xs
xsm
sm
md
lg

อ่านประสบการณ์ “ ThaiSmile” ร้านอาหารไทยบุกอเมริกา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถ้าพูดถึงร้านอาหารไทยในต่างแดน สหรัฐอเมริกาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีคนไทยไปลงทุนเปิดร้านอาหารไทยอยู่เป็นจำนวนมาก

คนไทยหนึ่งในนั้น คือ “พิริยะ ประยงค์แย้ม” เจ้าของร้าน “Thai Smile” ร้านอาหารไทยอีกหนึ่งร้านที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่คนอเมริกัน

พิริยะ ประยงค์แย้ม
จุดกำเนิดของร้านอาหารไทยร้านนี้เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ณ เมือง Palm Springs รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีคุณแม่ของพิริยะเป็นผู้บุกเบิกเปิดร้านอาหารไทยในเมืองนี้เป็นเจ้าที่สอง และต่อมาเขาก็เข้ามาช่วยบริหารงานอย่างเต็มตัว

“ตอนอยู่เมืองไทยคุณแม่เปิดร้านขายข้าวแกงในวิทยาลัยครู หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏในปัจจุบันมาเป็นสิบๆ ปี ค่อนข้างมีรสมือ พอย้ายไปอยู่อเมริกา คุณแม่ก็ไปทำงานอยู่ในครัวร้านอาหารไทย ส่วนตัวผมก็ไปเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารไทย

คุณแม่ทำงานอยู่นานเป็นสิบๆ ปี จนกระทั่งเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง ก็คิดที่จะเปิดร้านของตัวเอง ใช้ชื่อว่า Thai Smile เพราะคุณแม่ชื่อเล่นว่ายิ้ม โดยคุณแม่จะเป็นแม่ครัวเอง ส่วนตัวผมทำหน้าที่เป็นพนักงานเสิร์ฟในร้าน” พิริยะย้อนเล่าถึงที่มาของร้าน Thai Smile

จะว่าไปแล้ว หากย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน การที่คนไทยจะเข้าไปลงทุนเปิดร้านอาหารในสหรัฐอเมริกาไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก หรือต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมากเหมือนเช่นปัจจุบัน เพราะ ณ ตอนนั้น คุณแม่ของพิริยะใช้เงินลงทุนเพียงแค่ 4 หมื่นเหรียญ ก็สามารถเปิดร้านอาหารไทยได้แล้ว

“การเปิดร้านอาหารไทยในสมัยก่อนจะเป็นลักษณะการเทคโอเวอร์ร้านอาหารจีน เพราะในอเมริกาจะมีร้านอาหารจีนเยอะมาก เขาจะทำเป็นร้านอยู่แล้ว แล้วครัวจีนกับครัวไทยจะเหมือนกัน คือก็อปปี้ได้เลย พออาหารจีนย้ายออก อาหารไทยเข้าไปได้เลย ไปตกแต่งภายนอกนิดหน่อย มันก็เลยถูกมาก ถ้าเป็นร้านธรรมดาแบบเรียบๆ 3 – 4 หมื่นเหรียญ ก็ทำได้แล้ว ซึ่งเราก็เริ่มจากตรงนั้นเหมือนกัน

แต่เดี๋ยวนี้เปิดร้านอาหารทีหนึ่งต้องใช้เงินเป็นแสนๆเหรียญ อย่างห้องว่างที่จัดเป็นล็อกๆ จะเปิดเป็นร้านอาหาร เราต้องเข้าไปทำตั้งแต่ขุดท่อ วางทอ วางถังดักไขมัน เดินไฟใหม่ คือเหมือนกับทำใหม่หมดเลย ซึ่งที่โน่นค่าวัสดุก่อสร้างแพงมากๆ ฉะนั้นต้องลงทุนอย่างน้อยๆ ประมาณ 3 แสนเหรียญ กว่าจะได้เป็นร้านอาหารหนึ่งร้าน”

เมื่อเปรียบเทียบเม็ดเงินการลงทุนเปิดร้านอาหารในอดีตกับปัจจุบันแล้ว ต้องบอกว่าพิริยะเป็นคนไทยที่โชคดี เพราะไม่ต้องใช้เงินลงทุนเปิดร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกาที่สูงนัก

ขณะที่ความได้เปรียบอีกหนึ่งอย่าง คือ เมื่อไปบุกเบิกเปิดร้านอาหารไทยที่เมือง Palm Springs เป็นเจ้าแรกๆ ทำให้ปัจจุบัน Thai Smile กลายเป็นร้านอาหารไทยประจำเมือง Palm Springs ไปแล้วก็ว่าได้ เพราะในแต่ละวันจะมีทั้งลูกค้าประจำและขาจรมาทานอาหารที่ร้านเป็นจำนวนมาก

