สสว. เดินหน้าสร้างรูปธรรมส่งเสริม SMEs แข่งขันในตลาดอาเซียน ตามนโยบายรัฐบาล พร้อมผุดโครงการ E-market อัดความรู้ SMEs ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางค้าขายและขยายตลาด เบื้องต้นตั้งเป้าสามารถอบรมผู้ประกอบการผ่านโครงการฯ ได้ถึง 200 ราย
นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านทางอินเตอร์เน็ต หรือ E-commerce ในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุที่เป็นสถานที่สำหรับซื้อขายโดยตรงที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยครอบคลุมทั่วทุกมุมโลก และสามารถโต้ตอบได้โดยตรงกับลูกค้า ทำให้อินเตอร์เน็ตกลายเป็นแหล่งรายได้มหาศาล
ทั้งนี้ จากผลสำรวจพบว่า ประเทศไทยมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 4 ล้านคน หรือเฉลี่ย 7 เครื่องต่อประชากร 100 คน เท่ากับว่า ผู้ประกอบการ SMEs สามารถใช้คอมพิวเตอร์ในการติดต่อการค้าผ่านโลกไซเบอร์ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 สำหรับตลาดในประเทศ และหากพิจารณาถึงตลาดเป้าหมายอื่นๆ เช่น ประเทศจีน ที่มีการใช้คอมพิวเตอร์กว่า 60 ล้านเครื่อง อินเดีย อีกกว่า 30 ล้านเครื่อง สหรัฐอเมริกา อีกกว่า 50 ล้านเครื่อง นั่นสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดในโลกไซเบอร์เป็นช่องทางในการทำธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาในประเทศไทยมีผู้ทำเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซจำนวนมาก แต่ที่ประสบผลสำเร็จมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น เนื่องจากความไม่เข้าใจ และเป็นการทำตามกระแสโดยขาดองค์ความรู้ ตลอดจนขาดความตั้งใจในการทำงานอย่างต่อเนื่อง
ด้วยเหตุนี้ สสว. จึงได้จัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพธุรกิจด้วย E-market ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด และเพิ่มทักษะในการทำธุรกิจ E-market ให้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs
“โครงการเพิ่มศักยภาพธุรกิจด้วย E-market ถือเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ SMEs Flying Geese หรือ โครงการยุทธการฝูงห่าน ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 ของโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ สสว. สานต่ออย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งประกอบการด้วยโครงการใหญ่ทั้งสิ้น 4 โครงการ โดยแบ่งรูปแบบการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.การเตรียมความพร้อม ให้แก่ ผู้ประกอบการโดยการจัดทำแหล่งข้อมูล และเชื่อมโยงซัพพลายเชน 2.การดำเนินการฝึกอบรม ให้แก่ ผู้ประกอบการเพื่อเตรียมความพร้อมออกสู่ตลาดสากล โดยปัจจุบันโครงการต่างๆ ได้ดำเนินการมาแล้ว ประมาณ 1 เดือน” นายภักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพธุรกิจด้วย E-market จะแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ในการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายด้วย E-market place ระยะที่ 2 การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ในการพัฒนาต่อยอด E-market place ให้เป็น E-Commerce และระยะที่ 3 การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้มีการเชื่อมโยงระบบและเครือข่าย E-Commerce กับต่างประเทศ
ที่ผ่านมา สสว.ได้ดำเนินการฝึกอบรมผู้ประกอบการ SMEs ในโครงการเพิ่มศักยภาพธุรกิจด้วย E-market ไปแล้ว จำนวน 2 รุ่น มีผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมกว่า 40 ราย โดยผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมสามารถสร้างเว็บไซต์ของตนเองผ่านระบบ E-market Place บนเว็บไซต์ของ สสว. ที่เปรียบเสมือนโชว์รูมให้ผู้ประกอบการได้โชว์สินค้าและบริการของตน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
“ปัจจุบันเว็บไซต์ของ สสว. มียอดสมาชิกเข้าใช้งานกว่าหนึ่งแสนราย นั่นเท่ากับว่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการตลาดในการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ให้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs มากยิ่งขึ้น โดย สสว. ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะมีผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมจากโครงการนี้ จำนวน 200 ราย ขณะเดียวกัน สสว. ก็กำลังจัดทำแผนการพัฒนาร้านค้าออนไลน์ในรูปแบบภาษาอังกฤษ โดยจะร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการผลักดันผู้ประกอบการ SMEs สู่ตลาดเอเซียน อันจะส่งผลต่อการขยายตลาดใหม่ๆ ให้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs ต่อไปในอนาคต” นายภักดิ์ กล่าว