xs
xsm
sm
md
lg

จับเข่าหัวเรือใหม่ SME bank ภารกิจกู้วิกฤตเอสเอ็มอีบนเก้าอี้ร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชื่อ “โสฬส สาครวิศว” เริ่มเป็นที่คุ้นหูของคนทั่วไปมากยิ่งขึ้น หลังได้รับคัดเลือกนั่งแท่นหัวเรือใหญ่คนใหม่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี่เอง

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาสำคัญเวลานี้ของเอสเอ็มอีไทย คือ เข้าถึงแหล่งทุนยากมาก ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐเพื่อผู้ประกอบการไทย เอสเอ็มอีแบงก์จำเป็นต้องหัวหอกที่จะสนับสนุนสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้รอดจากวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านธนาคารแห่งนี้ ยังถูกตั้งข้อสงสัยทั้งความโปร่งใสในโครงการต่างๆ รวมถึง ประสิทธิภาพการทำงาน โยงไปถึงถูกใช้เป็นเครื่องมือของคนการเมือง ดังนั้น เมื่อมารับตำแหน่งใหม่ยามนี้ ภารกิจจึงเปรียบเหมือนรับเผือกร้อน ท้าท้ายกรรมการผู้จัดการคนใหม่ ให้ต้องพิสูจน์ว่า ธนาคารแห่งนี้ ยังสามารถเป็นความหวังแก่เอสเอ็มอีไทยอย่างแท้จริงได้หรือไม่

โสฬส  สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
- คุณโสฬส คิดว่าเหตุใด จึงได้รับเลือกเป็นเอ็มดีของเอสเอ็มอีแบงก์

สิ่งแรกผมเป็นผู้สมัครคนเดียวที่ผ่านประสบการณ์งานธนาคารพาณิชย์มากว่า 30 ปี ทั้งด้านบริหารเงิน และสินเชื่อ และนโยบายผลักดันสินเชื่อของผม จะกอบกู้เศรษฐกิจ และทำให้เอสเอ็มอีแบงก์ เป็นธนาคารเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีอย่างจริงจัง

- นโยบายที่กล่าวมา ก็ไม่ได้แตกต่างจากเอ็มดีคนก่อนๆ เลย

แต่ครั้งนี้ จะทำให้เป็นรูปธรรมจริงๆ คือ ปีนี้ (2552) เราใช้นโยบายพัฒนาควบคู่กับการให้เงินทุน ในอดีตที่ผ่านมา ผู้ประกอบการที่มาขอเงินสินเชื่อ ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ เราก็ปฏิเสธไป เขาก็ต้องกลับปรับแผน สักพักกลับมากู้ใหม่ ก็ถูกปฏิเสธอีก เพราะฉะนั้นเขาจึงว้าเหว่ ไม่รู้ว่า เพราะอะไรถึงไม่ได้เงินกู้ เพราะฉะนั้น ลูกค้ารายใดที่ถูกปฏิเสธมากๆ ก็จะรู้สึกว่า ตัวเองไม่มีเส้นหรือไง ถึงกู้เอสเอ็มอีแบงก์ไม่ได้ แต่ปัจจุบัน ถ้าลูกค้าเดินมาขอกู้ ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ เราก็จะส่งเข้าโครงการพัฒนาผู้ประกอบการเลย วิธีนี้เราไม่ปฏิเสธลูกค้า โดยให้ทีมงานเข้าไปช่วยดู ก็จะช่วยลูกค้า บางรายอาจใช้เวลาพัฒนา 1 เดือน 2 เดือน หรือ 3 เดือนก็ตามแต่ เมื่อพัฒนาเสร็จ ให้เขามาขอกู้ใหม่ ก็จะกู้ได้ ตรงนี้ จะทำให้เราได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น อีกทั้ง ช่วยให้ลูกค้าพัฒนาระยะยาว เพราะลูกค้าจะได้รู้จุดเด่นจุดด้อยของตัวเอง มันจะทำให้เขาสามารถพัฒนาตัวเองได้ในระยะยาว

