xs
xsm
sm
md
lg

อายัดนมผงดัชมิลล์นำเข้าจากจีนอีก 60 ตัน อย.รอผลวิเคราะห์สารเมลามีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ด่านอาหารและยา อย.เผย นมผงดัชมิลล์ที่นำเข้าจากจีน โดนอายัดที่ท่าเรืออีก 4 ล็อต 60 ตัน อยู่ระหว่างการตรวจวิเคราะห์สารเมลามีน หากพบส่งกลับ หรือทำลายห้ามเข้าประเทศ ขณะที่ผลตรวจผลิตภัณฑ์ผสมนมจีนออกแล้ว 34 รายการ จาก 97 รายการ พบวัตถุดิบจากนมของดัชมิลล์มีสารเมลามีน 2 รายการ แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน คาดอาจเป็นการปนเปื้อนตามธรรมชาติ

วันที่ 30 กันยายน ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ภก.สาทิส ตรีสัตยาเวทย์ ผู้อำนวยการกองงานด่านอาหารและยา กล่าวว่า ขณะนี้ อย.ได้อายัดวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดที่มีส่วนผสมจากนมที่ผลิตจากประเทศจีน โดยต้องผ่านการตรวจวิเคราะห์จากด่านอาหารและยา เพื่อให้ได้ใบรับรองจาก อย.จึงจะสามารถนำเข้ามาจำหน่ายได้ ล่าสุด พบว่า มีนมผงที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตจำนวน 4 ล็อต จำนวน 60 ตัน ที่ด่าน ปท.10 ท่าปูน จ.สมุทรปราการ ซึ่งด่านอาหารและยา ยังไม่อนุญาตให้ทำพิธีการนำเข้าสินค้า เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจวิเคราะห์หาสารเมลามีนว่าปนเปื้อนหรือไม่ หากพบเกินกว่าที่มาตรฐานกำหนดก็ต้องส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง คือ ประเทศจีน หรือทำลายทิ้ง

“ทางบริษัท ดัชมิลล์ แจ้งว่า เพิ่งนำเข้าน้ำนมดิบจากประเทศจีน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ ได้นำเข้าจากประเทศนิวซีแลนด์ แต่เนื่องจากภาวะขาดแคลนน้ำนมดิบในประเทศนิวซีแลนด์ จึงหันมานำเข้าจากประเทศจีนแทน ทั้งนี้ วัตถุดิบดังกล่าวเป็นการนำมาผลิตนมพลาสเจอร์ไรซ์สำหรับเด็กโตที่อายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป ไม่ได้ผลิตนมผงสำหรับเด็กทารกแต่อย่างใด”ภก.สาทิส กล่าว

ด้านนายวิชาญ มีนชัยนันท์ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างส่งวิเคราะห์อาหารที่มีส่วนผสมนมจากประเทศจีน จำนวน 97 รายการ ผลการวิเคราห์เสร็จแล้ว 34 รายการ โดยในจำนวนนี้ 32 รายการไม่พบสารเมลามีนเลย ส่วน 2 รายการเป็นของผลิตภัณฑ์นม ชวงหว่า ฟูล ครีม มิลค์ พาวเดอร์ ของบริษัท ดัชมิลล์ จำกัด ที่นำเข้าจากประเทศจีน ตัวอย่างแรกพบค่าสาร 0.38 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือพีพีเอ็ม ตัวอย่างที่ 2 พบค่าสารเมลามีน 0.55 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งไม่เกินค่าความปลอดภัยที่ อย.กำหนดไว้ คือ 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือพีพีเอ็ม ส่วนอีก 63 รายการ กำลังรอผลการตรวจวิเคราะห์ ซึ่ง อย.จะเป็นผู้แจ้งผลการตรวจสอบเป็นระยะๆ

“ภายในสัปดาห์นี้จะรีบนำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือ จำหน่าย โดยอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยจะต้องไม่พบการปนเปื้อนสารเมลามีน และสารกลุ่มเดียวกัน ได้แก่ กรดซัยยานูริก แอมมีไลน์ แอมีลีน โดยมีเกณฑ์ในการปฏิบัติเนื่องจากมีการปนเปื้อนตามธรรมชาติ ซึ่งจะนำเสนอให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.สาธารณสุข และให้มีผลบังคับใช้ภายในสัปดาห์นี้”นายวิชาญ กล่าว

นพ.ชาตรี บานชื่น เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า การปนเปื้อนสารเมลามีนสามารเกิดขึ้นได้หลายทาง เพราะสารเมลามีนเป็นสารฟอร์มาดีไฮด์ ซึ่งอยู่ในยาฆ่าแมลง ปุ๋ย จึงสามารถปนเปื้อนในอาหารสัตว์ เมื่อวัวกินเข้าไป น้ำนมวัวก็อาจเกิดการปนเปื้อนในน้ำนมดิบได้ นอกจากนี้ อาจปนเปื้อนในภาชนะพลาสติกที่ใส่อาหารสัตว์ก็ได้ ทั้งนี้ ปริมาณที่ปนเปื้อนตามธรรมชาตินั้น เกิดจากความไม่เจตนา เพราะหากตั้งใจใส่สารดังกล่าวเข้าไป จะทำให้มีเมลามีนในปริมาณที่สูงมากเป็นหลายร้อย หลายพันพีพีเอ็ม แต่ปริมาณที่พบในการตรวจพิสูจน์นี้มีเพียงไม่ถึงค่ามาตรฐานที่กำหนด ทั้งนี้ส่วนที่ไม่พบจะมีค่าที่น้อยกว่าที่เครื่องวิเคราะห์จะวัดค่าได้คือจะมีปริมาณน้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

