xs
xsm
sm
md
lg

เห็ดนางฟ้าแปลงโฉม ‘ป้าสุมล’ ต้นตำรับเนรมิตสารพัดเมนู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัจจุบันการนำเห็ดนางฟ้ามาแปรรูปเป็นเมนูต่างๆ เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ทว่า น้อยคนจะรู้ว่า ผู้ให้กำเนิดเมนูนี้จนแพร่หลายไปทั่วประเทศ คือ “ป้าสุมล ขันทองคำ” ผู้ล่วงลับ แม้วันนี้ เธอจะจากไปแล้ว แต่ด้วยความมุ่งมั่นของทายาทธุรกิจอย่าง “นิติมา ขันทองคำ” ยังคงสานต่อเจตนาให้สินค้าทรงคุณค่าตลอดไป

นิติมา ขันทองคำ
จุดเริ่มต้นของธุรกิจเปรียบเหมือนการพลิกวิกฤตสู่โอกาสครั้งใหม่ จากการบอกเล่าของ “นิติมา ขันทองคำ” เจ้าของธุรกิจในปัจจุบัน ย้อนให้ฟังว่า ครอบครัวพื้นเพเป็นชาวเพชรบุรี แต่ไปใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจหลายอย่างอยู่ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เธอยังเล็ก ฐานะในเวลานั้นอยู่ในขั้นสุขสบาย กระทั่ง เศรษฐกิจสบู่แตก ธุรกิจที่มีอยู่ค่อยๆ ปิดตัวไปทีละอย่าง จนที่สุด กลายเป็นหนี้ล้มละลาย ซ้ำร้ายสามีของเธอก็ถูกโรคร้ายคร่าชีวิตไปในเวลาใกล้เคียงกัน
เห็ดแดดเดียว ขีดละ 35 บ.
“ตอนนั้น ชีวิตมันท้อแท้ไปทุกด้าน ทั้งครอบครัวเหลือเงินติดตัวแค่ 3,000 บาท แม่ (สุมล ขันทองคำ) ก็เลยชวนกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด อย่างน้อยก็เป็นที่ดินของเราเอง ค่าของชีพก็ถูกกว่า พอกลับมาก็มาปลูกผักริมรั้วขุดบ่อเลี้ยงปลากินกันเองในครอบครัว และเอาส่วนหนึ่งไปขายตลาด แต่รายได้ก็ไม่ดีนัก” นิติมา เล่าให้ฟังถึงชีวิตที่ผ่านมา

กระทั่ง มีผู้แนะนำให้เพาะเห็ดนางฟ้าขาย เนื่องจากลงทุนไม่สูง เพาะง่าย และให้ผลผลิตรวดเร็ว จึงทดลองเพาะ แล้วเก็บดอกไปขายที่ตลาดสดเมืองเพชร วันละ 20 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 25 บาท ปรากฏว่า ขายดีมาก มีรายได้ 500 บาทต่อวัน ซึ่งในเวลานั้นก็ถือว่าดีมากแล้วสำหรับครอบครัว
เห็ดนางฟ้า 3 รส สินค้ายอดฮิต
อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาดี แถมยังเพาะง่าย จึงมีคนแห่มาเพาะเห็ดนางฟ้าขายจำนวนมาก จนเกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด ราคาตกเหลือแค่กิโลกรัมละ 5 บาท กระทบรายได้ของครอบครัวขันทองคำ เห็ดที่เพาะไว้ ก็ขายไม่ออก จนเน่าเสีย

“แม่เสียดายเห็ดที่อุตสาห์เพาะมา เลยลองเอาเห็ดนางฟ้ามาประยุกต์ทำเป็นอาหารต่างๆ เริ่มจากทำน้ำพริกมะขามเห็ดนางฟ้ากินกันเองในครอบครัว ก็รู้สึกมันอร่อยดี พอฝากคนใกล้ชิด ก็ติดกันใจกันทุกคน จนนายอำเภอเมืองเพชรบุรี ได้มีโอกาสกิน ท่านก็ชอบ จึงแนะนำให้ไปขายหน้างานประชุมประจำจังหวัด ปรากฏว่า ขายดีมาก และได้ออเดอร์ตามกลับมาจำนวนมาก ทำให้เริ่มธุรกิจแปรรูปเห็ดนางฟ้าอย่างจริงจังประมาณปี 2542” นิติมา เล่าถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจ
ทองพับเห็ดนางฟ้า
ไม่เพียงแค่น้ำพริกมะขามเห็ดนางฟ้าเท่านั้น ป้าสุมลยังคิดค้นเมนูแปรรูปเห็ดนางฟ้าอีกหลายหลาก เช่น น้ำพริกตาแดงเห็ดนางฟ้า น้ำพริกเผาเห็ดนางฟ้า เห็ดนางฟ้าแดดเดียว ทองม้วนเห็ด และทอดมันเห็ด เป็นต้น โดยเฉพาะสินค้าอันดับหนึ่ง คือ เห็ดหยอง หรือเห็ดนางฟ้า 3 รส ซึ่งใช้เวลาทดลองนานกว่า 6 เดือน โดยเคล็ดลับทำให้ได้ความกรอบ และรสชาติคงเดิม คือ ต้องทอดทันทีหลังจากฉีกเห็ดนางฟ้าสดเป็นชิ้นเล็กๆ และคลุกด้วยซีอิ๊วขาวคุณภาพดี รวมถึง น้ำมันที่ใช้ทอดซ้ำไม่เกิน 2 ครั้ง ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เก็บรักษาไว้กินได้นานถึง 3 เดือน
น้ำพริกเผาเห็ดนางฟ้า
จากความโดดเด่นของสินค้าที่ไม่เคยมีมาก่อน ประกอบกับเป็นเมนูเพื่อสุขภาพที่ให้โปรตีนเหมือนเนื้อสัตว์ แต่ไร้ไขมัน และมีเส้นใยมาก ช่วยในระบบขับถ่าย ผลิตภัณฑ์แปรรูปเห็ดนางฟ้า จึงได้คำสั่งซื้อจำนวนมาก ดังนั้น ป้าสุมล จึงรวบรวมชาวบ้านในท้องถิ่น ตั้งกลุ่มสตรีอาสาพัฒนา (เห็ดนางฟ้าแปรรูป) อ.เมือง จ.เพชรบุรี เพื่อช่วยกันผลิตสินค้า ภายใต้ชื่อ “ป้าสุมล” มีสมาชิกตั้งต้นประมาณ 50 คน โดยป้าสุมลรับหน้าที่ประธานกลุ่มฯ นอกจากนั้น ยังรับเป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้การแปรรูปเห็ดนางฟ้า แก่กลุ่มอาชีพต่างๆ ทำให้เมนูชนิดนี้ แพร่หลายไปทั่วประเทศ

