"โดนัท" เป็นหนึ่งในเบเกอรี่ยอดฮิตของคนไทย ปัจจุบัน จึงมีร้านขายโดนัท และแบรนด์ใหม่หลากหลาย ตั้งแต่เจาะตลาดบนถึงลุยรากหญ้า ไม่เว้นแม้แต่นักร้องชื่อดังอย่าง “ติ๊ก ชิโร่” โดดมาร่วมแจงธุรกิจนี้เช่นกัน แจ้งเกิดแบรนด์ “ โด ดี โด” (DO DEE DOUGH) จุดประกายให้โดนัทเป็นขนมอารมณ์ดีแนวศิลปะ พร้อมแป้งสูตรน้ำตาลน้อย อีกทางเลือกหนึ่งของคนชอบกินโดนัท
ศิริศักดิ์ นันทเสน หรือ “ติ๊ก ชิโร่” เล่าที่มาของโดนัท “DO DEE DOUGH” by Tik Shiro เกิดขึ้นจากความรู้สึกต้องการหาทางเลือกใหม่ให้ตนเอง จากเคยทำงานมาหลายอย่าง มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว สุดท้ายคิดทำธุรกิจที่เหมาะสมกับตนเองและคนส่วนใหญ่ชอบ จบตรงที่ธุรกิจโดนัทขนมที่มีทั้งความสวยงาม และรสชาติอร่อย รวมถึง ตลาดกว้าง มีความเป็นสากล และคนไทยนิยมกินโดนัทมาก
สำหรับรูปแบบของโดนัท นักร้องชื่อดังเป็นผู้ดีไซน์ออกแบบเอง นำความรู้ด้านศิลปะมาปรับใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ให้มีรูปแบบที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ตกแต่งโดนัทเพิ่มลูกเล่นด้วยการวาดรูปหน้าตาต่างๆ ลงไปบนหน้าโดนัท ส่วนรูปแบบของโดนัทจะมีทั้งแบบสี่เหลี่ยมและลูกกลมๆ และการออกแบบโดนัทเป็นรูปตัวอักษรภาษาอังกฤษตัว "ดี" (D) ซึ่งถือว่าเป็นรายแรกในโลก
"ตัวดีมาจากโดนัทนั่นเอง สร้างความแปลกใหม่ และยังสอดคล้องกับชื่อแบรนด์ โด ดี โด คือ "โด" ตัวแรก หมายถึง โดนัท คำว่า "ดี" คือ สิ่งดีๆ ส่วน "โด" ตัวสุดท้าย ก็คือแป้งโด ที่ใช้ทำโดนัท เมื่อทั้ง 3 คำเมื่อมารวมกันจึงมีความหมายว่า แป้งดีๆ ทำโดนัทดีๆ"
นักร้องชื่อดัง ระบุว่า ส่วนตัวให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างมาก ทั้งสูตรแป้ง คำนึงถึงกระแสโลกปัจจุบันให้ความสำคัญต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากโดนัทเป็นขนมหวาน จะทำอย่างไรให้คนกินแล้ว ไม่รู้สึกว่า หวานมากเกินไป จึงคิดส่วนผสมแป้งสูตร Low Sugar (โลว์ชูการ์) หรือน้ำตาลน้อย เพื่อให้กินได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสุขภาพ นอกจากนั้น รูปแบบคิดค้นเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ เช่น "โอ ชิโร่" ซึ่งเป็นอักษรรูปตัวโอ (O) ออกมาต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมา และล่าสุดจะออกแบบเป็น "ไอสติ๊กกี้" จะเป็นรูปตัวไอ (I) และรูปตัวเอส (S)
"จะเห็นได้ว่า ผมพยายามเพิ่มลูกเล่นให้แก่รูปทรงของโดนัท เพื่อให้เป็นผลงานศิลปะที่แปลกใหม่ ปัจจุบันมีรูปแบบโดนัทอยู่กว่า 20 รูปแบบ และจะพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สูตรการทำโดนัท ไม่ได้มีสูตรตายตัว เพราะพื้นฐานการทำโดนัท มีกรรมวิธีทำที่เหมือนๆ กันมานานแล้ว เช่นเดียวกับการทำขนมครกหรือขนมต่างๆ ที่มีวิธีการทำเหมือนกัน แต่สิ่งที่สำคัญอยู่ที่การพัฒนาและคิดค้นกรรมวิธีที่แตกต่างโดยเรียกว่า ศิลปะด้านอาหาร"
