xs
xsm
sm
md
lg

สสว.ชี้ ดัชนีฯ SMEs ต.ค. ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 44.4

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสว. รายงานดัชนี TSSI SMEs ประจำเดือนตุลาคม ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 44.4 โดยมีกลุ่มค้าส่งสินค้าเกษตร ค้าปลีกน้ำมัน และบริการอสังหาริมทรัพย์ ดัชนีลดลงมากที่สุด เหตุจากความกังวลด้านต้นทุนและสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ แต่เชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าแนวโน้มดีขึ้น ชี้ใกล้ฤดูกาลท่องเที่ยวและเทศกาลปีใหม่ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคเพิ่มขึ้น

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนตุลาคม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2552 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ ปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 44.4 จากระดับ 45.4 และเป็นการปรับตัวลดลงทุกภาคธุรกิจ โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 43.3 43.5 และ 45.7 จากระดับ 44.7 44.7 และ 46.4 เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ และต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 46.9 และ 41.1 จากระดับ 48.6 และ 42.5

“ผลการสำรวจในเดือนตุลาคม พบว่า ในส่วนของความเชื่อมั่นในภาพรวม ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีปัจจุบันปรับตัวลดลงทั้งหมด โดยมีสาเหตุมาจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อต้นทุนการประกอบการอันเนื่องมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมัน กอรปกับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ส่งผลต่อการค้าขาย ทั้งในส่วนสินค้าเกษตรรวมถึงการค้าปลีกน้ำมันของสถานีบริการน้ำมัน ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองก็ยังเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภทกิจการ พบว่า ภาคการค้าส่ง กิจการค้าส่งสินค้าเกษตร มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุด และมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับทุกประเภทธุรกิจที่ทำการสำรวจ โดยอยู่ที่ 39.7 จากระดับ 46.2 (ลดลง 6.4) มีผลมาจากการที่สินค้าเกษตรขายได้ราคาที่ต่ำลง และสถานการณ์น้ำท่วมอันเนื่องมาจากฝนตกในหลายพื้นที่รวมถึงการเข้ามาของพายุกิสนา ได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรเป็นจำนวนมาก

สำหรับภาคการค้าปลีก กิจการสถานีบริการน้ำมัน มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 44.0 จากระดับ 48.2 (ลดลง 4.2) ผลจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านต้นทุนอันเนื่องมาจากระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กอรปกับเป็นช่วงฤดูฝน สภาพอากาศเป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมขนส่ง ส่งผลให้ยอดจำหน่ายน้ำมันของสถานีบริการน้ำมันปรับตัวลดลง ส่วนภาคบริการ พบว่า กิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ ค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 43.9 จากระดับ 48.2 (ลดลง 4.2) สาเหตุมาจากเป็นช่วงปิดภาคเรียนและเป็นช่วงที่มีฝนตกมาก ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการเช่าที่พักอาศัยทั้งในรูปแบบของ หอพัก อพาร์ทเมนต์ แฟลต และแมนชั่น มียอดลดลง

ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 47.9 จากระดับ 46.9 และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกประเภทกิจการ โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 51.3 46.6 และ 48.0 จากระดับ 50.2 45.3 และ 47.4 ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 53.2 และ 53.3 จากระดับ 52.1 และ 52.2

สำหรับผลการสำรวจดัชนีรายภูมิภาคในเดือนตุลาคมเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน พบว่าส่วนใหญ่มีค่าดัชนีปรับตัวลดลง โดย ภาคใต้เป็นภูมิภาคที่ค่าดัชนีลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 47.7 จากระดับ 55.5 (ลดลง 7.7) รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 34.9 จากระดับ 38.1 (ลดลง 3.1) และภาคเหนือ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 48.0 จากระดับ 48.3 (ลดลง 0.3) ส่วนภูมิภาคที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 41.0 จากระดับ 34.5 (เพิ่มขึ้น 6.5) และ กรุงเทพฯ ปริมณฑล ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 46.7 จากระดับ 45.7 (เพิ่มขึ้น 1.1)

“ค่าดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ทั้งในส่วนของภาพรวมและดัชนีรายภูมิภาค มีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการเห็นว่าปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญมาจาก ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่สำเร็จลุล่วงด้วยดีได้สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ รวมถึงใกล้ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวและเทศกาลปีใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ภาครัฐได้ออกมาตรการลดผลกระทบในเรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งส่งผลด้านจิตวิทยาในเชิงบวกแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ” นายยุทธศักดิ์ กล่าวในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น