อย่างไรเสีย ธุรกิจที่มีแนวโน้มกำลังจะไปได้ดี กลับต้องพบมรสุมอีกครั้ง เมื่อป้าสุมล ขันทองคำ เสียชีวิตลงในปี 2547

“ที่ผ่านมา แม่จะเป็นเสาหลักมาตลอด ดิฉันจะคอยช่วยเหลืออยู่ข้างหลัง พอแม่เสีย เราก็หมดกำลังใจไม่อยากจะทำต่อแล้ว แต่ปรากฏว่า ลูกค้าก็ยังสั่งออเดอร์เข้ามาต่อเนื่อง มันทำให้เห็นว่า สิ่งที่แม่สร้างสรรค์ไว้ยังเป็นที่ต้องการของลูกค้าอยู่ ช่วยเป็นแรงผลักดันให้เราต้องสานต่อสิ่งที่แม่เคยสร้างไว้” นิติมา เผย
ทอดมันเห็ดนางฟ้า
ทั้งนี้ เธอต่อยอดระดับสินค้าให้ได้มาตรฐาน เช่น ผลิตภัณฑ์เห็ดนางฟ้า 3 รส สินค้าอันดับหนึ่ง ผ่านการรับรองทั้ง มาตรฐาน อย. มผช. ได้เป็นสินค้าโอทอป 5 ดาว ได้รางวัลด้านอาหารแปรรูป จากม.เกษตรศาสตร์ และชนะเลิศ อันดับ1 การประกวดการผลิตอาหารใส่เกลือไอโอดีนของ จ.เพชรบุรี เป็นต้น

นอกจากนั้น ผลักดันเข้าจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า โดยได้รับสินเชื่อสนับสนุน จำนวน 2 แสนบาท จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นทุนหมุนเวียน
แหนมเห็ดนางฟ้า
กลุ่มลูกค้าหลักของผลิตภัณฑ์เห็ดแปรรูป “ป้าสุมล” ได้แก่ ผู้รักสุขภาพ และผู้บริโภคอาหารมังสวิรัติ มีช่องทางจำหน่าย ได้แก่ ร้านโกลเด้นเพลส ร้านสวนจิตรลดา ดอยคำ ห้างสรรพสินค้า และออกบูทตามงานแสดงสินค้าโอทอป รวมถึง มีตัวแทนสั่งออเดอร์ไปจำหน่ายต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และอังกฤษ เป็นต้น ต่อวันมีความจำเป็นที่ต้องรับซื้อเห็ดนางฟ้าสดมาแปรรูปประมาณ 100 กิโลกรัม รายได้ยังไม่หักค่าใช้จ่ายประมาณ 1 แสนบาทต่อเดือน

ในส่วนของปัญหานั้น นิติมา ระบุว่า ทุกวันนี้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นราคาเห็ดนางฟ้าที่รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 35 บาท โดยเห็ดนางฟ้าสด 5 กิโลกรัม นำมาแปรรูปเป็นเห็ดหยองได้เพียง 9 ขีด เมื่อบวกกับค่าน้ำมันพืช น้ำตาล และอื่นๆ ที่สูงขึ้นมาก ทำให้ราคาที่ขายขีดละ 35 บาท แทบจะไม่เหลือกำไรเลย ซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาเวลานี้ พยายามลดต้นทุนแฝง เช่น หาบรรจุภัณฑ์ที่ประหยัดขึ้น และจัดกระบวนการขนส่งสินค้าให้ดียิ่งขึ้น

*****************

โทร. 032 455 040 , 081 843 8673
กำลังโหลดความคิดเห็น