xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ SMEs กังวลหนัก ฟังธงวิกฤตแรงกว่าปี 40

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์
สรุปสถานการณ์ SMEs ม.ค.52 ผู้ประกอบการไทยยังกังวลหนักจากปัญหารุมทั้งในและตปท. คาดส่งออกขยายแค่ 1.77% ขณะที่กำไรหดลงต่อเนื่อง ด้านสภาอุตฯ ขอนแก่น ทำนายวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์รุนแรงกว่าต้มยำกุ้ง ซัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเกาไม่ถูกที่คัน

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจสถานการณ์ SMEs เดือนมกราคม 2552 จากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ เช่น พฤติกรรมผู้บริโภคลดลง การเมือง และความกังวลต่อวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐ ล้วนส่งผลให้SMEs กังวลอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการโดยรวมของประเทศไทยในปี 2552 โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่มีตลาดสำคัญ คือ สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลเดือนธันวาคม 2551 ของฐานข้อมูล SMEs แห่งชาติ สสว. พบว่า ส่งออกของ SMEs ปี 2551 มูลค่าเพียง 1,696,900.95 ล้านบาท ขยายตัว 7.17% จากปี 2550 ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ คือ 10.69% มูลค่าส่งออกหายไป 6 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์ปีนี้ การส่งออกของ SMEs น่าจะมีมูลค่าเพียง 1,726,891 ล้านบาท หรือขยายตัวแค่ 1.77%

นอกจากนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการ คือ ผลกำไรจากการทำธุรกิจของ SMEs เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีกำไรโดยเฉลี่ยประมาณ 8% แต่หลังจากนั้น ลดลงต่อเนื่องทุกๆ ปี จนปัจจุบันเหลือ 3.83% ตัวเลขดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า นับวันความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไทยจะด้อยลงทุกที

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทย แม้ว่า ภาพรวมจะไม่รุนแรงเท่าปี 2540 แต่จะส่งผลกระทบต่อ SMEs ไทยอย่างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการไทย พึ่งพาการส่งออกสูง เมื่อออเดอร์ลดน้อยลง ส่งผลต่อเนื่องตั้งแต่การผลิตน้อยลง เกิดการเลิกจ้าง และชะลอการใช้จ่าย ทั้งหมดล้วนกระทบให้ผู้ประกอบการ SMEs อยู่รอดได้ยาก

ด้านนายสามารถ อังวราวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น ระบุว่า วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ คือ ระดับผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นคนส่วนน้อย โดยสภาพแวดล้อมของโลกยังดีอยู่ อีกทั้ง เวลานั้นผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมีธุรกิจสำรองนอกระบบซ่อนอยู่ เหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยทำให้ฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว ต่างกับวิกฤตในปัจจุบัน ผลกระทบเกิดต่อคนในวงกว้าง ตั้งแต่ระดับผู้ประกอบการจนถึงระดับฐานล่างจริงๆ อีกทั้ง ธุรกิจที่เคยปิดบังเป็นทุนสำรอง ถูกดึงเข้ามาอยู่ในระบบแทบทั้งหมด ส่วนตัวจึงเชื่อว่า วิกฤตครั้งนี้กระทบต่อ SMEs รุนแรงกว่าปี 2540 เสียอีก

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล คิดว่า จะไม่ได้ช่วยเหลือSMEs มากเท่าใดนัก เนื่องจากมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แจกเงิน 2,000 บาท หรือการฝึกอบรม 6 เดือน ล้วนแต่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น การอบรมถ้าไม่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม หรือภาคเอกชน การอบรมดังกล่าวก็จะไม่เกิดประโยชน์เลย

นายสามารถ เสนอว่า งบประมาณหรือมาตรการที่จะออกมาช่วยSMEs ควรหันมาเน้นส่งเสริมศักยภาพ เพราะเป็นปัญหาที่SMEs ไทยยังขาดอยู่มาก

“ผมกล้ายืนยันว่า ที่ผ่านมา SMEsไทยมากกว่า 80-90% ทำธุรกิจจากประสบการณ์ ไม่ได้ทำจากข้อมูลความรู้ เมื่อก่อนไม่มีใครรู้จักการทำบัญชี เรื่องกระแสเงินสด ไม่มีใครสนใจเลย ดังนั้น เงินที่จะให้SMEs อยากให้มาเสริมตรงนี้มากกว่า” นายสามารถ ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น