ดัชนีความเชื่อมั่น “เอสเอ็มอี” เดือน พ.ย.52 อยู่ที่ 50.3 เพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ ขณะที่คาดการณ์ 3 เดือนเพิ่มเป็น 53.1 รับผลบวกจาก ศก.เริ่มฟื้นตัว เทศกาลท่องเที่ยว-การจับจ่ายใช้สอย
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการในกลุ่มเอสเอ็มอีเดือนพฤศจิกายน 2552 โดยระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2552 ดัชนีเพิ่มขึ้นในระดับสูง โดยอยู่ที่ 50.3 จากระดับ 44.4 และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ
ทั้งนี้ ภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีกและภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 47.7 50.0 และ 51.3 จากระดับ 43.3 43.5 และ 45.7 เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อธุรกิจตนเองที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48.0 จากระดับ 41.1 ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ ค่าดัชนีปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 46.5 จาก 46.9
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการดัชนีเพิ่มขึ้นในระดับสูงเช่นกัน โดยอยู่ที่ 53.1 จากระดับ 47.9 และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกประเภทกิจการโดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีกและภาคบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 52.9 52.9 และ 53.5 จากระดับ 51.3 46.6 และ 48.0 ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 55.5 และ 61.0 จากระดับ 53.2 และ 53.3
ผู้อำนวยการ สสว.กล่าวถึงผลสำรวจดัชนีรายภูมิภาคเดือน พ.ย.ว่า เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. พบว่าทุกภูมิภาคมีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก เป็นภูมิภาคที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 54.0 จากระดับ 34.9 สาเหตุสำคัญมาจากการที่โรงงานต่างๆ ในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ดังกล่าว เริ่มมีการจ้างงานเป็นปกติและบางแห่งก็มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้บรรยากาศการค้าและบริการในพื้นที่ดังกล่าวดีขึ้น รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50.4 จากระดับ 41.0 ภาคใต้ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50.2 จากระดับ 47.7 ภาคเหนือ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 49.8 จากระดับ 48.0 และกรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48.4 จากระดับ 46.7
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของเดือน พ.ย.ที่สะท้อนตัวเลขดีขึ้นมากนี้อาจจะเป็นการฟื้นตัวในระยะสั้น เนื่องจากอยู่ในช่วงเริ่มฤดูกาลท่องเที่ยว และเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ เพราะปัจจัยที่ผู้ประกอบการเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อกิจการในระดับสูง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศและอำนาจซื้อของประชาชน รองลงมา คือ การหดตัวของความต้องการสินค้าและบริการ การแข่งขันในตลาด ราคาต้นทุนสินค้าและค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น ระดับราคาน้ำมันและค่าขนส่ง และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจึงต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการแก้ไขปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง