6 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกดอก ดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีเดือน ก.ค. และคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็น 38.5 และ 43.8 โดยธุรกิจปั๊มน้ำมัน บริการก่อสร้าง ปรับเพิ่มสูงสุด
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนกรกฎาคม 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 38.5 จากระดับ 37.7 โดยมีผลมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของกิจการภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ซึ่งอยู่ที่ 38.5 และ 39.0 จากระดับ 37.0 และ 38.3 ขณะที่ภาคค้าส่ง ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 37.0 จากระดับ 38.1 ส่วนความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจประเทศและธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 33.4 และ 36.9 จากระดับ 29.7 และ 31.4 ตามลำดับ
โดยค่าดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนี้ มีผลมาจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐ “6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน” ซึ่งส่งผลในด้านบวกต่อความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ขณะเดียวกันต้นทุนในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการในบางประเภทธุรกิจปรับตัวลดลง ส่งผลให้ระดับความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภทกิจการ พบว่า ในส่วนของภาคการค้าปลีก ธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 41.8 จากระดับ 36.9 (เพิ่มขึ้น 4.8) ภาคบริการ ธุรกิจบริการก่อสร้าง มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 35.9 จากระดับ 32.3 (เพิ่มขึ้น 3.5) รองลงมาคือบริการขนส่ง อยู่ที่ 35.7 จากระดับ 33.8 (เพิ่มขึ้น 1.9) ซึ่งการปรับตัวเพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจที่กล่าวข้างต้นนี้ มีผลมาจากการประกาศใช้นโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล โดยเฉพาะการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง ส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันขายปลีกปรับตัวลดลง และช่วยให้อำนาจซื้อของประชาชนปรับตัวดีขึ้น ส่วนภาคการค้าส่ง ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง โดยมีธุรกิจค้าส่งสินค้าเกษตร ค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 37.2 จากระดับ 39.2 (ลดลง 2.0)
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 43.8 จากระดับ 40.5 และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกประเภทกิจการ โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 41.9 43.6 และ 44.6 จากระดับ 38.6 40.8 และ 41.0
อย่างไรก็ดีค่าดัชนีความเชื่อมั่นทั้งปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า แม้จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 แสดงว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจในระดับที่ไม่ดีนัก โดยเห็นว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจมากที่สุด ได้แก่ ราคาต้นทุนสินค้าและค่าแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น รองลงมาคือ ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศ อำนาจซื้อของประชาชน ระดับราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง และภาวะการแข่งขันในตลาด เป็นต้น
สำหรับดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการรายภูมิภาค 5 ภูมิภาค เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน พบว่า ส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเหนือ ซึ่งมีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 38.9 จากระดับ 36.0 (เพิ่มขึ้น 2.9) เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของภาคการค้าปลีกและภาคบริการ โดยเฉพาะกิจการสถานีบริการน้ำมัน และบริการด้านการก่อสร้าง ซึ่งมีผลมาจากการดำเนิน 6 มาตรการ 6 เดือนของภาครัฐ และระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลอย่างชัดเจนต่อยอดจำหน่ายน้ำมันของกิจการค้าปลีกน้ำมันในภูมิภาคนี้ ขณะเดียวกันก็สร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคของประชาชน ส่งผลให้ยอดจำหน่ายสินค้าและบริการในภาพรวมของภูมิภาคนี้ปรับตัวดีขึ้น
รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 41.5 จากระดับ 40.3 (เพิ่มขึ้น 1.2) ภาคใต้ เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 43.3 จาก 42.4 (เพิ่มขึ้น 0.9) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 31.5 จากระดับ 31.4 (เพิ่มขึ้น 0.1) มีเพียงกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภูมิภาคเดียวที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 36.7 จากระดับ 37.6 (ลดลง 0.9)