Thai Smile เป็นร้านอาหารไทยที่มีสไตล์การตกแต่งร้านเป็นลักษณะไทยประยุกต์ ผสมผสานระหว่างโมเดิร์นกับความเป็นไทยเข้าด้วยกัน โดยใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ส่งตรงจากเมืองไทยมาตกแต่งร้าน

ส่วนรสชาติอาหารก็จะเป็นลักษณะไทยประยุกต์เช่นกัน เพื่อให้ลูกค้าอเมริกันสามารถทานอาหารไทยได้

“สมัยก่อนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อาหารไทยในต่างแดน ถ้าไม่พูดถึงขายคนไทยด้วยกันนะ ขายฝรั่งแท้ๆ เขาจะไม่รับกับรสชาติจัดๆ อย่างเผ็ด, เปรี้ยว, หวาน, เค็ม และเมืองที่เราอยู่มันแยกมาจากแอลเอ ไกลมาก สมัยก่อนจะไม่มีคนไทยเลย

เพราะฉะนั้นรสชาติอาหารที่ร้านจะออกหวานกว่าอาหารไทยปกติ จะเป็นลักษณะไทยประยุกต์เพื่อให้ฝรั่งทานได้ แล้วพอ 5 ปีมานี้ ร้านอาหารไทยบูมมาก ฝรั่งจะรู้จักอาหารไทยมากขึ้น ตอนนี้ที่ร้านเลยปรับปรุงรสชาติให้เป็นไทยขึ้นเรื่อยๆ มีรสจัดขึ้น”

เรียกได้ว่ารสชาติอาหารไทยที่ร้าน Thai Smile ได้รับการตอบรับจากคนอเมริกันเป็นอย่างดี ดังนั้นพิริยะจึงขยายสาขาไปยังเมืองท่องเที่ยวของรัฐแคลิฟอร์เนียอีก 2 แห่ง คือที่เมือง Rancho Mirage และเมือง La Quinta

“ร้านแรกที่เมือง Palm Springs จะจุลูกค้าได้ 60 ที่นั่ง ร้านที่สองเมือง Rancho Mirage จุลูกค้า 67 ที่นั่ง ส่วนร้านที่สามที่เมือง La Quinta จุลูกค้าประมาณ 200 ที่นั่ง โดยการบริหารร้านจะใช้รูปแบบบริษัท ซึ่งแยกเป็น 3 บริษัทรับผิดชอบ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการร้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะการทำธุรกิจร้านอาหารที่อเมริกาจะมีการตรวจสอบเข้มงวดมาก โดยจะมีเจ้าหน้าที่ซึ่งเหมือนกับ อย.ในบ้านเรามาตรวจร้านทุกๆ 3 เดือน ฉะนั้นเจ้าของร้านจึงต้องให้ความสำคัญทั้งคุณภาพอาหารและคุณภาพร้าน”

พิริยะ บอกว่า เมนูอาหารไทยที่เป็นที่นิยมของคนอเมริกันมีหลากหลายเมนู เริ่มตั้งแต่ต้มยำกุ้ง, ต้มข่าไก่, ปอเปี๊ยะทอด, แกงต่างๆ, ผัดกะเพรา แต่ที่เป็นขวัญใจตลอดกาลต้องยกให้ผัดไทย ยังขายดีเป็นอันดับหนึ่ง เฉพาะที่ร้าน Thai Smile สาขาเดียวก็ผัดกันวันหนึ่งๆ เป็นร้อยจานแล้ว

ส่วนราคาอาหารนั้น ลูกค้าสามารถเลือกทานได้ที่ราคาเริ่มต้น 5 เหรียญ จนถึง 20 เหรียญ

“ในตลาดอเมริกา ถ้าเปรียบเทียบอาหารไทยกับอาหารชาติอื่น อาหารไทยน่าจะเป็นรองแค่อาหารญี่ปุ่น เพราะคนอเมริกันยังนิยมทานอาหารญี่ปุ่นแม้จะมีราคาแพง เพราะอาหารญี่ปุ่นจะออกแนวอาร์ต ฉะนั้นเขาสามารถขายราคาแพงได้ ส่วนอาหารจีนและอาหารเวียดนามถือว่าได้รับความนิยมน้อยกว่าอาหารไทย”

ตรงนี้น่าจะชี้ให้เห็นว่า โอกาสการเปิดร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกายังมี ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีร้านอาหารไทยอยู่เป็นจำนวนมากแล้วก็ตาม

ขณะที่พิริยะเองก็ยังแนะนำว่า สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่น่าลงทุน เนื่องจากมีอีกหลายเมืองที่ไม่มีร้านอาหารไทยเปิดให้บริการ แต่น่าเสียดายที่ผ่านมาคนไทยมักไปแย่งกันเปิดร้านในเมืองๆ เดียวกัน อย่างในแอลเอที่มีร้านอาหารไทยเป็นพันๆ ร้าน ฉะนั้นก็จะเป็นการฆ่ากันเอง

