“เอสเอ็มอีแบงก์” เผยยอดปล่อยสินเชื่อ 7 เดือนแรก ทะลุ 2 หมื่นล้าน โตจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วเกือบ 70% แจงเหตุลูกค้าหนีแบงก์พาณิชย์มาใช้บริการ มั่นใจสิ้นปียอดตามเป้า ก.คลัง
นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เผยว่า ในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. – ก.ค. 52) เอสเอ็มอีแบงก์ได้อนุมติสินเชื่อไปแล้ว 20,115.50 ล้านบาท เทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว (2551) ซึ่งมียอดอนุมัติสินเชื่อ 11,856.16 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 69.67% สามารถช่วยรักษาการจ้างงานให้ธุรกิจเอสอ็มอีไทยรวมกว่า 50,947 คน และสร้างผู้ประกอบการรายใหม่เกือบ 1,000 ราย
สำหรับปัจจัยที่ทำให้มีการปล่อยสินเชื่อของเอสเอ็มอีแบงก์เพิ่มขึ้น เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ เข้มงวดปล่อยสินเชื่อ ผู้ประกอบการจึงหันมาใช้บริการของเอสเอ็มอีแบงก์ ประกอบกับที่รัฐบาลได้มอบหมายให้เอสเอ็มอีแบงก์ช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านหลายโครงการ เช่น โครงการสินเชื่อ smePOWER ชะลอการเลิกจ้างแรงงาน, สินเชื่อ smePOWER เพื่อธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงการออกแคมเปญเมนูกู้วิกฤต SMEs ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งทุกโครงการให้สิทธิพิเศษด้านอัตราดอกเบี้ยจูงใจและการผ่อนปรนเงื่อนไข จึงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการสนใจมาใช้บริการจากเอสเอ็มอีแบงก์มากขึ้น
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ธนาคารให้การสนับสนุนสินเชื่อสูงสุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจบริการ คิดเป็น 19% กลุ่มธุรกิจอาหาร 18% และกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว 16% เป็นต้น โดยขนาดวงเงินสินเชื่อที่ผู้ประกอบการขอสินเชื่อมากที่สุด คือ วงเงินระหว่าง 15-40 ล้านบาท คิดเป็น 32% รองลงมาวงเงิน 3 - 15 ล้านบาท คิดเป็น 29% และวงเงิน 40 – 75 ล้านบาท คิดเป็น 18 % ตามลำดับ ในขณะพื้นที่มีการขอสินเชื่อมากที่สุด ได้แก่ ภาคนครหลวง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ
ในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ เอสเอ็มอีแบงก์ได้รับเป้าหมายจากกระทรวงการคลัง เพิ่มการปล่อยสินเชื่อเข้าระบบจาก 26,000 ล้านบาท เป็น 43,500 ล้านบาท ซึ่งเอสเอ็มอีแบงก์ได้เพิ่มวงเงินปล่อยสินเชื่อได้สูงสุดรายละ 500 ล้านบาทแล้ว จึงคิดว่าน่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าที่ได้รับมอบหมาย