xs
xsm
sm
md
lg

วัดชีพจร SMEs ส่อแววทรุด สาหัสจ้างงานหายซ้ำกำไรหด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เผยผลวิเคราะห์สถานการณ์ธุรกิจ SMEs ไทยประจำปีฉลู ปัจจัยลบทั้งการเมืองป่วน เศรษฐกิจโลกทรุด คาดโตแค่ 0.53% จ้างงานลดลง 120,466 คน ส่วนรายได้รวม ประมาณ 6.02 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพียง 1.33% ส่งออก 1.80 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.06% ส่วนกำไรที่ได้จากการดำเนินธุรกิจคาดหดน้อยลงไปอีก
นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยข้อมูลของ สสว. โดยโครงการวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา (SAW) พบว่า ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของ SMEs ในปี 2552 ยังคงเป็นปัจจัยต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง การหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ การลงทุน ค่าเงินบาท ความผันผวนของราคาพลังงาน ผลกระทบด้านต้นทุน การบริโภคที่ลดลง นโยบายหรือการเปลี่ยนรัฐบาล การแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่และ จากต่างประเทศ มาตรการกีดกันทางการค้าใหม่ๆ และสภาวการณ์โลกร้อน เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดว่า จะปี 2552 จะมี SMEs จำนวนประมาณ 2.42 ล้านราย โดยขยายตัวจากปีที่ผ่านมา ประมาณ 0.53% หรือเพิ่มขึ้น 12,311 ราย แต่เป็นการขยายตัวแบบถดถอย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่วิสาหกิจสาขาอื่นๆ จะมีจำนวน SMEs เพิ่มขึ้น 25,340 ราย ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจการค้าและบริการ จะมีจำนวนวิสาหกิจลดลง 13,029 ราย ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการที่ประสบปัญหา อาจจะนำไปสู่การลดขนาดธุรกิจ หรือปรับเปลี่ยนธุรกิจทั้งที่ใกล้เคียงและไม่ใกล้เคียงกับธุรกิจเดิม

ส่วนจำนวนแรงงานในภาพรวมคาดจะมีปริมาณ 9.28 ล้านคน ขยายตัว 1.24% หรือเพิ่มขึ้น 109,333 คน โดยเป็นการจ้างงานในอุตสาหกรรมสาขาอื่นๆ เพิ่มขึ้น 229,799 คน ทว่า SMEs ในอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจการค้าและบริการ จ้างงานลดลง 120,466 คน ขณะที่มูลค่าตลาดซึ่งวัดจากรายได้สุทธิ จะมีจำนวน 6.02 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.33% ส่วนการส่งออก 1.80 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.06%

อย่างไรก็ตาม แม้รายได้สุทธิจะเพิ่มขึ้น แต่กำไร ผลิตภาพของแรงงาน ผลตอบแทนที่ได้จากการดำเนินงาน และความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย กลับปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยคาดว่ากำไรจะอยู่ที่ 0.23 ล้านล้านบาท ลดลง 7.97% ผลิตภาพแรงงานอยู่ที่ 80,000 บาท:คน:ปี ลดลง 1.24% ผลตอบแทนจากการดำเนินงานเหลือ 3.84% ลดลง 9.18% และความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.58 เท่า ลดลง 7.52%

สำหรับคาดการณ์ดังกล่าว สสว. โดย SAW ทำงานร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาประจำภูมิภาค โดยวิเคราะห์ข้อมูล SMEs เป็นรายสาขา ทั้งในภาคการผลิต ภาคการค้าและภาคบริการ โดยการสำรวจผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 4,200 ตัวอย่างทั่วประเทศ โดยวิเคราะห์อยู่บนสมมุติฐานหลังเหตุการณ์ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง คาดการณ์ให้มีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพียง 0.1-0.3% GDP ขยายตัว 2.5-3.0% อัตราเงินเฟ้อขยายตัว 2.0–3.0% ราคาน้ำมันประมาณ 45-55 USD/b เงินบาทอยู่ระดับ 34.00-35.00 บาทต่อดอลล่าร์ ดอกเบี้ย R/P เคลื่อนไหวระหว่าง 2.50 -2.75% และเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลง 0.1-0.3%
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชริ ผอ.SAW
ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชริ ผอ.SAW เผยว่า ผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว น่ากังวลว่า ผู้ค้าปลีกค้าส่งข้ามชาติรายใหญ่ หรือโมเดิร์นเทรดต่างๆ จะแข่งขันด้านสงครามราคาถูก โดยผลักภาระลดต้นทุนมาสู่ผู้ประกอบการ SMEs ภาคผลิตที่ต้องส่งสินค้าเข้าจำหน่ายในสรรพสินค้าเหล่านี้ ทำให้ SMEs ต้องยอมผลิตสินค้าได้กำไรหรือผลตอบแทนน้อยลงกว่าเดิม รวมถึง SMEs บางรายที่ยกระดับตัวเองมาสู่ระดับ ODM โดยมีแบรนด์ของตัวเอง ต้องถูกบีบให้กลับไปสู่ภาค OEM หรือแค่รับจ้างผลิต ได้ผลตอบแทนน้อยอีกครั้ง









เปิดโผธุรกิจส่อรุ่ง – ร่วงประจำปี
จากการวิเคราะห์สถานการณ์แนวโน้ม SMEs ในปี 2552 ธุรกิจสาขาที่มีความโดดเด่น และสาขาที่ต้องระมัดระวังในการดำเนินกิจการ โดยปัจจัยสำคัญมาจากสภาพเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การส่งออกคาดว่าจะลดลง อีกทั้ง ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายรอบคอบยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะส่งผลต่อดำเนินกิจการทั้งธุรกิจภาคผลิต การค้า และบริการได้แก่ การส่งออก ผลิตภาพทุน ผลิตภาพแรงงาน ความสามารถในการชำระหนี้ ผลตอบแทนจากการดำเนินงาน และรายได้ด้อยค่า

สำหรับภาคการผลิตสาขาที่มีความโดดเด่นส่วนใหญ่จะอยู่ในหมวดอาหาร ซึ่งตลาดโลกยังมีความจำเป็น ได้แก่ สิ่งพิมพ์ ยา-สมุนไพร และเวชภัณฑ์ เยื่อกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เคมีภัณฑ์ เนื้อสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์นม น้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล เครื่องดื่ม อาหารกึ่งสำเร็จรูปประเภทเส้น และรีไซเคิล

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสาขาที่แนวโน้มยังไปได้ดี เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกแล้ว การเติบโตดังกล่าว ยังแค่ดีในระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ถึงขั้นเติบโตอย่างสูง

ส่วนสาขามีแนวโน้มต้องระวังเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มวิศวการ ซึ่งได้รับผลกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอ ส่งออกหดตัว ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หนังและผลิตภัณฑ์หนัง เฟอร์นิเจอร์ แก้วและเซรามิก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องอิเลคทรอนิกส์ เครื่องมือเฉพาะด้าน แร่อโลหะ และเครื่องจักรกล

ด้านภาคการค้า และบริการ สาขาที่มีความโดดเด่นใน 5 ลำดับแรก ได้แก่ บริการที่ปรึกษา บริการทางการเงิน ไปรษณีย์ โลจิสติกส์ และบริการการศึกษา ส่วนสาขาที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ โรงแรมและภัตตาคาร ก่อสร้าง บริการเสริมสุขภาพ สปาฯ บริการอสังหาริมทรัพย์ และบริการท่องเที่ยว

กำลังโหลดความคิดเห็น