xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์ติดตามโครงการกระตุ้น ศก.5,000 ล้าน-ผลกระทบหวัด 2009 ที่ ตรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตรัง - คณะทำงานเศรษฐกิจภาคบริการ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ติดตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs อย่างมีประสิทธิภาพ และผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วยโรคระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 ในจังหวัดตรัง

วันนี้ (14 ก.ย.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดตรัง ชั้น 5 นายจิรวัชร์ สิงห์ดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในการประชุมร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวของในงานเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดตรัง ร่วมกับ คณะทำงานเศรษฐกิจภาคบริการ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำโดย นางภรณี ลีนุตพงษ์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจภาคบริการ และ นายโอกาส เตพละกุล ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจภาคบริการ โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและพลังงาน พร้อมคณะ

ทั้งนี้ ได้มีการพูดคุยสภาพปัญหาเศรษฐกิจ 2 ประเด็นสำคัญ คือ ผลกระทบจากภาวะวิกฤตโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่มีต่อการท่องเที่ยว และมาตรการการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว และ การดำเนินการตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs อย่างมีประสิทธิภาพ

นายจิรวัชร์ สิงห์ดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้รายงานสรุปภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดตรัง ว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดขึ้นทั่วโลก และปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดตรังไม่มากนัก โดยสังเกตได้จากจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่จังหวัดตรังจัดขึ้น ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานจัดหางานจังหวัดตรัง มีผู้ใช้แรงงานที่ขึ้นทะเบียนคนว่างงานประมาณ 300 คนเท่านั้น

ทั้งนี้ เศรษฐกิจส่วนใหญ่ของจังหวัดตรัง จะพึ่งพาจากภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากการเกษตรเป็นหลัก โดยพืชเศรษฐกิจสำคัญ คือ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้บางส่วน นอกจากนี้ ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมส่งออก เช่น โรงงานน้ำยาง โรงงานแปรรูปไม้ยางพารา โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โรงงานแปรรูปอาหารทะเล ที่สามารถรองรับแรงงานได้เป็นจำนวนมาก

ส่วนภาคการท่องเทียวของจังหวัดตรัง ถือว่ามีแหล่งท่องเที่ยวที่รายได้ให้แก่จังหวัดหลายแห่ง พร้อมทั้งสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะประสบกับปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น หรือมีราคาที่ไม่คงที่แน่นอน ซึ่งเป็นตัวที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวโดยตรง

นายแพทย์ สาธิต ไผ่ประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวว่า สำหรับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ตั้งแต่มีการระบาดเข้ามาในจังหวัดจนถึงวันที่ 11 กันยายน 2552 มีการรายงานผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 455 คน เป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากนอกพื้นที่ จำนวน 74 คน เป็นคนจังหวัดตรัง จำนวน 381 คน และมีผู้ป่วยเสียชีวิตเพียง 1 คนเท่านั้น

จากการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วนในจังหวัดตรัง ด้วยการรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว ทำให้สถิติการติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวแต่อย่างใด

นายบูรณศักดิ์ ฤกษ์สำรวจ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง กล่าวว่า จากการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทั่วโลกและทั่วประเทศไทยถือว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง เนื่องจากการระบาดไม่ได้เกิดขึ้นกับกลุ่มนักท่องเที่ยว แต่ยอดผู้ป่วยที่พบส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักเรียนและเยาวชน ซึ่งไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายภาคการท่องเที่ยว และเชื่อว่า ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง ที่กำลังจะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม หากจะได้รับผลกระทบก็น่าจะเกิดจากภาวะราคาน้ำมันที่ไม่คงตัว ซึ่งหากมีการปรับขึ้นราคาสูงจากนี้อีกนั้น จะส่งผลกระทบแต่นอน เนื่องจากราคาน้ำมันเมื่อมีการคำนวณระยะทาง จังหวัดตรังจะมีความเสียเปรียบกับอีกหลายจังหวัด เนื่องจากมีระยะทางที่ไกล ดังนั้น อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวได้

สำหรับการติดตามการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ทางตัวแทนธนาคาร SMEs แบงก์ จังหวัดตรัง รายงานว่า มาตรการต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการทางภาษี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งผลได้ไม่มากนัก เนื่องจากผลประกอบการในพื้นที่ไม่ได้เกิดขึ้นสูงมาก

นอกจากนี้ การกำหนดเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร โดยเฉพาะการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ยังมีความเข้มงวดมากเกินไป ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในยอดดังกล่าวได้ทั้งหมด

นางภรณี ลีนุตพงษ์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจภาคบริการ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับปัญหาทั้งหมดที่ได้รับฟัง และพบเห็นจากการลงพื้นที่ศึกษาดูงานสภาพจริงแล้วนั้น ทางคณะทำงานทั้งหมด จะเก็บเป็นข้อมูลเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะ ให้แก่รัฐบาลได้รับทราบเพื่อแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งการเลือกมาที่จังหวัดตรัง เห็นว่าเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และการบริหารงานทั่วไป เช่นเดียวกับเมืองท่องเที่ยวใหญ่อย่างภูเก็ต และเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
กำลังโหลดความคิดเห็น