ด้านการผลิตมีโรงงานของตัวเอง ส่วนช่องการตลาด เปิดร้านเป็นแบบ คีออสก์ (Kiosk) ตกแต่งร้านให้มีสีเขียวเพราะแสดงความหมายถึงการใส่ใจสุขภาพการเลือกสีให้แปลกตา ทำให้จดจำได้ง่าย จุดขายอีกอย่างหนึ่ง มีเพลงประจำร้าน ซึ่งแต่งเองแล้วให้ลูกสาวเป็นคนร้อง สามารถเรียกลูกค้าที่ผ่านไปผ่านมาได้อย่างดี เนื้อเพลงเน้นจำง่าย ขายความน่ารัก
แม้ธุรกิจนี้ จะแจ้งเกิดในช่วงปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองโลกเป็นตัวแปรให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอย อีกทั้ง ยังเป็นปัจจัยสำคัญชี้ขาดว่าธุรกิจจะอยู่ได้ยั่งยืนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้ โดยมีหลักบริหารงานอย่างเป็นระบบ ทั้งโครงสร้าง บุคลากร และอุปกรณ์ ยึดหลักนโยบายของตนเองแบบ 3 G คือ Good Product ,Good Service และ Good Price คือ ทำสินค้าที่ดี การบริการ ใส่ใจ ลูกค้า รวมทั้งเรื่องราคาที่พอเหมาะ ด้านสายการผลิต เป็นหน้าที่ของหุ้นส่วนคนสำคัญมาช่วยดู และแบ่งเวลาว่างจากงานเพลง เข้ามาช่วยดูแลด้วยอีกแรง
สำหรับการทำงานของทีมงาน โด ดี โด จะแบ่งหน้าที่กันชัดเจน เช่น ที่ผ่านมาได้มีการสำรวจทำรายงานส่งไปยังส่วนกลาง สรุปยอดของแต่ละสาขา การตั้งเป้าขยายสาขา ประเมินผลตรวจสอบการตอบรับเป็นอย่างไร เชื่อว่า เมื่อทำงานอยู่ในระบบที่วางไว้ จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ดีขึ้น
ศิริศักดิ์ เล่าถึงการขยายสาขาว่า มีแผนจะขยายในรูปแบบของแฟรนไชส์ เวลานี้มีคนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่คงต้องรอความพร้อมสักระยะหนึ่ง เพื่อจัดระบบแฟรนไชส์ให้เข้าที่เสียก่อน ส่วนแผนการขยายสาขาในอนาคต จะขยายในรูปแบบของร้านนั่งกิน เปิดบนถนนแจ้งวัฒนะในเร็วๆนี้
นอกจากนั้น พยายามปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เพิ่มความแปลกใหม่ๆ ที่ดีตลอดเวลา ส่วนการลงทุนที่ผ่านมา ใช้ไปแล้วหลายล้านบาท ทั้งสร้างโรงงานของตนเอง ขยายสาขา ตลอดจน พัฒนาผลิตภัณฑ์ และคุณภาพควบคู่กันไปด้วย
ในส่วนราคาโดนัท ของ โด ดีโด ใกล้เคียงกับโดนัทแบรนด์ดังในตลาด โดนัทชิ้นใหญ่ ราคา18 บาท และโดนัท ขนาดเล็กชิ้นละ 5 บาท ส่วนบรรจุภัณฑ์ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ออกแบบกล่องกระดาษ ให้สามารถย่อยสลายได้ภายใน 1 ปี เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนไปในตัว
ทั้งนี้ โด ดี โด ดำเนินกิจการมาได้ประมาณ 6 เดือนกว่า ประสบความสำเร็จด้วยดี ทั้งด้านยอดขาย และการขยายสาขาเติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบัน มีทั้งหมด 7 สาขา ได้แก่ แฟชั่นไอส์แลนด์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาลัยเอสแบค ตลาดยิ่งเจริญ มหาวิทยาลัยรังสิต เดอะมอลล์โคราช และคลังพลาซ่าโคราช
และแม้ว่า เศรษฐกิจปัจจุบันยังอยู่ภาวะชะลอตัว แต่ โด ดี โด ยังมีเป้าหมายที่จะขยายสาขา และประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน เพื่อผลิตโดนัทคุณภาพดีแก่ทุกๆคนตลอดไป
*****************************************
โทร. 0-2943-6314