xs
xsm
sm
md
lg

อ่าน 3 ประสบการณ์ “นีโอสุกี้” ก่อนบุก จีน – ญี่ปุ่น – เวียดนาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศร้านนีโอสุกี้
ต้องยอมรับว่า ความยากของการทำธุรกิจในต่างประเทศ คือ ต้องศึกษากฎระเบียบข้อกฎหมายการลงทุนในประเทศนั้นๆ ให้เข้าใจ ซึ่งในแต่ละประเทศก็ย่อมมีกฎกติกาที่แตกต่างกันไป

ปัจจัยเหล่านี้นี่เองที่ทำให้นักลงทุนจำนวนไม่น้อยต้องพบกับความผิดหวังจากการไปขุดทองในต่างแดน ไม่เว้นแม้แต่การลงทุนเปิดร้านอาหารไทยในต่างแดน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่คนไทยให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้กับนักลงทุนหน้าใหม่ ที่สนใจจะไปลงทุนเปิดร้านอาหารไทยในต่างแดน
สกนธ์ กัปปิยจรรยา
จึงขอนำเสนอประสบการณ์ในการเปิดร้านอาหารไทยในภูมิภาคเอเชียของ “สกนธ์ กัปปิยจรรยา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีโอ สุกี้ ไทย เรสเตอร์รองส์ จำกัด เจ้าของธุรกิจสุกี้ที่เปิดให้บริการในรูปแบบของแฟรนไชส์ร้านนีโอสุกี้ ซึ่งได้ขยายสาขาไปในต่างประเทศมากว่า 7 ปีแล้ว

ปัจจุบันนีโอสุกี้มีสาขาอยู่ในต่างประเทศ 3 สาขา คือ ที่กรุงจาร์กาต้า ประเทศอินโดนีเซีย, กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมาเพิ่งเปิดสาขาที่นครโฮจิมินห์ ระเทศเวียดนาม ซึ่งทั้ง 3 แห่งเป็นการขายสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์

จริงๆแล้วก่อนหน้านี้นีโอสุกี้เคยมีสาขาอยู่ที่เมืองนาโฮยาม่า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นลักษณะการร่วมทุนกับนักธุรกิจญี่ปุ่น

และดูเหมือนว่าสาขานี้น่าจะไปได้ดี เพราะแม้คนญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าตำรับสุกี้ แต่ด้วยจุดเด่นของสุกี้ไทยที่มีความหลากหลายทั้งในเรื่องของน้ำจิ้มและประเภทอาหารให้เลือก ซึ่งถือเป็นรูปแบบที่แปลกใหม่สำหรับคนญี่ปุ่น ก็ทำให้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดญี่ปุ่น

แต่เมื่อต้นปี 2551 ที่ผ่านมาหลังรัฐบาลญี่ปุ่นออกกฎหมายห้ามขับรถขณะมึนเมา หากฝ่าฝืนจะมีโทษรุนแรงถึงขั้นยึดใบขับขี่ ทำให้คนญี่ปุ่นออกมารับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง จึงส่งผลกระทบต่อยอดขายที่ร้านลดลงอย่างมาก

ในที่สุดสกนธ์ก็ต้องตัดสินใจถอนหุ้นออกมา

“พฤติกรรมของคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่หลังจากเลิกงานก็มักจะสังสรรค์ ดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ แล้วทานอาหารนอกบ้านกัน

ฉะนั้นเมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ ก็ทำให้คนญี่ปุ่นออกมารับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง บรรดาร้านอาหารจึงได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า และรวมถึงร้านนีโอสุกี้ที่ยอดขายลดลงเกินครึ่ง เราจึงตัดสินใจถอนตัวออกมา” สกนธ์ กล่าว

นี่เป็นอีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการลงทุนทำธุรกิจในต่างประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นผลมาจากข้อกฎหมายของประเทศนั้นๆ

และเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนในตลาดต่างประเทศ ที่ผ่านมาสกนธ์จึงเดินเกมธุรกิจโดยเน้นใช้รูปแบบของการขายแฟรนไชส์ในการขยายสาขาร้านนีโอสุกี้เป็นหลัก

“เราปรับนโยบายไม่ไปลงทุนเปิดร้านอาหารเองในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากมองว่าตัวเราเองไม่มีความชำนาญในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษาในท้องถิ่น วัฒนธรรม กฎระเบียบและข้อกฎหมายต่างๆ

