xs
xsm
sm
md
lg

ความเชื่อมั่น SMEs ทรุดฮวบ เทกระจาดฝ่อทุกกิจการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สสว. เผยดัชนีความเชื่อมั่น SMEs ประจำเดือน มิ.ย. ทั้งปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ลดลงเป็น 37.7 และ 40.5 และเป็นการลดลงทุกประเภทกิจการ ลุ่มบริการลดต่ำที่สุด เหตุอยู่นอกฤดูการท่องเที่ยว ส่วนภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครองแชมป์ดัชนีลดลงสูงสุด

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนมิถุนายน 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงเป็น 37.7 จากระดับ 40.0 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงทุกประเภทกิจการ โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ลดลงอยู่ที่ 38.1 37.0 และ 38.3 จากระดับ 40.3 39.7 และ 40.1 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจประเทศและธุรกิจตนเอง ก็มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงเป็น 29.7 และ 31.4 จากระดับ 28.1 และ 36.2 ตามลำดับ

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภทกิจการ พบว่า ในส่วนของภาคการค้าส่ง ธุรกิจค้าส่งสินค้าเกษตร มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 39.2 จากระดับ 42.5 (ลดลง 3.3) เนื่องจากผู้ประกอบการมียอดจำหน่ายและกำไรลดลง ซึ่งมีผลมาจากผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง ประกอบกับอยู่ในช่วงที่มีฝนตกหนักทำให้สินค้าหลังการเก็บเกี่ยวเน่าเสียและมีคุณภาพลดลง ขณะที่ภาคการค้าปลีก ธุรกิจค้าปลีกรถยนต์ รถจักรยานยนต์ มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 38.4 จากระดับ 42.8 (ลดลง 4.4) เนื่องจากประชาชนชะลอการตัดสินใจซื้อ ซึ่งมีผลมาจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจและระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมาก

ส่วนภาคบริการ ธุรกิจสันทนาการ วัฒนธรรม การกีฬา มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 39.7 จากระดับ 45.2 (ลดลง 5.5) และนับเป็นกลุ่มที่ลดลงมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับทุกประเภทกิจการที่สำรวจ โดยมีผลมาจากมียอดการใช้บริการลดลง เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยวประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ มีค่าดัชนีปรับตัวลดลง อยู่ที่ 40.5 จากระดับ 41.8 (ลดลง 1.3) ซึ่งปรับตัวลดลงทุกประเภทกิจการเช่นกัน โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 38.6 40.8 และ 41.0 จากระดับ 41.1 41.5 และ 42.4 (ลดลง 2.5 0.7 และ 1.5 ตามลำดับ)

ทั้งนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นทั้งปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ที่ลดลงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 แสดงว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจไม่ดีนัก โดยเห็นว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจในระดับสูง ได้แก่ ระดับราคาต้นทุนสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น อำนาจซื้อของประชาชนที่ลดลง ระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ เป็นต้น

สำหรับดัชนี TSSI SMEs ไตรมาส 2/2551 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2551 พบว่า ค่าดัชนีปรับตัวลดลงทั้งปัจจุบันและไตรมาสหน้า โดยอยู่ที่ 39.6 และ 41.7 จากระดับ 44.1 และ 46.7 และเป็นการลดลงทุกประเภทกิจการ โดยเมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภทกิจการ พบว่า ภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีกและภาคบริการ ดัชนีลดลงอยู่ที่ 39.2 38.9 และ 40.5 จากระดับ 43.5 43.1 และ 45.4 (ลดลง 4.3 4.2 และ 4.9) ส่วนความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจประเทศและธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 30.6 และ 35.3 จากระดับ 38.7 และ 43.7 (ลดลง 8.1 และ 8.4) ตามลำดับ

ทั้งนี้มีผลมาจากในช่วงไตรมาส 2 มีปัจจัยลบด้านต่างๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว ระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการและค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความขัดแย้งสูง ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ ปรับตัวลดลง

ส่วนดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการรายภูมิภาค 5 ภูมิภาค เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม พบว่า มีการปรับตัวลดลงทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 31.4 จากระดับ 38.0 (ลดลง 6.6) เนื่องจากการปรับตัวลดลงในทุกภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกิจการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ทั้งค้าส่งวัสดุก่อสร้างและบริการการก่อสร้าง ซึ่งมีผลมาจากราคาวัสดุก่อสร้างมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง รองลงมาคือกรุงเทพฯ ปริมณฑล ลดลงอยู่ที่ 37.6 จากระดับ 39.6 (ลดลง 2.0) ภาคใต้ ลดลงอยู่ที่ 42.4 จาก 44.1 (ลดลง1.7) ภาคเหนือ ลดลงอยู่ที่ 36.0 จากระดับ 37.0 (ลดลง 1.0) และภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ลดลงอยู่ที่ 40.3 จากระดับ 40.6 (ลดลง 0.3)
กำลังโหลดความคิดเห็น