xs
xsm
sm
md
lg

สสว.เผยเศรษฐกิจ SMEsปีขาล ส่งสัญญาณเริ่มฟื้นตามอุตฯ โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสว.ชี้ ปี 53 สัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟื้น จากการเพิ่มสูงขึ้นของกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ปัจจัยลบคือสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และต้นทุนพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ค่าขนส่ง และต้นทุนสินค้า กระทบเอสเอ็มอีไทย

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึง สถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอีปี 2553 ว่าปัจจัยบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจเอสเอ็มอี คือ การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งสนับสนุนต่อการขยายตัวของการผลิต การส่งออกสินค้า และการท่องเที่ยว การดำเนินการขยายการลงทุนของภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และแรงส่งจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งในด้านการจ้างงาน ความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ การเพิ่มสูงขึ้นของกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ปัจจัยลบยังคงเป็นเรื่องของสภาวะทางการเมืองในประเทศ ต้นทุนพลังงานโดยเฉพาะราคาน้ำมัน ซึ่งมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นอันจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต ค่าขนส่ง และปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่อาจส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบต่อสภาวะเศรษฐกิจเอสเอ็มอีของไทย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุ หรือส่งผลให้เห็นได้อย่างชัดเจนสำหรับตลาดในประเทศ คือ ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนหรือ AFTA โดยเฉพาะการลงนามข้อตกลงการค้าสินค้ากับประเทศจีน

ทั้งนี้สสว.ได้คาดการณ์เศรษฐกิจเอสเอ็มอี ว่าจะกลับมาขยายตัวจากปี 2552 ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 3.0 ซึ่งมีแนวโน้มภาคการเกษตร ผลผลิตและระดับราคาสินค้าเกษตรจะเพิ่มขึ้นจากปี 2552 อันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน การดำเนินมาตรการของภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการผลิตภาคเกษตร รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีคุณภาพมากขึ้น และการปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าเกษตร ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ส่วนภาคการผลิต โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมการผลิต มีแนวโน้มขยายตัวจากปี 2552 อันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ และเพื่อการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องเรือนหรือเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการภาวะการฟื้นตัว ของภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ที่มีความต้องการจากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการทำสัญญาความร่วมมือ JTEPA ทำให้การส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นมีปริมาณที่เพิ่มขึ้น

ในขณะที่ภาคบริการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวอันมาจากการที่ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2553 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน การผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แนวโน้มสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงรุก ดังนั้นจึงคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยในปี 2553 มีจำนวนประมาณ 14.8– 15.0 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ประมาณร้อยละ 10 แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ความกังวลของการระบาดรอบใหม่ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ และความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีความอ่อนไหว ภาคการค้า ในปี 2553 มีแนวโน้มการขยายตัวจากปี 2552 อันเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคมีมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามจากผลของข้อตกลง AFTA หรือข้อตกลงกับประเทศจีน ก็จะส่งผลต่อทางเลือกในการเลือกสินค้าหรือทำการค้าจากแหล่งสินค้าที่มีต้นทุนหรือราคาที่ต่ำในการแข่งขันด้วยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น