอช อาร์ ดี พี เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งปีที่ผ่านมาได้ผลิตบุคลากรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมแล้วกว่า 4,300 ราย โดยแบ่งเป็น ผู้ฝึกสอน จำนวน 256 ราย และบุคลากร จำนวน 3,984 ราย โครงการพัฒนาเครื่องมือและระบบในการให้บริการ เอส เอ็ม อี ในภูมิภาค โครงการสร้างเสริมและพัฒนาทักษะการวินิจฉัยเฉพาะทาง และ โครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ความร่วมมือในการยกระดับเทคโนโลยีการผลิต

นอกจากนี้ โครงการศึกษาและพัฒนาระบบเครื่องยนต์เชื้อเพลิงชีวภาพ ได้แก่ โครงการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายบริการทดสอบ วิเคราะห์ วิจัย ด้านอุตสาหกรรม หรือ ที เอส เอ็น ซี ได้รับความร่วมมือจากสมาคมพัฒนาโพ้นทะเลแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ เจ โอ ดี ซี และสถาบันวิจัย โคเบลโค (Kobelco Research Institute) ใช้งบประมาณ 55 ล้านบาท โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผ้าผืน และ ความร่วมมือในการพัฒนาการใช้พลังงานเพื่ออุตสาหกรรม ได้แก่ โครงการต้นแบบเตาหลอมประสิทธิภาพสูงที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานจากพลังงานที่เหลือทิ้งในการผลิตกระแสไฟฟ้าในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ความร่วมมือในการขยายช่องทางการตลาดของ เอส เอ็ม อี และ ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม และ โครงการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการตรวจสารไดออกซินในประเทศไทย

นายชาญชัย กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากโครงการความร่วมมือดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แล้วยังได้ ลงนามความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสำนักงานเจโทรกรุงเทพฯ เพื่อการจัดตั้งโต๊ะญี่ปุ่น (Japan Desk) โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการให้ข้อมูลและคำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการไทยที่สนใจในการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมที่ร่วมกับประเทศญี่ปุ่น และผู้ประกอบการญี่ปุ่น ที่อยู่ในประเทศไทย รวมถึงการเป็นศูนย์กลางในการประสานและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ด้านอุตสาหกรรมระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นให้มีความแน่นแฟ้น เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันที่ดีต่อไปในอนาคต ซึ่งจากการดำเนินการทั้งหมดนี้ เชื่อได้ว่าภาคอุตสาหกรรมไทยจะมีความก้าวหน้าและขีดความสามารถที่สูงขึ้นต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น