xs
xsm
sm
md
lg

สสว.สร้างอัตลักษณ์ SMEs เจาะธุรกิจภาคกลางตอนบน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสว. จับมือ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศึกษาอัตลักษณ์ เอสเอ็มอี ภาคกลางตอนบน เดินหน้าจัดประชุม Focus Group ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี และหน่วยงานภาครัฐ-เอกชนในพื้นที่ นนทบุรี อยุธยา ปทุมธานี สระบุรี หวังสะท้อนข้อมูลบทบาททั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เชื่อมต่อฐานข้อมูล เอสเอ็มอี แห่งชาติ สู่การจัดทำแผนงานและแนวทางการส่งเสริม สนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินโครงการ “ศึกษาวิเคราะห์สถานภาพ เอสเอ็มอี ประเทศไทย : บทบาทเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม” ในพื้นที่ภาคกลาง โดยการจัดกิจกรรมประชุม Focus Group และการสัมภาษณ์เชิงลึก ซึ่งครั้งนี้เป็นการดำเนินงานครั้งที่ 1 ของภาคกลาง ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดภาคกลางตอนบน ได้แก่ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสระบุรี โดยมีกลุ่มผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี จากธุรกิจที่มีบทบาทในพื้นที่ ผู้ประกอบรายใหญ่ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเพื่อร่วมสะท้อนบทบาทของ เอสเอ็มอี ต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค

“เอสเอ็มอี ที่กระจายอยู่ในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศรวมประมาณ 2.82 ล้านกิจการ คิดเป็นร้อยละ 99.7 นั้น บางกลุ่มอาจมีบทบาทในการสร้างเศรษฐกิจ ขณะที่บางกลุ่มอาจมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในพื้นที่ และบางกลุ่มก็ดำเนินวิถีทางธุรกิจโดยอิงอยู่กับเอกลักษณ์ หรือวัฒนธรรมของพื้นที่ของตน นอกจากนี้บางกลุ่มอาจใช้ทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ และบางกลุ่มอาจสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น บทบาทต่างๆ เหล่านี้ของ เอสเอ็มอี คือสิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน ดังนั้นการศึกษาในครั้งนี้จะช่วยให้ สสว. ได้ข้อมูลต่างๆ ดังกล่าว ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำแผนการส่งเสริม เอสเอ็มอี ที่สอดคล้องกับศักยภาพ และจุดแข็งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของพื้นที่ภาคกลาง” ผอ.สสว. กล่าว

สำหรับการดำเนินงานในครั้งนี้จะมุ่งศึกษาวิเคราะห์สถานภาพ เอสเอ็มอี ภาคกลาง ในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน ทั้งบทบาททางเศรษฐกิจ เช่น โครงสร้างสถานภาพของธุรกิจ ลักษณะการประกอบธุรกิจ ความเป็นผู้ประกอบการ ขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจ ปัจจัยแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ ตำแหน่งของธุรกิจใน Value Chain ความเชื่อมโยงของธุรกิจ เอสเอ็มอี ในแต่ละกลุ่ม รวมถึงความเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการรายใหญ่ บทบาททางสังคม เช่น การปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและแรงงานจากธุรกิจ เอสเอ็มอี ในพื้นที่ การเชื่อมโยงของธุรกิจ เอสเอ็มอี กับชุมชนและสิ่งแวดล้อม บทบาทของ เอสเอ็มอี ต่อตัวชี้วัดในเชิงสังคมในด้านต่างๆ และ บทบาททางวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการ “ศึกษาวิเคราะห์สถานภาพ เอสเอ็มอี ประเทศไทย : บทบาทเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม” นี้ สสว. ยังได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาในภูมิภาคอื่นๆ ดังนี้ ภาคเหนือ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภาคใต้ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งภายหลังการสรุปผลประชุม Focus Group และการสัมภาษณ์เชิงลึกแล้ว จะจัดให้มีการสัมมนาเผยแพร่ผลงานในแต่ละภูมิภาค ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ – ต้นเดือนมีนาคม 2553 และจัดสัมมนาเผยแพร่สรุปผลการดำเนินงาน ที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2553
กำลังโหลดความคิดเห็น