สสว. จับมือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาอัตลักษณ์ SMEs ภาคเหนือ เดินหน้าจัดประชุมระดมความคิดเห็นผู้ประกอบการ SMEs และหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน หวังสะท้อนข้อมูลบทบาททั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเชื่อมต่อฐานข้อมูล SMEs แห่งชาติ นำไปสู่การจัดทำแผนงานและแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินโครงการ “ศึกษาวิเคราะห์สถานภาพ SMEs ประเทศไทย : บทบาทเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม” ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยการจัดกิจกรรมประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น และการสัมภาษณ์เชิงลึก ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 1 ของภาคเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ และพะเยา โดยมีกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs จากธุรกิจที่มีบทบาทในพื้นที่ ผู้ประกอบรายใหญ่ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเพื่อร่วมสะท้อนบทบาทของ SMEs ต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค
สำหรับดำเนินงานครั้งนี้จะศึกษาวิเคราะห์สถานภาพ SMEs ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ทั้งบทบาททางเศรษฐกิจ เช่น โครงสร้างสถานภาพของธุรกิจ ขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจ ปัจจัยแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ ความเชื่อมโยงของธุรกิจ SMEs ในแต่ละกลุ่มและกับผู้ประกอบการรายใหญ่ บทบาททางสังคม เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและแรงงานจากธุรกิจ SMEs ในพื้นที่ และ บทบาททางวัฒนธรรม เช่น โครงสร้างและสถานภาพของธุรกิจ SMEs ที่นำทุนทางวัฒนธรรมมาใช้ในทางธุรกิจ การถ่ายทอดเอกลักษณ์ วัฒนธรรมของพื้นที่ลงไปสู่ธุรกิจ ฯลฯ
โดยในส่วนภาคเหนือกำหนดจัดการประชุม 3 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 1 ส่วนครั้งที่ 2 จะจัดที่จังหวัดตาก ครอบคลุมพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และครั้งที่ 3 จะจัดที่จังหวัดนครสวรรค์ ครอบคลุมพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2
“เชื่อว่าผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้จะช่วยให้ สสว. ได้ฐานข้อมูลในเชิงคุณภาพที่มีการวิเคราะห์ในเชิงลึกทั้งบทบาททางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อให้สามารถบอกได้ถึงลักษณะ หรืออัตลักษณ์ของ SMEs ในแต่ละกลุ่ม แต่ละภูมิภาค ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญนำไปสู่การวางยุทธศาสตร์การส่งเสริม SMEs ที่สอดคล้องกับศักยภาพ และจุดแข็งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของพื้นที่ และช่วยชี้นำการปรับกระบวนทรรศน์ของการส่งเสริม SMEs ในประเทศไทยต่อไป” ผอ.สสว. กล่าวในที่สุด
อย่างไรก็ดีการดำเนินโครงการ “ศึกษาวิเคราะห์สถานภาพ SMEs ประเทศไทย : บทบาทเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม” นี้ สสว. ยังได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาในภูมิภาคอื่นๆ โดย ภาคกลาง ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภาคใต้ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งภายหลังสรุปผลการประชุมระดมความคิดเห็นและการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ประกอบการ SMEs แล้ว จะจัดให้มีการสัมมนาเผยแพร่ผลงานในแต่ละภูมิภาค ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ – ต้นเดือนมีนาคม 2553 และจัดสัมมนาเผยแพร่สรุปผลการดำเนินงาน ที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2553