xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจประธานสหพัฒน์ จากเอสเอ็มอีสู่อาณาจักรแสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบุญยสิทธิ์  โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์
ปัจจุบันเครือสหพัฒน์ ภายใต้การบริหารงานของ “นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” มีบริษัทในเครือกว่า 300 บริษัท มีพนักงานในเครือกว่า 100,000 คน และมียอดขายรวมทุกบริษัทในเครือกว่า 1.67 แสนล้านบาท ต่อปี (พ.ศ.2551) และเป็นบริษัทคนไทยเชื้อสายจีน ที่ประสบความสำเร็จ และต้องแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ จากซีกโลกตะวันตก

บทเรียนการค้า และปรัญชาตะวันออก จากเครือสหพัฒน์ ไม่ใช่เรื่องล้าสมัย แม้ว่าจะเวลาจะผ่านมากว่า 67 ปี กลับเป็นเรื่องร่วมสมัย เนื่องจากธุรกิจไทยวันนี้ อยู่ท่ามกลางกระแสการค้าในยุคโลกไร้พรมแดน และการบริหารงานของ เครือสหพัฒน์ เสมือนเป็นกระจกบานใหญ่ ที่จะเปิดคำตอบให้ทุกคน โดยเฉพาะการเป็นตัวแทนของ เอสเอ็มอีเล็กๆ ท่ามกลางคู่แข่งยักษ์ใหญ่จากทั่วโลก นั้น ต้องทำอย่างไร

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ปาฐกถาพิเศษ ครั้งแรกในงานเปิดตัวมูลนิธิสัมมาชีพ ในหัวข้อ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา จากเอสเอ็มอี สู่อาณาจักรแสนล้าน” ว่า เครือสหพัฒน์ ในวันนี้ หลายคนมองจากข้างนอกว่า เป็นองค์กรที่ใหญ่มาก แต่ผมมองจากข้างในยังรู้สึกว่าเล็กมาก และที่ข้างนอกดูว่าใหญ่ เพราะเอาบริษัทหลายบริษัทในเครือ มาร่วมกัน แต่บริษัทหลายบริษัทในเครือเหล่านั้น ล้วนเป็นเอสเอ็มอี มาก่อน เช่น บริษัท ไอ ซี ซี เมื่อ 40 ปีก่อนที่ก่อตั้ง ทุนจดทะเบียนเพียง 1 แสนบาท และจ่ายจริงไม่ถึงแสนบาท บริษัทวาโก้ ไทย จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนกับประเทศญี่ปุ่น ทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท ผู้ถือญี่ปุ่นจ่าย 2 ล้าน บริษัท ไลอ้อน จำกัด จัดจำหน่ายผงซักฟอก ทุนจดทะเบียน 2 แสนดอลล่าร์สหรัฐ ( 1 ดอลล่าร์ 25 บาท ในตอนนั้น ) เป็นต้น

เอสเอ็มอี ต้องเริ่มจากเล็กแล้วค่อยโต รู้จักวิธีหมุนเงิน
“ ในสมัยก่อนมีสำนักงานส่งเสริมการลงทุน BOI แต่ก็ไม่เคยใช้ เพราะบริษัทในเครือของสหพัฒน์เป็นบริษัทเล็ก จึงกล่าวได้ว่า เรามาจากเอสเอ็มอีจริงๆ ทำให้เข้าใจเอสเอ็มอีมาก ผมมองว่าเอสเอ็มอีเมืองไทยต้องรู้จักทำเล็กก่อน จะเติบโตแล้วค่อยๆทำใหญ่ขึ้น เราจะไปเอาอย่างต่างชาติไม่ได้ เพราะมีพื้นฐาน บางรายอยู่ในอุตสาหกรรมทำมานานกว่า 60 ปี ถึง 100 ปี ทำให้เขาทำใหญ่โตได้ เอสเอ็มอีเมืองไทยขาดบุคลากร ไม่มีเทคนิค ไม่มีความรู้ โอกาสที่จะผิดพลาดมีมาก ต้องทดลองทำเล็กก่อน และสำเร็จแล้วค่อยขยายใหญ่”

สำหรับหัวใจสำคัญของการบริหารงานที่เอสเอ็มอี สามารถนำไปใช้ได้ คือ การหมุนเงินให้เป็น ต้องยอมรับว่า สมัยก่อนทำธุรกิจยากกว่าในปัจจุบัน ไม่มีสถาบันการเงินรองรับ และตลาดเมืองไทยก็ไม่ใหญ่มาก ต้องรู้จักเทคนิคในการหมุนเงิน ไม่แนะนำให้กู้เงินจากต่างประเทศ เพราะเจอปัญหาเรื่องค่าเงินที่ผันผวน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดีที่สุด คือ มีเยอะทำเยอะ มีน้อยทำน้อย จะดีกว่า

