สมาคมของขวัญฯ ชี้เศรษฐกิจซบ ลูกค้าปรับพฤติกรรมซื้อของขวัญน้อยชิ้น และถูกลง แนะภาครัฐแบ่งการช่วยเหลือผู้ส่งออกสินค้าของขวัญเป็น 3 กลุ่มตามศักยภาพ
นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ นายกสมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทย และของตกแต่งบ้าน กล่าวว่า จากการจัดมหกรรมของขวัญของที่ระลึก ครั้งที่ 9 หรือ Thailand Bestbuys 2008 ที่ผ่านมา พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคในปี 2551 เปลี่ยนไปจากเดิม โดยซื้อของขวัญน้อยชิ้นลง เน้นราคาประหยัด 100-300 บาท โดยสินค้าฟุ่มเฟือยจะถูกนำมาพิจารณาซื้อในอันดับท้ายๆ
นายจิรบูลย์ เผยว่า การปรับตัวรับสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว ผู้ประกอบการของขวัญของชำร่วย ต้องค้นหาว่า ผู้บริโภคต้องการอะไร แล้วใช้กลยุทธ์ด้านราคามาเป็นตัวนำ ขณะที่การส่งเสริมตลาดการส่งออกของภาครัฐ ควรแบ่งผู้ประกอบการออกได้เป็น 3 กลุ่มตามขีดความสามารถ ได้แก่ กลุ่มที่มีศักยภาพสูง ซึ่งปกติจะบุกทำตลาดต่างประเทศด้วยตัวเองอยู่แล้ว กลุ่มนี้มักจะเป็นบริษัทใหญ่ที่ออเดอร์ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบัน ออเดอร์ดังกล่าวหายไปกว่า 50 % มูลค่า 7-8 พันล้านบาท ทางสมาคมของขวัญฯ จึงเสนอภาครัฐอัดฉีดงบให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ออกไปบุก เพื่อเปิดตลาดใหม่ๆ เช่นรัสเซีย ยุโรปตะวันออก จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอาเซียน เป็นต้น เพราะผู้ผลิตกลุ่มนี้มีความพร้อมอยู่แล้วขาดเพียงแค่เงินทุน
ต่อมาเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพปานกลาง ในขณะเกิดปัญหา กลุ่มเหล่านี้จะไม่ขับเคลื่อนธุรกิจ จะทำให้องค์กรของตัวเองเล็กลง ก่อให้เกิดผลเสียกับประเทศ ภาครัฐควรผลักดันโดยกระตุ้นเพิ่มขีดความสามารถ ยกระดับให้ทัดเทียมกับกลุ่มแรก สุดท้าย กลุ่มอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่มีขีดความสามารถจำกัด รัฐควรสนับสนุนด้านความสามารถทำตลาดในประเทศได้ เพื่อจะสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มที่ 1 และ 2
นายจิรบูลย์ เผยว่า แม้การเปิดตลาดใหม่ จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ยังมีโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมของขวัญของชำร่วยไทย เพราะคนไทยมีศักยภาพด้านงานฝีมือและไอเดียแปลกใหม่ หากคิดนอกกรอบและภาครัฐสนับสนุนได้เหมาะสม เชื่อจะช่วยทำรายได้ให้ประเทศปีละกว่า 62,000 ล้านบาท