ประกอบกับเคยมีประสบการณ์ไปลงทุนที่ประเทศจีนแล้วไม่ประสบความสำเร็จ

ปัญหาที่เจอในตอนนั้น คือ เราไม่รู้กฎหมายของการประกอบกิจการในประเทศจีนดีเท่าที่ควร ซึ่งจะมีข้อปลีกย่อยเยอะมาก ทั้งในเรื่องการขอใบอนุญาตแรงงาน การขอใบอนุญาตการประกอบร้านอาหาร และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากสำหรับคนที่ไม่รู้เรื่องกฎหมายที่อยู่ๆ แล้วไปลงทุน”


สกนธ์ ย้อนเล่าถึงประสบการณ์การลงทุนเปิดร้านนีโอสุกี้ในประเทศจีน พร้อมทั้งขยายความเพิ่มเติมว่า

“อาหารไทยสำหรับคนจีนไม่ใช่อาหารที่กินกันได้ทุกวัน แล้วอาหารไทยบางอย่างก็เลียนแบบมาจากอาหารจีน ฉะนั้นรสชาติอาหารจะใกล้เคียงกัน ไม่มีอะไรที่แตกต่างกันมากนัก ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ

ดังนั้นการลงทุนเปิดร้านอาหารในประเทศจีนจึงต้องอาศัยการจับกลุ่มนักท่องเที่ยวหรือนักลงทุนที่เป็นชาวต่างชาติจึงจะอยู่ได้ และจำเป็นต้องใช้เงินทุนสูงมาก เพราะต้องตกแต่งร้านให้ดูอลังการ เพื่อการเอ็นเตอร์เทนลูกค้า จะเปิดเป็นร้านเล็กๆ 200 ตารางวาไม่ได้

เงินลงทุนขั้นต้นจึงสูงมากจะอยู่ที่ 200 ล้านบาท”

จากประสบการณ์ความล้มเหลวจากการลงทุนในตลาดญี่ปุ่นและจีนนี่เองที่เป็นบทเรียนให้สกนธ์นำมาปรับใช้ในการลงทุนครั้งใหม่ ซึ่งในปี 2552 นี้ เขาบอกว่า จะเปิดสาขาเพิ่มที่เวียดนามอีก 1 สาขา หลังจากสาขาแรกได้รับการตอบรับที่ดีจากคนเวียดนาม

“ลูกค้าที่เวียดนามจะมีทั้งคนเวียดนามที่รู้จักสุกี้อยู่แล้วและนักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปลงทุนอยู่ที่นั่น เช่น คนญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน ซึ่งเราเปิดอยู่ในห้างบิ๊กซี ที่ชานเมืองโฮจิมินห์ใกล้กับแหล่งอุตสาหกรรม

ส่วนที่จะเปิดเพิ่มคิดว่าน่าจะเปิดได้ประมาณกลางปีนี้ เพราะต้องดูเรื่องโลเคชั่น การก่อสร้างร้าน และการขอใบอนุญาตด้วย”


สกนธ์ตั้งข้อสังเกตว่า จากสภาวะเศรษฐกิจที่เวียดนามในตอนนี้ การเมืองในประเทศเขานิ่ง แม้จะได้รับผลกระทบเรื่องเศรษฐกิจบ้าง แต่อัตราการเจริญเติบโต และอัตราการใช้สอยของคนเวียดนามยังใช้ได้ คือ การใช้จ่าย การไปทานข้าวนอกบ้านยังปกติอยู่ ซึ่งไม่เหมือนเมืองไทยที่ตอนนี้ค่อนข้างระมัดระวัง

ด้วยเหตุนี้เอง สกนธ์จึงบอกว่าการลงทุนเปิดร้านอาหารไทย หรือร้านสุกี้ในประเทศเวียดนามยังไปได้

ประกอบกับพฤติกรรมของคนเวียดนามจะชอบกินหม้อร้อน กินคล้ายคลึงกับคนไทย ซึ่งตอนนี้กำลังซื้อของคนเวียดนามมีเพิ่มขึ้น

ในขณะเดียวกันรัฐบาลเวียดนามเองก็ให้การส่งเสริมนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักลงทุนเกาหลีและไต้หวันที่เข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก จึงถือว่าเป็นตลาดที่ยังโตได้อีกมาก