- ส่วนหนึ่งที่ผู้ประกอบการไม่อยากหาเอสเอ็มอีแบงก์ เพราะเงื่อนไขยุ่งยาก และดอกเบี้ยสูงกว่าแบงก์พาณิชย์

ในความเป็นจริง ทุกวันนี้ ของเราก็ไม่ได้สูงกว่าแบงก์พาณิชย์ เพราะ MLR ของเรา ก็เท่ากับ MRR ของแบงก์พาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่แบงก์พาณิชย์ก็จะปล่อยกู้ลูกค้าเอสเอ็มอีก็จะใช้ MRR

ส่วนเงื่อนไขต่างๆ เราพยายามปรับไปพร้อมๆ กัน 1. ปรับธุรกิจ ตอนนี้ขอบเขตกระบวนการภายใน เราพยายามพัฒนาระบบให้เหมือนธนาคารพาณิชย์ 2.จัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ ให้หมวดธุรกิจในแต่ละคนอยู่ในสายเดียวกัน และมีคนดูแลในสายงานนั้นๆ ไม่ไขว้กัน เพราะที่ผ่านมา มันไขว้กัน และ 3. กระตุ้นการทำงาน โดยขยายขอบเขตการทำงานให้พนักงาน สามารถตัดสินใจ และมีอำนาจในหน้าที่มากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมา เราทำงานในเชิงรับ รอลูกค้าเดินมาหา แต่ปีนี้ เราให้เจ้าหน้าที่วิ่งหาลูกค้า ถ้าใครทำได้เราก็จะมีรางวัลให้ตามความเหมาะสม

- ที่ผ่านมา คนทั่วไปจะรู้สึกว่า การทำงานของเอสเอ็มอีแบงก์ผูกติดกับการเมืองค่อนข้างสูง

ผมพูดในความเป็นจริง ยอมรับว่า สำหรับรัฐบาลชุดนี้ดี (หยุดคิดชั่วขณะ) ไม่มีปัญหาเรื่องการแทรกแซง ทุกอย่างทำตามเกณฑ์

- ยืนยันว่า ลูกค้าฝากจากนักการเมืองไม่สามารถกู้เงินเอสเอ็มอีแบงก์ได้

ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ ก็ไม่สามารถกู้ได้
“ผมอยากให้แยกจากกันว่า เอสเอ็มอีแบงก์ คือ สถาบัน อย่างไรเสีย  มันก็ต้องอยู่ต่อไป ทำหน้าที่ช่วยผู้ประกอบการต่อไป  แต่เรื่องของบุคคล ก็เป็นเรื่องของบุคคล ความไม่ชอบมาพากลต่างๆ เป็นเรื่องของบุคคลที่ต้องแก้ไขไป  ซึ่งบุคคลเหล่านี้ ผมเชื่อว่า ปัจจุบันไม่มีใครอยู่แล้ว”
- ปัญหาทุจริตต่างๆ ที่ผ่านมา จะแก้อย่างไร

เราก็แก้ไปค่อนข้างเยอะ และโดยพื้นฐานของพนักงานที่นี่ซื่อสัตย์ แต่ที่ผ่านมา มันจะมีคำสั่งนอกเหนือออกไป เพราะฉะนั้น นโยบายจากนี้ ต้องโปร่งใส ส่วนปัญหาที่แล้วๆ มา ก็ต้องพยายามแก้กันไป คิดว่า คงไม่ยากเกินไป ถ้าอะไรพอจะบรรเทาปัญหาได้ ก็บรรเทาไป

ถึงแม้ที่ผ่านมา เบื้องหลังมันจะมีปัญหาต่างๆ แต่ผมอยากให้แยกจากกันว่า เอสเอ็มอีแบงก์ คือ สถาบัน อย่างไรเสีย มันก็ต้องอยู่ต่อไป ทำหน้าที่ช่วยผู้ประกอบการต่อไป แต่เรื่องของบุคคล ก็เป็นเรื่องของบุคคล ความไม่ชอบมาพากลต่างๆ เป็นเรื่องของบุคคลที่ต้องแก้ไขไป ซึ่งบุคคลเหล่านี้ ผมเชื่อว่า ปัจจุบันไม่มีใครอยู่แล้ว

