“เอสเอ็มอีแบงก์” โต้ ส.อ.ท. มั่วลูกค้าปิดกิจการเพราะไม่ได้รับสินเชื่อ ชี้ ส.อ.ท.ส่งมาให้เป็นรายหนี้เน่าเกือบทั้งหมด ผ่านรับรองแค่ 10 ราย ซึ่งแบงก์อนุมัติไปแล้ว 8 ราย ระบุที่ผ่านมาพยายามผ่อนปรนเกณฑ์เข้าถึงสินเชื่อให้มากแล้ว
นายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวว่า กรณีที่นายสมมาต ขุนเศษฐ รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า สมาชิกของ ส.อ.ท. ที่ยื่นขอกู้เงินจาก เอสเอ็มอีแบงก์ ได้รับการอนุมัติวงเงินกู้เพียง 140 ล้านบาทจากที่ยื่นขอกู้มาสูงถึง 4,000 ล้านบาท และเป็นสาเหตุให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทยอยปิดกิจการลง เพราะไม่มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างโดยปราศจากข้อเท็จจริง ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย ซึ่งสาเหตุที่มีผู้ประกอบการบางส่วนจำต้องปิดกิจการไปนั้น เป็นเรื่องของสภาพธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจก่อนที่จะมาขอสินเชื่อจากเอสเอ็มอีแบงก์ โดยผู้กู้ส่วนใหญ่ที่ ส.อ.ท. ส่งมาให้มีปัญหาหนี้กับธนาคารพาณิชย์และต้องการรีไฟแนนซ์มาอยู่กับเอสเอ็มอีแบงก์ แต่โดยสภาพกิจการแบกรับภาระหนี้ไม่ไหว ส.อ.ท. ทำหน้าที่รวบรวมรายชื่อมาให้ธนาคารเท่านั้น ส่วนที่มีการรับรองความน่าเชื่อถือจริงๆ มีแค่ 10 ราย เป็นวงเงิน 429 ล้านบาท ซึ่งธนาคารก็ได้อนุมัติไปแล้ว 8 ราย วงเงิน 140 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 121 ราย วงเงิน 3,505 ล้านบาท ทาง ส.อ.ท. ไม่มีการออกหนังสือรับรองและเมื่อธนาคารตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่าเป็นหนี้ NPL จากธนาคารพาณิชย์ที่ไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้เดิมได้ บางส่วนธุรกิจขาดความสามารถผ่อนชำระหนี้ หากรีไฟแนนซ์มาก็จะกลายเป็นหนี้ NPL กับ ธพว. ซึ่งธนาคารได้ชี้แจงให้ผู้ขอกู้ทราบโดยตรงทุกราย
“ส.อ.ท.ไม่ได้กลั่นกรองคุณสมบัติและความสามารถชำระหนี้อย่างที่ให้ข่าว เรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบประวัติการเงินซึ่งถือเป็นความลับส่วนตัวของผู้กู้ ส่วนประเด็นความสามารถชำระหนี้ก็ต้องมีการวิเคราะห์งบการเงินและประเมินธุรกิจ ซึ่งเป็นหน้าที่ของธนาคารที่ต้องลงไปดูเป็นรายๆ ไป อยากแนะนำให้ ส.อ.ท. ถ้าอยากทราบข้อเท็จจริงควรจะพูดคุยรายละเอียดกับสมาชิกที่ขอกู้ให้ชัดเจนก่อนว่าสาเหตุที่ไม่ผ่านการพิจารณาจากธนาคารติดขัดปัญหาเรื่องใด ซึ่งผู้ประกอบการจะทราบสถานะของตัวเองดี ทั้งนี้ โดยจรรยาบรรณแล้วธนาคารไม่สามารถนำข้อมูลความลับลูกค้าไปแจ้งให้กับผู้อื่นได้”
นายสุรชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เอสเอ็มอีแบงก์ผ่อนปรนให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการเต็มที่ ยกเว้นเรื่องคุณสมบัติผู้กู้ และความสามารถชำระหนี้จำเป็นต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ธนาคารทำงานเชิงรุกอย่างมาก โดยใน 8 เดือนแรกของปี 2552 ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วถึง 24,667 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 86.60% และในจำนวนนี้เป็นลูกค้าภาคอุตสาหกรรมการผลิตถึง 27% ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกในสภาอุตสาหกรรมและอื่นๆ