xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดไอซีทีไทยโตฟืด ปีนี้คาดมูลค่า5.9แสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซิป้าจับมือเนคเทคเผยผลสำรวจตลาดไอซีทีไทยรอบปี 2552 มีมูลค่า 555,501 ล้านบาท โตเพียง 6% ส่วนปีนี้คาดว่าจะเติบโตอีกแค่ 7.2% มูลค่า 595,604 ล้านบาท ด้านตลาดซอฟต์แวร์ปี 52 มีมูลค่า 64,365 ล้านบาท โตแค่ 2.3% ส่วนปีนี้คาดโตเพิ่มแค่ 5% สาเหตุที่เติบโตไม่มากเพราะปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองไทยไม่นิ่ง แถมแผนงบประมาณภาครัฐไม่หนุนใช้ไอทีอย่างชัดเจน

วานนี้ (17ก.พ.53) สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมเปิดเผยถึงผลการ “สำรวจอุตสาหกรรมตลาดไอซีทีในประเทศไทยประจำปี 2552” โดยเป็นการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนก.ย.-พ.ย. 2552

ดร.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ รักษาการผู้อำนวยการ ซิป้า กล่าวว่า จากผลสำรวจพบว่าปี 2552 มูลค่ารวมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีทีไทยอยู่ที่ 555,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ประมาณ 6% โดยมูลค่าส่วนใหญ่เป็นตลาดสื่อสารคิดเป็น 361,895 ล้านบาท รองลงมาเป็นตลาดคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ คิดเป็น 80,869 ล้านบาท ซอฟต์แวร์และตลาดด้านบริการคอมพิวเตอร์ 64,365 ล้านบาท

“ปริมาณการเติบโตของตลาดไอซีทีในประเทศไทยเติบโตไม่มากเท่าที่ควร สาเหตุหลักเกิดจากไทยประสบปัญหาความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ จากผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกและปัญหาการเมืองภายในประเทศ ทำให้มีการชะลอการใช้จ่ายในภาคธุรกิจและภาครัฐ”

สำหรับตลาดรวมไอที 2553 คาดว่าจะมีการเติบโตประมาณ 7.2% หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดรวม 595,604 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าตลาดคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ 88,040 ล้านบาท มูลค่าตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ 67,884 ล้านบาท มูลค่าตลาดด้านบริการคอมพิวเตอร์ 57,392 ล้านบาท และมูลค่าตลาดสื่อสาร 382,288 ล้านบาท

ดร.วุฒิพงศ์กล่าวว่า หากแยกเฉพาะส่วนซอฟต์แวร์ปี 2552 มีมูลค่าทั้งสิ้น 64,365 ล้านบาท มีการเติบโต 2.3% เมื่อเทียบกับปี 2551 และคาดว่าในปี 2553 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 67,884 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าการเติบโต 5.5 % เนื่องจากบริษัทต่างๆ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะมีการบริหารจัดการองค์กรให้ดีขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ระหว่างฟื้นตัว สำหรับสัดส่วนการใช้จ่ายซอฟต์แวร์ปี 2552 แบ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ 43.5% ภาคเอกชน 45.1% และผู้ใช้ทั่วไป 11.4%

ทั้งนี้ จากผลสำรวจดังกล่าวระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้ตลาดซอฟต์แวร์ปี 2553 มีอัตราการเติบโตไม่สูงมาก เพราะความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งส่งผลเชื่อมโยงไปสู่เศรษฐกิจในภาพรวม ต้นทุนค่าบริการและราคาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์ยังแพง ส่งผลให้บริการที่เกี่ยวข้องในรูปแบบใหม่ๆ ที่คาดว่าจะเกิด อาทิ การประชุมทางไกล (วิดีโอ คอนเฟอเรนซ์) มีต้นทุนสูงและไม่ขยายตัวเท่าที่ควร และนโยบายเรื่องการพัฒนาบุคลากรและการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของภาครัฐไม่ชัดเจน

“สำหรับตัวเลขการเติบโตของตลาดซอฟต์แวร์ในปีนี้ เป็นตัวเลขที่ขยายตัวแบบลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับสภาวการณ์ปกติ สาเหตุหลักเกิดจากเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน แผนงบประมาณการใช้จ่ายของภาครัฐไม่เน้นการสนับสนุนให้ใช้จ่ายด้านไอทีอย่างชัดเจน”

อย่างไรก็ดี จากผลการสำรวจครั้งนี้ยังพบแนวโน้มที่น่าสนใจในตลาดซอฟต์แวร์คือ ตลาดดังกล่าวหันไปใช้งานซอฟต์แวร์ในรูปบริการมากขึ้น โดยจะเริ่มจากซอฟต์แวร์ที่มีแอปพลิเคชันไม่ซับซ้อน และไม่กระทบต่อการดำเนินงานหลักขององค์กรที่เริ่มเปลี่ยนแปลง เป็นการใช้บริการซอฟต์แวร์ผ่านระบบออนไลน์ทำให้มูลค่าซอฟต์แวร์บ้างส่วนย้ายไปอยู่ในตลาดการบริการด้านคอมพิวเตอร์ในหมวดของ Services and Application Hosting ทำให้ตลาดดังกล่าวมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น