สสว. เผยสำรวจความกังวลต่อการทำธุรกิจของ SMEs ในปีหน้า ระบุเศรษฐกิจไทยผันผวนครองแชมป์ การเมืองป่วนจ่อติด ตามด้วยพิษแฮมเบอร์เกอร์
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา (SAW) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยแนวโน้ม SMEs ในปี 2552 จากการสำรวจผู้ประกอบการ SMEs 5 ภูมิภาค ๆ ละ 840 รายรวม 4, 200 ราย ทั้งอุตสาหกรรมการผลิต และธุรกิจการค้า ปัจจัยที่ SMEs ได้เล็งเห็นว่าน่าจะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจในปี 2552 "ปัจจัยสูงสุดวิตกกังวลเรื่อง เศรษฐกิจไทยการลงทุน ค่าเงินบาท และความผันผวนของราคาพลังงาน ร้อยละ 96.23 รองลงมาคือ สถานการณ์การเมืองความขัดแย้งที่ยืดเยื้อส่งผลต่อความเชื่อมั่นและระบบเศรษฐกิจไทย ร้อยละ 95.46 ตามด้วย เศรษฐกิจโลกสหรัฐส่งผลต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกมีผลกีดกันทางการค้า (NBT) ร้อยละ 87.64
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ตามมา ได้แก่ การแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศ ร้อยละ 87.64 พฤติกรรมการบริโภคครัวเรือนลดลง ร้อยละ87.13 ต้นทุนจากราคาวัตถุดิบที่ไม่มีการปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน ร้อยละ 82.23 นโยบายการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ร้อยละ 80.06 การแข่งขันจากผู้ประกอบการต่างประเทศเข้ามาทำการค้า ร้อยละ 76.43 การกีดกันทางการค้า ร้อยละ 62.25และสถานการณ์สภาวะโลกร้อน ร้อยละ 60.17
ทั้งนี้ สถานการณ์ข้างต้นดังกล่าว อยู่ในสมมุติฐานที่ GDP ประเทศไทยเติบโตร้อยละ 3.50 - 4.50 ของค่าเงินบาท เชื่อว่าในปี 2552 จำนวนวิสาหกิจ SMEs คาดว่าน่าจะมีจำนวนประมาณ 2.42 ล้านราย ขยายตัวประมาณร้อยละ 0.53 จากปี 2551 เป็นการขยายตัวแบบถดถอยแทนการขยายตัวแบบเติบโตเช่นเดียวกับจำนวนแรงงานน่าจะมีจำนวนประมาณ 9.28 ล้านคน ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.24 จากปี 2551