สสว. เผยผลกระทบ SMEs ไทยประจำ Q3 ชี้สถานการณ์เศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะซบเซาต่อเนื่อง จากหลายปัจจัย ส่งผลกระทบให้ SMEs กังวลด้านข้อได้เปรียบในการแข่งขัน และปัจจัยด้านการเมือง รวมถึงกฎหมาย ขณะที่คาดสถานการณ์อนาคต ในปี 2553-2555 ผปก. ให้ความสำคัญ เช่น การเมืองและนโยบาย ว่างงาน เทคโนโลยีทางด้านการผลิต และพฤติกรรมผู้บริโภค เป็นต้น
รายงานจากโครงการศึกษาวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา (SAW) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เผยผลสำรวจ ผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่มีต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไทย ประจำ ไตรมาส 3/2552 ระบุว่า จากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยประสบกับภาวะซบเซาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง ในขณะที่อัตราการว่างงานสูงขึ้น ส่วนปัญหาโรคระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ความเชื่อมั่นภาคการลงทุนของเอกชน ตลอดจนเสถียรภาพของรัฐบาล ยังคงเป็นประเด็นปัญหาในการพัฒนาเศรษฐกิจให้อยู่ในสภาวะมั่นคงแข็งแรงต่อสู้กับสภาวะเศรษฐกิจของโลกที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ได้
ในไตรมาสนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งภาคการผลิต ภาคการค้าและการบริการต้องเผชิญกับหลายปัจจัย เช่น ภาวะเศรษฐกิจ การส่งออก การท่องเที่ยว ความเชื่อมั่นในการลงทุน นโยบายรัฐบาลและปัญหาแรงงาน/การจ้างงาน ทำให้ผู้ประกอบการทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการค้า และบริการ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของ SMEs ที่สำคัญ คือ ปัจจัยและข้อได้เปรียบในการแข่งขัน ปัจจัยด้านการเมือง กฎหมาย เช่น การเมืองและรัฐบาล นโยบายสนับสนุนการส่งออกและนำเข้า อัตราภาษี กฎหมาย องค์กรภาครัฐในการสนับสนุนการประกอบธุรกิจ นอกจากปัจจัยด้านการเมืองแล้วปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีที่สำคัญก็คือ เทคโนโลยีด้านการผลิต ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อผลประกอบการของธุรกิจในแต่ละภาคอุตสาหกรรมทั้งสิ้น
ในปี 2553-2555 ผู้ประกอบการ SMEs ให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านอุตสาหกรรม ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยด้านการเมือง/กฎหมาย ปัจจัยและข้อได้เปรียบในการแข่งขัน โดยเฉพาะปัจจัยด้านการเมืองและรัฐบาล นโยบายสนับสนุนการส่งออกและนำเข้า อัตราภาษี อัตราการกระจายรายได้และรายได้รวมของประชากร อัตราการเติบโตของประชากรและอัตราการว่างงาน อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรม เทคโนโลยีทางด้านการผลิต และพฤติกรรมผู้บริโภค โดยผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมภาคการผลิต จะให้ความสำคัญกับราคาน้ำมัน ไฟฟ้า ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีการผลิต และอิทธิพลจากผู้ซื้อ เป็นสำคัญ
ส่วนผู้ประกอบการภาคการค้า จะให้ความสำคัญกับอัตราการเติบโตของประชากร ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมผ้บริโภค จำนวนผู้ซื้อและเทคโนโลยีด้านการผลิต สำหรับผู้ประกอบการในภาคบริการ ให้ความสำคัญกับ การกระจายรายได้และรายได้รวมของประชากร ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมหลัก เทคโนโลยีด้านการสื่อสารและการจัดการและความเป็นไปได้ของผู้เข้าร่วมแข่งขันรายใหม่ ผลกระทบดังกล่าวเป็นเพียงความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SMEs ไทยจากกลุ่มตัวอย่างที่ส่งสัญญาณเตือนผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นสัญญาณเตือนว่าอะไรคือสิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ให้ความสำคัญในวันนี้และอนาคต