อย่างไรก็ตาม สกนธ์เตือนคนที่สนใจจะไปลงทุนในตลาดต่างประเทศว่า สิ่งที่ต้องระวัง คือ การละเมิดลิขสิทธิ์ ฉะนั้นการจดลิขสิทธิ์แบรนด์จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศเวียดนาม

“การลอกเลียนแบบในประเทศเวียดนามมีเยอะมาก ที่ผ่านมามีสินค้าไทยหลายอย่างที่โดนลอกเลียนแบบไปแล้ว อาทิเช่น ดัชมิลล์ กลายเป็นดัชเกิลล์, กระทิงแดง เป็นกระทิงเดี่ยว หรือสิงห์คู่ เป็นต้น

ฉะนั้นถ้าเป็นสินค้าที่ติดตลาด แล้วจะเข้าไปทำตลาดที่เวียดนาม การจดลิขสิทธิ์แบรนด์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก”

ส่วนอีกเรื่องที่ต้องระวัง คือ ข้อสัญญาในการเช่าพื้นที่ เพราะบางครั้งถ้าคุณทำร้านไปสักพักแล้วมีรายได้ดี เจ้าของพื้นที่อาจจะเรียกคืนสัญญา แล้วมาทำเอง หรือเรียกเก็บค่าเช่าเพิ่มขึ้นก็เป็นได้

ตรงนี้คือข้อควรระวังในการเช่าพื้นที่ทำธุรกิจในประเทศเวียดนาม

และเนื่องจากค่าเช่าพื้นที่ในประเทศเวียดนามมีราคาสูงกว่าเมืองไทยประมาณ 2-3 เท่าตัว ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเช่าตึกแถวที่อยู่ย่านสีลมห้องละประมาณ 80,000 บาทต่อเดือน แต่ที่เวียดนามจะอยู่ที่ 250,000 บาท

ฉะนั้นจึงควรมีเงินลงทุนที่จะใช้ในการเปิดร้านอาหารในเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 3-4 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งถือว่าสูงมาก

และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้สกนธ์เลือกที่จะขายแฟรนไชส์ให้คนท้องถิ่นไปลงทุนเอง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องของเงินลงทุน ซึ่งแฟรนไชส์นีโอสุกี้จะมีค่าลงทุนแรกเข้าอยู่ที่ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อสัญญา 5 ปี มีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 3 ปี

จากประสบการณ์ในการทำธุรกิจในต่างประเทศ สกนธ์ สรุปบทเรียนว่า 1.ต้องศึกษากฎระเบียบข้อกฎหมาย วัฒนธรรม และพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศนั้นๆให้เข้าใจ ซึ่งแต่ละประเทศก็จะแตกต่างกัน ฉะนั้นการมีผู้ร่วมทุนเป็นคนในท้องถิ่นนั้นๆ ก็จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้

และ 2.ต้องระวังเรื่องแบรนด์ เพราะหากไม่มีการจดลิทธิ์แบรนด์เอาไว้ ก็อาจเกิดปัญหาการลอกเลียนแบบก็เป็นได้

สุดท้าย สกนธ์ แนะนำผู้ที่จะไปเริ่มต้นทำธุรกิจในต่างประเทศว่า “ควรไปติดต่อที่กรมส่งเสริมการส่งออก เพราะทางกรมจะจัดกิจกรรมจับคู่นักธุรกิจไทยกับนักธุรกิจต่างชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นช่องทางให้นักธุรกิจไทยสามารถไปลงทุนในตลาดต่างประเทศได้

การไปร่วมกับกรมนั้น มีข้อดีตรงที่จะมีเจ้าหน้าที่ของกรมคอยแนะนำและช่วยกลั่นกรองผู้ที่สนใจจะมาร่วมลงทุนให้เราก่อนในเบื้องต้น ก็เป็นการช่วยป้องกันความเสี่ยงของธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง”

กล่าวได้ว่า จากประสบการณ์ในการเปิดร้านนีโอสุกี้ของ “สกนธ์ กัปปิยจรรยา” ในตลาดต่างประเทศมา กว่า 7 ปี น่าจะเป็นหลักคิดให้กับผู้ที่สนใจจะไปลงทุนธุรกิจในต่างประเทศได้เตรียมความพร้อมกันมากขึ้น ก่อนตัดสินใจไปลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่ง


****ข้อมูลจากนิตยสาร SMEs Today ฉบับ 76 ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2552 ****

กำลังโหลดความคิดเห็น