“คอนเซ็ปต์เวลาผมหาทำเลเปิดร้านใหม่ ผมคิดว่าจะไปหาเมืองที่มันยังไม่มีร้านอาหารไทย แทนที่จะไปดูว่าร้านอาหารไทยตรงไหนขายดีแล้วไปแย่งเปิดตรงนั้น ผมจะไม่ทำอย่างนั้นเด็ดขาด แต่ผมจะไปดูเมืองที่คิดว่าเราน่าจะเป็นผู้บุกเบิกได้อีก ซึ่งยังมีอีกเยอะมาก เพราะว่าอเมริกาใหญ่มากๆ แม้จะมีร้านอาหารไทยเยอะแล้ว แต่ก็ยังไม่ทั่วถึงมากนัก

ฉะนั้นการเลือกทำเลถือเป็นองค์ประกอบสำคัญมากๆ ถ้าให้เลือกระหว่างร้านที่ค่าเช่าแพงๆ แต่ทำเลดี มีคนเดินเยอะ กับทำเลที่ถูกๆ แล้วไม่ค่อยมีคน ผมจะเลือกทำเลที่มีคนมากกว่า ยอมจ่ายค่าเช่าแพง แต่มันคุ้มกว่า ที่รู้ๆ ความเสี่ยงมันน้อยกว่า”

จะเห็นได้ว่าการเปิดร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกา นอกจากต้องใช้เงินลงทุนขั้นต้นที่สูงแล้ว พิริยะ บอกอีกว่า เจ้าของร้านยังต้องเตรียมเงินไว้เพื่อหมุนเวียนภายในร้านอีกจำนวนหนึ่ง อย่างน้อยๆ ต้องมีเป็นหมื่นเหรียญเลยทีเดียว

“สมมติเราลงทุนเปิดร้านสัก 2 แสนเหรียญ จำนวน 50 ที่นั่ง เราน่าจะมีสักหมื่นเหรียญในการแบ็คอัพร้าน เพราะว่าพอเปิดร้านปุ๊บ โดยเฉพาะร้านที่ไม่เคยมีชื่อเสียงมาก่อน คนจะยังไม่รู้จัก แล้วมันต้องใช้เวลา

บางร้านใช้เวลาเป็นปีๆนะ อย่างร้านเพื่อนผมอยู่ในบอสตัน ใช้เวลา 3 ปี มีเงินแบ็คอัพเป็นแสนๆ เหรียญ จนวันหนึ่งพอเขาติดตลาดปุ๊บ เขารวยเลย ขยายสาขา 3-4 ร้านติดๆ กัน บางทีมันต้องใช้เวลา โอกาส และจังหวะ จึงจะประสบความสำเร็จ ฉะนั้นต้องอดทน และมีเงินทุนเพียงพอ”

อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องเงินทุนที่เป็นปัญหาและอุปสรรคในการเปิดร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกาแล้ว ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือการขาดแคลนบุคลากร เนื่องจากคนไทยที่มีใบอนุญาตทำงานจริงๆ มีน้อย ประกอบกับสหรัฐอเมริกาค่อนข้างเข้มงวดหากเจ้าของร้านหรือนักธุรกิจไทยจะนำบุคลากรจากเมืองไทยเข้าประเทศ

“เจ้าของร้านอาหารไทยส่วนใหญ่แก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้วยการนำคนพื้นที่มาฝึก แต่พ่อครัวแม่ครัวส่วนใหญ่ยังเป็นคนไทย ฝรั่งจะเป็นพนักงานเสิร์ฟมากกว่า อย่างร้าน Thai Smile สาขาแรกจะเป็นคนไทยทั้งหมดทั้งหน้าร้านและหลังร้าน ส่วนร้านที่สองและสามหน้าร้านจะเป็นฝรั่ง ส่วนหลังร้านก็จะเป็นคนไทย”

สุดท้ายพิริยะ แนะนำผู้ที่สนใจจะไปลงทุนเปิดร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกาว่า ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ควรติดต่อกับกรมส่งเสริมการส่งออกว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง เพราะการที่จะไปลงทุนที่โน่น หากคนที่ไม่เคยมีใบทำงานหรือไปลงทุนมาก่อนจะต้องใช้เงินทุนสูงมากเพื่อที่จะต้องไปขอวีซ่าในการทำธุรกิจ ฉะนั้นก่อนอื่นต้องหาเงินทุนให้ได้ก่อน

***********************************

************* ข้อมูลจากนิตยสาร SMEs Today ฉบับที่ 72 ประจำเดือนตุลาคม 2551 **************
กำลังโหลดความคิดเห็น