xs
xsm
sm
md
lg

SME BANK ทุ่ม 6 พันล้านบาท ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำสุดพยุงรากหญ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

3 กระทรวงเศรษฐกิจ จับมือแก้ปัญหาเลิกจ้างแรงงาน ใช้มาตรการทางการเงินปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำสุด วงเงิน 6 พันล้านบาท หวังชะลอการเลิกจ้าง เพื่อลดผลกระทบระยะสั้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ เผยสำนักงานประกันสังคม ระดมทุนนำเงินกองทุนประกันสังคมในเงินฝากของธนาคาร 6,000 ล้านบาท ส่งผลให้ธนาคารมีต้นทุนต่ำสามารถสนับสนุนสินเชื่อในโครงการฯได้

นายพงษ์ศักดิ์ ชาเจียมเจน รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์) เปิดเผยว่า ทางเอสเอ็มอี แบงก์ ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือกับสำนักงานประกันสังคมในโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน วงเงิน 6,000 ล้านบาท โดยมี นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานร่วมในพิธีลงนามความร่วมมือโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงานครั้งนี้ ณ ห้อง 101 อาคาร SME BANK TOWER สำนักงานใหญ่

ทั้งนี้ เป็นความร่วมมือของ 3 กระทรวงเศรษฐกิจหลัก คือ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และลดผลกระทบระยะสั้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นมาตรการจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อชะลอการเลิกจ้าง และป้องกันการขยายตัวของการเลิกจ้างในภาคอุตสาหกรรมและบริการ เน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีกิจการแล้ว เพื่อใช้เป็นเงินลงทุน หรือ ทุนหมุนเวียน ขยาย ปรับปรุงกิจการให้ดำเนินต่อไปได้อย่างไม่สะดุด ทำให้เกิดการชะลอการเลิกจ้างและป้องกันการขยายตัวของการเลิกจ้างตามนโยบายรัฐฯ ด้านผู้ประกอบการ สามารถขอวงเงินกู้ ตั้งแต่ 50,000 บาท ถึงไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยคงที่ประมาณ 5 % ต่อปี ระยะเวลาการช่วยเหลือไม่เกิน 5 ปี

ทั้งนี้ทางเอสเอ็มอีแบงก์ ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ จากสำนักงานประกันสังคม นำเงินกองทุนประกันสังคมลงทุนในเงินฝากของธนาคารมีระยะเวลา 5 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนเงินฝาก ในจำนวนเงินเบื้องต้น 6,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นได้ตามความจำเป็น ส่งผลให้ธนาคารมีต้นทุนต่ำสามารถสนับสนุนสินเชื่อในโครงการฯได้ ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมจำนวน 382,000 ราย มีแรงงานที่ประกันตนจำนวน 9.3 ล้านคน

สำหรับโครงการเอสเอ็มอีเพาเวอร์ วงเงิน 5,000 ล้านบาท ได้ขยายเวลาการปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีไปจนกว่าจะหมดวงเงินที่เตรียมไว้ในการปล่อยกู้ เนื่องจากได้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอียื่นเสนอขอกู้ 600-700 ราย วงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่เอสเอ็มอีแบงก์ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 300 ล้านบาท แต่ยอมรับว่ามีความเสี่ยง จึงต้องการดึงให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันความเสี่ยง ซึ่งได้คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันจากลูกค้าประมาณร้อยละ 1.75 ของยอดสินเชื่อ แต่ต้องหารือในการรับความเสี่ยงจากภาระหนี้เสีย หาก บสย.ขยายเพดานรับความเสี่ยงจากหนี้เสียถึงร้อยละ 15 ก็จะเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งต้องหาข้อสรุปร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น