ผู้เชี่ยวชาญการลงทุน เชื่อวิกฤตการเงินโลกระลอกใหม่ มีจุดเริ่มจากตลาดเงินในสหรัฐ แนะจับตา "เลห์แมน บราเธอร์ส-เอไอจี-เมอร์ริล ลินซ์" จุดชนวน "แฮมเบอร์เกอร์ ดีซิสต์" ลุกลามทั่วโลก พร้อมตำหนิรัฐบาลสหรัฐ แก้ปัญหาล่าช้าจนทำให้ลุกลามเกินควบคุม
วันนี้ ( 16 ก.ย.) นายเนเดอร์ นาเอมี ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านยุทธศาสตร์การลงทุน ออกมาเตือนว่า ปัญหาล่าสุดทางภาคการเงินของสหรัฐอเมริกา ที่กำลังเกิดขึ้นกับ บริษัท Lehman Brothers Holdings Inc. และบริษัท American International Group Inc. อาจจะกลายเป็น “โรคแฮมเบอร์เกอร์" หรือ Hamburger Disease ที่จะนำไปสู่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจระลอกใหม่ขึ้นทั่วโลก
นายเนเดอร์ ระบุว่า วิกฤตการเงินที่เกิดในสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่ปัญหาภายในของสหรัฐฯ อีกต่อไป แต่เป็นปัญหาที่รัฐบาลของทุกประเทศทั่วโลก ต้องหาทางรับมือ มิฉะนั้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจโลกระลอกใหม่ เช่นเดียวกับที่ " โรคต้มยำกุ้ง " หรือ Tom Yum Kung Disease เคยลุกลามจากประเทศไทย จนกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่มาแล้ว เมื่อปี 1997
นายเนเดอร์ ยังได้ตำหนิการแก้ไขปัญหาทางภาคการเงินของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยระบุว่า ล่าช้าเกินไป ทำให้ปัญหาทางภาคการเงินของสหรัฐฯ ลุกลามจนเกินควบคุม พร้อมแสดงความชื่นชมรัฐบาลญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่เตรียมพร้อมในการรับมือกับผลกระทบจากวิกฤติทางการเงินในสหรัฐฯ ครั้งนี้
ด้านนายโรเจอร์ อัลท์แมน อดีตรัฐมนตรีช่วงว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นซีอีโอบริษัท Evercore Partners Inc. แสดงความคิดเห็นผ่านสถานีโทรทัศน์ CNBC ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ วาณิชธนกิจที่มีอิทธิพลต่อความเคลื่อนไหวในตลาดวอลล์สตรีทมีอยู่ 5 แห่ง แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ โกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ ซึ่งบริษัททั้ง 2 แห่งจะรายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ในเร็วๆ นี้
โดยช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมานั้น พบว่ากิจการของโกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ สามารถทำกำไรได้ในปีนี้ ไม่เหมือนกับเลห์แมน บราเธอร์ส และเมอร์ริล ลินช์ ที่ขาดทุนติดต่อกันหลายไตรมาส
"ผมได้แต่คาดหวังว่า โกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ จะสามารถหลุดพ้นวิกฤตการณ์ แต่เมื่อดูจากสถานการณ์ในขณะนี้ คงต้องยอมรับว่ายากที่จะคาดเดา และหนทางที่วาณิชธนกิจกำลังจะเดินไปข้างหน้าก็ยังไม่แน่นอน ส่วนตัวผมเองก็ไม่แน่ใจด้วยเช่นกัน"