ที่ผ่านมามีการกู้เงินจากสถาบันการเงินมาทำธุรกิจ เพื่อมาปล่อยบัญชีให้กับลูกค้า บางครั้งต้องยืดเวลาให้กับลูกค้าบ้าง แต่คนไทยด้วยกันคุ๋ยกันได้ ไม่มีปัญหา ซึ่งการกู้เงิน หรือการเจรจาการค้า จะต้องยึดหลัก ซื่อสัตย์ สุจริต และสิ่งเหล่านี้ ผมได้รับเอานิสงส์มาจากรุ่นคุณปู่ ส่งผลให้เครือสหพัฒน์ ประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ และเป็นสิ่งที่เงินก็ไม่สามารถซื้อได้

ยึดหลักปรัชญา...... เร็ว ช้า หนัก เบา
“นโยบายของผมไม่มีความลับ แนวคิดในการทำงานไม่ได้มีต้นแบบมาจากชาติใด ประเทศไหนมีอะไรดีก็นำมาปรับใช้ทั้งหมด รู้จักวิเคราะห์เหตุการณ์ เวลาที่เหมาะสม หรือเปล่า การทำงานของเรารู้จัก เร็ว ช้า หนัก เบา บังเอิญผมไม่ได้เรียนหนังสือ จึงพยายามหาวิธีการทำธุรกิจแบบไม่อาศัยหนังสือ แต่อาศัยเรียนรู้จากสิ่งที่อยู่รอบตัว หรือดูคนอื่นทำ และไปลอกเลียนแบบเขามาบ้าง หรือ การเข้าไปร่วมทุน บริษัทในเครือหลายบริษัทเกิดขึ้นจากการร่วมทุน”

เครือสหพัฒน์เป็นกลุ่มแรกที่กระโดดออกไปสร้างนิคมอุตสาหกรรมของตัวเอง ในชื่อ สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ เป็นการเข้าไปลงทุนในปี 2517 ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไทยถดถอย จากความไม่มั่นคงทางการเมืองในยุค 14 ตุลา และ วิกฤตน้ำมันครั้งที่ 1 ที่กระทบทั่วโลก การเข้าซื่อที่ดินในยุคนั้นจึงถูกแสนถูก เมื่อจังหวะมาถึงต้องเร็ว หรือ กรณีการใช้ตลาดหลักทรัพย์เป็นประโยชน์ในการระดมทุน ก็เป็นอีกกลยุทธ์ที่คุ้มค่าและรวดเร็ว และเป็นทุนที่ทำให้สหพัฒน์ขยายกิจการอย่างรวดเร็ว

ธุรกิจเหมือนขับเครื่องบิน
ขึ้น-ลงไม่ได้ถ้าไม่ถึงจุดหมาย

เปรียบการทำธุรกิจเหมือนการเล่นหมากรุก ที่สอนให้คนรู้จักแพ้ รู้จักชนะ แพ้คือ ชนะ ชนะคือแพ้ ชีวิตเหมือนหมากรุก เล่นจบเมื่อไหร่ถึงจะมาคำนวนว่าแพ้หรือ ชนะ การทำธุรกิจก็เหมือนกัน ถ้าวันนี้ ยังต้องทำอยู่ ยังต้องพยุงธุรกิจต่อไป ก็ยังวัดไม่ได้ว่าแพ้หรือชนะ

“สิ่งที่ ผมชอบอีกอย่างหนึ่ง คือการขับเครื่องบิน การขับเครื่องบินไม่ใช่แค่สนุกสนานเท่านั้น แต่การขับเครื่องบินสอนเราหลายอย่าง ที่นำมาปรับใช้กับธุรกิจได้ เช่น เวลาขับเครื่องบินทุกอย่างต้องจดจ่อกับสิ่งนั้น และมุ่งเป้าไปสู่จุดมุ่งหมายเพียงอย่างเดียว จะขึ้นและลงระหว่างทางไม่ได้จนกว่าจะถึงเป้าหมาย เช่นเดียวกับธุรกิจเมื่อทำไปแล้วก็ต้องไปให้ถึงจุดมุ่งหมาย และการขับเครื่องบินจะ ต้องเช็คความพร้อมทุกอย่างเพื่อป้องกันความผิดพลาด ถ้าพลาดก็หมายถึงชีวิต การทำธุรกิจก็เช่น กันต้องเช็คทุกอย่าง ไม่สามารถละเลยได้”

