สสว.สำรวจผู้ประกอบการ "เอสเอ็มอี" ทั่วประเทศ โดยแยกเป็น 5 ภูมิภาค ชี้ชัด "ภาคอีสาน" มีศักยภาพต่ำที่สุด แต่ต้นทุนการผลิตสูงสุด โดยมีสาเหตุหลัก จากกระบวนการผลิตที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ใช้เทคโนโลยีการผลิตน้อย เกิดความสูญเสียระหว่างขั้นตอนการผลิตและการขนย้ายสูง ทำให้ต้องลดต้นทุนด้านการขาย
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ร่วมกับสถาบันการศึกษาส่วนกลางและส่วนภูมิภาครวม 5 ภูมิภาค สำรวจสถานการณ์ต้นทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทั้งอุตสาหกรรมการผลิต และธุรกิจการค้า และบริการรายภูมิภาค จำนวน 4,200 ตัวอย่าง
ทั้งนี้ ผลการสำรวจ พบว่า อุตสาหกรรมการผลิต ต้นทุนส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อสินค้าสำเร็จรูปต้นงวด คิดเป็นร้อยละ 42.43 รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายต้นทุนการผลิต คิดเป็นร้อยละ 25.17 และค่าใช้จ่ายในการบริหาร คิดเป็นร้อยละ 23.00 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายมีสัดส่วนน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 9.40 ส่วนธุรกิจในภาคการค้าและบริการ ส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุนซื้อสินค้าเข้า คิดเป็นร้อยละ 48.35 รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร คิดเป็นร้อยละ 31.25 และค่าใช้จ่ายในการขาย คิดเป็นร้อยละ 10.43 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริการลูกค้ามีสัดส่วนน้อยที่สุดคิดเป็นร้อยละ 9.98
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาค พบว่า ภาคเหนือ อุตสาหกรรมการผลิตส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุนสินค้าสำเร็จรูปต้นงวด คิดเป็นร้อยละ 38.72 รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร คิดเป็นร้อยละ 28.16 ต้นทุนการผลิต คิดเป็นร้อยละ 22.33 และค่าใช้จ่ายในการขาย คิดเป็นร้อยละ 10.80 ส่วนธุรกิจการค้าและบริการ ส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุนการซื้อสินค้าเข้า คิดเป็นร้อยละ 48.32 รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร คิดเป็นร้อยละ 36.75 ค่าใช้จ่ายในการขาย คิดเป็นร้อยละ 8.73 และค่าใช้จ่ายในการบริการลูกค้า คิดเป็นร้อยละ 6.26
ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุตสาหกรรมการผลิต ส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุนการผลิต คิดเป็นร้อยละ 45.83 รองลงมาเป็นต้นทุนสินค้าสำเร็จรูปต้นงวด คิดเป็นร้อยละ 32.76 ค่าใช้จ่ายในการบริหาร คิดเป็นร้อยละ 18.21 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขาย มีสัดส่วนน้อยที่สุดคิดเป็นร้อยละ 3.20 สำหรับธุรกิจการค้าและบริการส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุนซื้อสินค้าเข้า คิดเป็นร้อยละ 45.73 รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร คิดเป็นร้อยละ 27.19 ค่าใช้จ่ายในการบริการลูกค้า คิดเป็นร้อยละ 15.43 และค่าใช้จ่ายในการขาย คิดเป็นร้อยละ 11.65 ตามลำดับ
ภาคตะวันออก อุตสาหกรรมการผลิตส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุนสินค้าสำเร็จรูปต้นงวด คิดเป็นร้อยละ 49.07 รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร คิดเป็นร้อยละ 21.94 ต้นทุนการผลิต คิดเป็นร้อยละ 20.91 และค่าใช้จ่ายในการขาย คิดเป็นร้อยละ 8.08 ตามลำดับ สำหรับธุรกิจการค้าและบริการ ส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุนในการซื้อสินค้าเข้า คิดเป็นร้อยละ 50.86 รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร คิดเป็นร้อยละ 30.40 ค่าใช้จ่ายในการขาย คิดเป็นร้อยละ 9.50 และค่าใช้จ่ายในการบริการลูกค้า คิดเป็นร้อยละ 9.24 ตามลำดับ
สำหรับภาคใต้ อุตสาหกรรมการผลิต ส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุนด้านสินค้าสำเร็จรูปต้นงวด คิดเป็นร้อยละ 37.85 รองลงมาคือต้นทุนการผลิตของกิจการ คิดเป็นร้อยละ 30.41 ค่าใช้จ่ายในการบริหาร คิดเป็นร้อยละ 21.15 และค่าใช้จ่ายในการขาย คิดเป็นร้อยละ 10.59 ส่วนธุรกิจการค้าและบริการ ส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุนด้านการซื้อสินค้าเข้า คิดเป็นร้อยละ 46.53 รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายในด้านการบริหาร คิดเป็นร้อยละ 30.73 ค่าใช้จ่ายในการขาย คิดเป็นร้อยละ 12.31 และค่าใช้จ่ายในการบริการลูกค้า คิดเป็นร้อยละ 10.42
นายยุทธศักดิ์ กล่าวสรุปว่า ผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้พบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีต้นทุนการผลิตสูงมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากกระบวนการผลิตที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ใช้เทคโนโลยีการผลิตน้อย เกิดความสูญเสียระหว่างขั้นตอนการผลิตและการขนย้ายสูง ทำให้ต้องลดต้นทุนด้านอื่น โดยเฉพาะต้นทุนด้านการขายลง
ส่วนผลที่ตามมา คือ ยอดขายลดลง เนื่องจากสินค้ายังไม่เป็นที่รู้จัก หรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภาคตะวันออกมีต้นทุนสินค้าสำเร็จรูปต้นงวดสูง ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นตัวสะท้อนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำการศึกษาถึงสาเหตุที่แท้จริง เพื่อนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขต่อไป