- แล้วจะมั่นใจในตัวคุณโสฬสได้อย่างไรว่า ไม่ได้มาด้วยอำนาจการเมืองหนุน

ผมเข้ามาโดยไม่ได้อยู่สายใคร และผ่านกระบวนการคัดเลือกโดยถูกต้อง สุดท้ายให้ผลงานเป็นตัวพิสูจน์

- เป้าในการปล่อยสินเชื่อ และแก้ปัญหา NPL วางไว้อย่างไร

ในปีนี้ ตั้งเป้าให้ปล่อยกู้สินเชื่อได้กว่า 26,000 ล้านบาท ซึ่งยอด 3 เดือนนับจากต้นปี ปล่อยไปแล้ว ประมาณ 3 พันล้าน โดยแผนการตลาด เน้นเชิงรุกวิ่งเข้าหาลูกค้า และวงเงินปล่อยกู้ได้ถึง 200 ล้านบาทต่อราย ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามเป้า คาดว่าปีนี้จะมีกำไรบ้าง ประมาณ 100-300 ล้านบาท

ส่วน NPL ปัจจุบัน ประมาณ 48% มูลค่า 20,000 ล้านบาท ตั้งเป้าสิ้นปีนี้ ลดเหลือ 15,000 ล้านบาท โดยแผนแก้ไข ทั้งเปลี่ยน NPL เป็น NPA รวมถึงพยายามประนอมหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ในรายลูกค้าที่พอจะใช้ได้ และแนวทางสุดท้าย ซึ่งเราไม่อยากทำ คือ ขายทอดตลาด

- แนวโน้ม NPL ของเอสเอ็มอีแบงก์ ในปีนี้ จะเป็นอย่างไร

ผมเชื่อว่ามีน้อยมาก เนื่องจากในปี 50-51 ที่ผ่านมา ช่วงเศรษฐกิจยังขยายตัว เราไม่ได้ปล่อยมาก แต่เรามาเร่งปล่อยในช่วงเศรษฐกิจตก ถ้าลูกค้าผ่านช่วงวิกฤตตรงนี้ไปได้ เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ก็จะไม่มี NPL เพราะลูกค้าจะมีอำนาจในการชำระหนี้มากขึ้น

แต่สำหรับสถาบันการเงินอื่นๆ โดยรวม เชื่อว่า NPL จะเพิ่มขึ้น เพราะช่วงที่ผ่านมา เร่งปล่อยเยอะ พออำนาจซื้อน้อยลง ความสามารถในการชำระหนี้ก็ลดตามไปด้วย ซึ่งก็เป็นโอกาสให้ลูกค้าเหล่านี้ ไหลมาสู่เรามากขึ้น

- เอสเอ็มอีแบงก์ยังเป็นความหวังให้ชาวเอสเอ็มอีได้หรือไม่

ผมอยากให้ลูกค้าที่เจอปัญหา เดินเข้ามาหาเอสเอ็มอีแบงก์ ไม่อยากให้โทรศัพท์เข้ามา เพราะจะได้มีเวลาในการคุยกันได้นาน และละเอียด อีกทั้ง อารมณ์ความรู้สึก กับการคุยต่อหน้ากับคุยโทรศัพท์มันผิดกัน ได้รู้ปัญหาจริงๆ ถ้ากรณีปัญหามันหนักหนาจริงๆ เราก็จะส่งเข้าโครงการพัฒนาฯ ผู้ประกอบการจะได้เห็นว่า เขายังมีเพื่อน ไม่รู้สึกว้าเหว่ และที่สำคัญ เขาจะได้เห็นถึงความจริงใจของเอสเอ็มอีแบงก์ มากกว่าแค่รู้จากข่าวที่ผ่านๆ มา
กำลังโหลดความคิดเห็น