เก็บความล้มเหลว เป็นทุนความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจทุกอย่างก็ต้องมีความผิดพลาด สหพัฒน์เองมีบริษัทที่เกิดมาและต้องเลิกกิจการไปก็หลายบริษัท แต่ความผิดพลาดทุกอย่างต้องนำมาแชร์ให้กันและกัน เพื่อจะได้เรียนรู้ความผิดพลาดของคนอื่นๆ นำมาเป็นตัวอย่าง จะได้ไม่ผิดพลาดซ้ำอีก เรียกว่า เก็บความล้มเหลวมาเป็นต้นทุนของความสำเร็จ

ทั้งนี้ เครือสหพัฒน์ ของเราต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งไม่เคยปลดพนักงาน เพราะมองว่าทรัพยากรที่สำคัญและมีค่าที่สุดของเรา คือ บุคคลากร เมื่อเกิดวิกฤต ทุกคนต้องมาช่วยกันแก้ไข อาจจะมีแบ่งปันเงินเดือน 10% -20% มาช่วยเหลือบริษัท เพื่อพยุงกิจการให้ฝ่าฝันอุปสรรคไปได้

โตแล้วแตก และแตกแล้วโต
เมื่อ “เล็ก” ก็ต้อง “ลึก” และ “กว้าง”
“เล็ก” คือ ความไม่เสี่ยง เริ่มเล็กเสี่ยงน้อยปลอดภัย และมั่นคง “ลึก” คือ การเข้าให้ถึงแก่นแท้ของธุรกิจนั้นๆ ทั้งด้านการผลิต การขาย และการตลาด สหพัฒน์ มีรูปแบบองค์กรอย่างครบวงจร ประกอบด้วย 1. เป็นผู้ลงทุน ทั้งด้านการผลิตที่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ 2. ผลิตและจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศที่มีชื่อเสียง

และ 3.ทำการตลาด ผ่านบริษัทที่สั่งสมโนว์-ฮาว ในด้านช่องทางจัดจำหน่าย โดยเฉพาะตลาดในประเทศที่เข้มแข็ง อย่างบริษัทสหพัฒนพิบูล และไอ.ซี.ซี.และอีกหลายบริษัท 4.ขยายสู่ธุรกิจบริการในรูปแบบต่างๆ ที่มีโอกาส เช่น ร้านตัดผม- แต่งหน้า โบว์ลิ่ง คาราโอเกะ โรงเรียน ฯลฯ 5.สร้างช่องทางจัดจำหน่ายของตนเอง เช่น ร้าน 108 ช็อป , ทีวีไดเร็กต์ ฯลฯ

“กว้าง” คือ จุดพลิกผันที่ทำให้ “เล็ก” ได้เปรียบ “ยักษ์” เครือสหพัฒน์ เป็นกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีชนิดและประเภทสินค้ามากที่สุดในประเทศไทย แต่สินค้าหลายตัวของสหพัฒน์ เช่น ผงซักฟอกเปา และ ยาสีฟันซอลล์ และซิสเทมมา ยอดขายรวมไม่ได้เป็นที่หนึ่ง ในตลาด แต่ในส่วนของคู่แข่งอย่าง คอลเกตฯ และ ลีเวอร์ฯ ไม่มีเสื้อผ้า เครื่องสำอาง เหมือนที่สหพัฒน์มี เมื่อคู่แข่งรุกหนัก สหพัฒน์ก็ถอย เพราะยังมีสินค้าอื่นๆ หล่อเลี้ยงเครืออยู่ ครั้นเมื่อคู่แข่งหยุด สหพัฒน์ก็รุก นี่จึงเป็นความยืดหยุ่นที่ทำให้เล็กได้เปรียบยักษ์

เมื่อเกิดวิกฤต บริษัทที่มีสินค้าในไลน์เดียว ย่อมได้รับผลกระทบจากภาวะยอดขาย แต่สำหรับสหพัฒน์ ยอดขายสินค้าตัวนี้ตก ก็ยังมีอีก 300 บริษัทคอยฉุด เพียงแต่ละบริษัทยอดขายโต 1% เมื่อรวมทั้งเครือ ก็เป็นจำนวนมหาศาล

“เล็ก” ก็สามารถชนะ “ยักษ์” ได้ ในสงคราม เครือสหพัฒน์ คือผู้ชนะ แม้ในบางสนามรบจะแพ้ก็ตาม และนี่คือคำว่าเป็นหนึ่งในโลกการค้า ที่เอสเอ็มอี ไทยสามารถนำมาเป็นข้อคิด หรือลอกเลียนแบบได้ โดยที่เจ้าของไม่ขอสงวนลิขสิทธิ์ แต่อย่างใด

กำลังโหลดความคิดเห็น