xs
xsm
sm
md
lg

ชี้แนวโน้มปีฉลู SMEsกำไรหด รายใหญ่หั่นราคา บีบหน้าใหม่เจ๊ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์
สสว.เผยทิศทางปีหน้า กำไรจากการดำเนินธุรกิจของ SMEs จะลดลงอีก ทั้งภาคผลิต และบริการ ผลกระทบจากผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น ทำให้การแข่งขันรุนแรง รายยักษ์ใช้กลยุทธ์หั่นราคา บีบหน้าใหม่ถึงขั้นเจ๊ง

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)เผยว่า จากการเก็บข้อมูลและสำรวจกลุ่มตัวอย่าง SMEs ทางด้านอัตราผลตอบแทนจากการดำเนินธุรกิจ หรือกำไร ในปีหน้า (2552) ของ SMEs ทั้งภาคผลิต และบริการ จะลดลง โดยภาคการผลิตของ SMEs คาดว่าจะลดลงประมาณ 8.18% เมื่อเทียบกับปี 2551 โดยมีอัตราผลตอบแทนจากการดำเนินงาน ประมาณ 3.61% ในขณะที่ในปี 2551 คาดว่าจะมีอัตราผลตอบแทนจากการดำเนินงาน ประมาณ 3.93% โดยลดลงจากปี 2550 ประมาณ 1.81%

ทั้งนี้ เมื่อเข้าไปพิจารณาในรายสาขาต่างๆจะพบว่า ธุรกิจที่คาดว่าจะมีกำไรลดลง ส่วนใหญ่จะอยู่กลุ่มวิศวการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการส่งออกลดลง เช่น สาขาไม้และผลิตภัณฑ์ สาขาเครื่องมือเฉพาะด้าน สาขาต่อเรือและซ่อม และสาขาเครื่อง เป็นต้น

ในขณะที่ภาคการค้าและบริการ ของ SMEs ในปี 2552 ในส่วนของภาคการบริการ คาดว่าอัตราผลตอบแทนจากการดำเนินงานจะลดลงประมาณ 15.73% เมื่อเทียบกับปี 2551 โดยมีอัตราผลตอบแทนจากการดำเนินงานประมาณ 4.24% ในขณะที่ในปี 2551 คาดว่าจะมีอัตราผลตอบแทนจากการดำเนินงาน 5.03% โดยลดลงจากปี 2550 ประมาณ 29.18%

สำหรับรายสาขาภาคบริการ ที่มีอัตราผลตอบแทนจากการดำเนินงานจะลดลง ส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบโดยตรงมาจากความวุ่นวายทางเมืองและการปิดสนาม ได้แก่ สาขาท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่อง สาขาบริการอำนวยการ สาขาบริการทางการเงิน สาขาวัฒนธรรมฯ และสาขาบริการอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

ผศ.ดร.ณัฐพล เผยว่า สาเหตุผลที่ผลตอบแทนลดลงมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความวุ่นวายทางการเมืองภายใน รวมถึง ต้นทุนต่างๆ ยังอยู่ระดับสูง ล้วนแต่มีผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคขาดความมั่นใจในการใช้จ่าย เป็นผลให้ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันเองอย่างรุนแรง โดยธุรกิจใหญ่ๆ จะหันมาใช้กลยุทธ์ขายราคาถูก ซึ่งจะเป็นผลกระทบรุนแรงต่อผู้ประกอบการหน้าใหม่ ที่พื้นฐานธุรกิจยังไม่แข็งแกร่ง อีกทั้ง เงินทุนหมุนเวียนยังไม่มากนัก อาจไม่สามารถรับสถานการณ์ดังกล่าวได้ ถึงขั้นต้องปิดกิจการลงไป
กำลังโหลดความคิดเห็น