“นมที่เป็นวัตถุดิบที่อายัดที่โรงงานของดัชมิลล์จำนวน 22 ตันได้อายัดมาตั้งแต่วันที่ 17-18 ก.ย.แล้ว ซึ่งวัตถุดิบดังกล่าว ผลการตรวจพิสูจน์ก็พบว่ามีสารเพียง 2 ตัวอย่างเท่านั้น แต่ยังอยู่ในปริมาณค่าความปลอดภัยกำหนด และเมื่อประกาศมีผลบังคับใช้เมื่อใด ก็จะดำเนินการตรวจสอบกับอาหารทุกประเทศ ไม่เฉพาะเจาะจงว่าจะเป็นประเทศจีนเท่านั้น และไม่ว่าสินค้าจะผลิตที่ประเทศใด และอ้อมไปประเทศอื่นก่อนก็จะมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด”นพ.ชาตรี กล่าว

นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า ค่าความปลอดภัยของสารเมลามีนที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้สำหรับเด็กทารก คือ 0.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวขอเด็กต่อการบริโภคหนึ่งวัน ส่วนในผู้ใหญ่คือ 25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อน้ำหนักตัวต่อวัน ซึ่งเด็กที่มีอาการป่วยเป็นโรคนิ่วที่ไตในประเทศจีน รวมถึงสัตว์ในสวนสัตว์ที่อาการเดียวกันนี้ได้รับประทานนมที่มีสารดังกล่าวมาอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ยังไม่พบว่ามีเด็กที่มีอาการป่วยเป็นโรคนิ่วไตจากการดื่มนมแต่อย่างใด ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีเมลามีนแต่ไม่เกินค่าความปลอดภัยร่างกายก็จะสามารถขับเมลามีนออกมาได้เอง หรือต้องรับประทานขนมหรืออาหารชนิดเดียวกันเป็นจำนวนมากจึงจะก่อให้เกิดอันตราย

ด้าน ภก.มานิตย์ อรุณากูร รองเลขาธิการ อย.กล่าวว่า ขอให้มั่นใจในผลการตรวจวิเคราะห์ของเอกชนทั้ง 2 แห่ง เนื่องจากห้องตรวจวิเคราะห์ดังกล่าว ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ให้การรับรองและตรวจคุณภาพมาตรฐานในการวิเคราะห์แล้ว อีกทั้งห้องปฏิบัติการนี้สำหรับรับตรวจอาหารให้กับผู้ประกอบการที่จะส่งออกอาหารไปยังสหภาพยุโรปและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีความน่าเชื่อถืออย่างมาก

“ส่วนเหตุที่ไทยไม่ได้ใช้น้ำนมดิบภายในประเทศ เนื่องจากการผลิตและบริโภคในประเทศไม่เพียงพอ และโปรตีนที่ได้จากน้ำนมยังมีโปรตีนไม่ได้ตามมาตรฐานเนื่องจากสภาพอากาศ พันธุ์วัว และปัจจัยอื่นๆ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่หากคนไทยไม่มีจริยธรรม คงจะใส่สารเมลามีนเพื่อเพิ่มปริมาณโปรตีนให้ได้มาตรฐานแล้ว”ภก.มานิตย์ กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ อย.ได้สั่งอายัด และเก็บออกจากชั้นวางจำหน่าย เพื่อสุ่มตรวจหาสารเมลามีนปนเปื้อน มีทั้งสิ้น 97 รายการ มีผลตรวจวิคราะห์ออกมาแล้ว 34 รายการ พบสารปนเปื้อน 2 รายการ เป็นนมผงนำเข้าจากจีน เพื่อนำมาผลิตเป็นนมพาสเจอร์ไรซ์ โยเกิร์ต รสชาติต่างๆ ของ บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด จำนวน 22 ตัน ผลตรวจครั้งแรกพบปนเปื้อนสารเมลามีน 0.38 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ 0.55 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จึงยังรอผลตรวจซ้ำอีกครั้ง

ส่วนอีก 32 รายการ ที่ปลอดภัยและสามารถนำกลับไปวางจำหน่ายในตลาดได้แล้ว ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์ของบริษัท ดัชมิลล์ จำกัด จำนวน 12 รายการ เช่น นมสดพาสเจอร์ไรซ์ นมปรุงแต่ง นมขาดมันเนย รสชาติต่างๆ และโยเกิร์ต 2.ผลิตภัณฑ์ของบริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด จำนวน 9 รายการ เป็น ไอศกรีม วอลล์ มินิ ป๊อปเปอร์ 5 รายการ และไอศกรีม วอลล์ มอ 4 รายการ 3.ผลิตภัณฑ์ของบริษัท ดีทแฮล์ม จำกัด จำนวน 3 รายการ เป็น เวเฟอร์สติ๊ก โอรีโอ 4.บริษัท มาร์ส ไทยแลนด์ อิงค์ จำนวน 6 รายการ เป็นช็อกโกแลต นม ตราโดฟ ช็อกโกแลตนมเคลือบน้ำตาล ตรา เอ็ม แอนด์ เอ็ม ถั่วลิสงคาราเมล ผสมนูกัต ตรา สนิกเกอร์ และ 5.บริษัท ซีโน แปซิฟิค เทรดดิ้ง(ไทยแลนด์) จำกัด 2 รายการ คือ เมนทอส โยเกิร์ต มิกซ์

กำลังโหลดความคิดเห็น