xs
xsm
sm
md
lg

สยามเอ็นเนอยีปิดข้อมูลโรงไฟฟ้า ชาวบางคล้าหวั่นมลพิษ-แย่งชิงน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าฯแปดริ้วพบกับกลุ่มผู้ชุนมุมค้าโรงไฟฟ้า และสรุปมีการตั้งกรรมการไตรภาคี ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมยอมสลายตัว
ผู้จัดการรายวัน - การเคลื่อนไหวปิดถนนประท้วงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของชาวบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ยืดเยื้อข้ามวันข้ามคืน เพื่อรักษาวิถีชีวิตที่พึ่งพิงการทำเกษตรกรรมทำสวนผลไม้ ประมง ที่อาจสูญสิ้นไปหลังโรงไฟฟ้าขนาด 1,600 เมกะวัตต์ เกิดขึ้น ไม่นับมลพิษทางอากาศ การแย่งชิงน้ำ นับเป็นความวิตกจากบทเรียนที่มีให้เห็นเป็นตัวอย่างในแต่ละพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่ เช่น ราชบุรี สระบุรี ที่สำคัญเหนืออื่นใดเมื่อเกิดปัญหาขึ้นกลับไม่มีการแก้ไข ผู้ได้รับผลกระทบถูกทอดทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายเอกชนผู้ลงทุนหรือหน่วยงานรัฐฯในฐานะผู้คุมกฎ

นายธีระ วนิชย์ถนอม แกนนำการชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ เปิดเผยว่า การชุมนุมปิดถนนยืดเยื้อกว่า 2 วันของชาวบางคล้าได้สลายตัวลงแล้วเมื่อวานนี้ (24 ก.ค.) หลังจากนายอานนท์ พรหมนารถ ผู้ว่าฯ ฉะเชิงเทรา ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคีจาก 3 ฝ่าย คือ ตัวแทนชาวบ้าน บริษัท และทางราชการ เข้ามาศึกษาผลกระทบจากโครงการ โดยใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จากนั้นนำผลศึกษามาทำประชาพิจารณ์ว่าชาวบ้านจะยอมรับหรือไม่ ในระหว่างนี้ทางจังหวัดมีคำสั่งให้บริษัทฯยุติการดำเนินการต่างๆ ไว้เป็นการชั่วคราว

โรงไฟฟ้าเอกชนสยามเอนเนอร์ยี หรือ โรงไฟฟ้าเสม็ดใต้ ตั้ง อยู่ในพื้นที่ หมู่ 4 ต.เสม็ดใต้ และหมู่ 5 ต.เสม็ดเหนือ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา บนเนื้อที่ 350 ไร่ เจ้าของโครงการนี้คือ บริษัทสยามเอนเนอร์ยีพาวเวอร์ซัพพลาย จำกัด ซึ่งถือหุ้นโดย บ.กัลฟ์ เจ พี - Gulf JP (เดิมคือบริษัทกัลฟ์ อิเล็กตริกจำกัด เมื่อมีบริษัทจากญี่ปุ่นมาถือหุ้นครึ่งหนึ่งจึงเปลี่ยนชื่อเป็น Gulf JPโดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานจากประเทศญี่ปุ่นชื่อบริษัทเจเพาเวอร์ ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 50 โรงไฟฟ้าที่จะสร้างขึ้นใช้พลังงานความร้อนร่วมใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง กำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ และใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรอง

โครงการดังกล่าว ผ่านการประมูลเมื่อเดือนมกราคม 2551 และอยู่ในระหว่างการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ – EIA) ส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ (สผ.)โดยคณะผู้ชำนาญการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมชุดโรงไฟฟ้า เป็นผู้ตรวจรายงานเพื่ออนุมัติ โดยมีกำหนดเวลาว่าอีไอเอต้องผ่านการอนุมัติภายในสิ้นเดือนกันยายน 2551 มิฉะนั้นจะไม่มีสิทธิ์ก่อสร้างและเซ็นสัญญาขายไฟฟ้า 25 ปีให้ กฟผ. และขณะนี้อีไอเอ ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

ในระหว่างที่บริษัทกำลังรออนุมัติอีไอเอจาก สผ. ทางกลุ่มชาวบ้านชุมชนในท้องถิ่นได้ลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการเนื่องจากพื้นที่ ต.เสม็ดเหนือ และ ต.เสม็ดใต้ อ.บางคล้า เป็นพื้นที่การเกษตรสวนไม้ผล เช่น มะม่วง, หมาก, มะพร้าวน้ำหอม, มะม่วงส่งออกต่างประเทศหลายพันธุ์ รวมทั้งการทำอาชีพบ่อเลี้ยงปลา, เลี้ยงกุ้งขาว ฯลฯ ถือเป็นพื้นที่ทางการเกษตรที่เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญอีกพื้นที่หนึ่ง ดังนั้น ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเป็นกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าที่จะมาก่อสร้างในต.เสม็ดใต้และเสม็ดเหนือของ บ.สยามเอนเนอร์ยี โดยมีเหตุผลดังนี้

1) โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อพืชผลการเกษตร เช่น สวนผลไม้, บ่อเลี้ยงปลา และกุ้ง รวมทั้งสุขภาพของประชาชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า เนื่องจากโรงไฟฟ้าจะปล่อยมลพิษทางอากาศออกทางปล่องซึ่งสูงตั้งแต่ 20-50 เมตร ซึ่งชาวบ้านใน ต.เสม็ดเหนือ และ ต.เสม็ดใต้ อ.บางคล้า ได้รับรู้ผลเสียของโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซในจังหวัดราชบุรี รวมทั้ง โรงไฟฟ้าบางปะกงของกฟผ.ในอดีตที่ผ่านมาก็ได้เกิดกรณีที่น้ำร้อนของโรงไฟฟ้าทำให้ปลาในกระชังของผู้เลี้ยงปลาตาย มาแล้ว

มลพิษทางปล่องของโรงไฟฟ้าก๊าซ คือ ไนโตรเจนไดออกไซด์, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, ฝุ่นต่างๆ รวมทั้งความร้อนและไอน้ำจากหอหล่อเย็น ซึ่งมีความร้อนอย่างต่ำเท่าน้ำเดือดหรือสูงกว่า 100 องศา เซลเซียส การปล่อยมลพิษและความร้อนจากหอหล่อเย็นนี้ จะปล่อยตลอด 24 ชั่วโมงและตลอดทั้งปี ถ้าโรงไฟฟ้าเดินเครื่อง

การปล่อยมลพิษเหล่านี้จะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ, ทำให้พืชผลการเกษตรเสียหาย ซึ่งชาวบ้านที่อยู่ รอบโรงไฟฟ้าพิกุลทอง อ.เมือง และโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอยี่ อ.เมือง จ.ราชบุรีได้ให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านบางคล้าโดยตรง มลพิษของโรงไฟฟ้าก๊าซแม้จะไม่รุนแรงเฉียบพลันเหมือนโรงไฟฟ้าถ่านหินแต่เป็นมลพิษสะสม ทำลายสิ่งแวดล้อม,สุขภาพ, สัตว์เลี้ยงทางการเกษตรในระยะยาว

ตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นคือ โครงการโรงไฟฟ้าราชบุรี หรือโรงไฟฟ้าก๊าซวังน้อย หรือโรงไฟฟ้าบางปะกงเอง ได้มีการร้องเรียนของชุมชนรอบโรงไฟฟ้าแต่เจ้าของโรงไฟฟ้าเพิกเฉยปกปิดข่าว ใส่ร้ายชาวบ้าน โยนให้ชาวบ้านต้องพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ไม่สนใจความเดือดร้อนของชาวบ้าน

2) โรงไฟฟ้าจะแย่งน้ำ เนื่องจากฤดูแล้งในแถบนี้มีปัญหาน้ำเค็มรุกเข้ามาเพราะน้ำจืดน้อย ดังนั้น ถ้าโรงไฟฟ้ามาตั้งและใช้น้ำจืดจากแหล่งน้ำคลองบางไผ่ จะทำให้มีการขาดแคลนน้ำมากขึ้น

3) บริษัทโรงไฟฟ้าทั้ง บ.กัลฟ์ และ สยามเอนเนอร์ยี ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ชาวบ้านได้รับรู้และไม่เปิดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงแก่ชาวบ้าน บริษัทใช้วิธีเดินหน้าโครงการอย่างเงียบๆ เปิดประชุมชี้แจงโครงการในเวทีที่บริษัทเป็นผู้กำหนดและควบคุมได้เท่านั้น และเปิดเวทีเพียงเพื่อนำรายชื่อชาวบ้านที่เข้าร่วมเวทีไปประกอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ครบถ้วนตามที่ทางสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรกำหนดให้ทำเท่านั้น แม้รายละเอียดโครงการ เช่น ปริมาณการใช้ก๊าซในแต่ละวัน ปริมาณการใช้น้ำในแต่ละวัน หรือปริมาณสารเคมีที่ใช้ในโรงไฟฟ้าหรือแม้แต่ปริมาณ การปล่อยน้ำทิ้งก็ไม่มีการเผยแพร่แก่ชาวบ้านในท้องถิ่น

4) หน่วยงานราชการในจังหวัดสนับสนุนโครงการโดยไม่ถือเป็นหน้าที่ที่จะรับฟังปัญหาและข้อเรียกร้องของชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านยื่นจม.ร้องเรียนก็ไม่ตอบ และไม่พยายามหาข้อมูลให้ชาวบ้าน ทั้ง ๆ ที่โครงการนี้เป็นโครงการของบริษัทเอกชน ที่มีต่างชาติเป็นเจ้าของครึ่งหนึ่ง ชาวบ้านได้รับทราบว่า มีการให้สิ่งตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งผู้นำท้องถิ่น โดยการเลี้ยงอาหาร พาไปดูงาน มีเงินติดกระเป๋าให้ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ก็ไม่เปิดเผยข้อมูลแก่ชาวบ้านแม้ชาวบ้านจะได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ตั้งแต่ก่อนมีการยื่นประมูลโครงการ

5) นโยบายการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นนโยบายที่ละเมิดสิทธิชุมชน, สร้างความขัดแย้ง ผลักให้บริษัทเอกชนเผชิญหน้ากับชาวบ้านในพื้นที่ อย่างไม่มีความรับผิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพิกเฉยต่อการร้องเรียนของชาวบ้าน แม้แต่สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ก็ไม่ตอบสนองเรื่องการขอข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าของชาวบ้าน

เวลานี้ ชาวบ้านที่อยู่โดยรอบโรงไฟฟ้ายังไม่ได้รับรู้ข้อมูลพื้นฐานอย่างเป็นทางการจากทั้งบริษัทเจ้าของโรงไฟฟ้าและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ชาวบ้านต้องหาข้อมูลจาก เว็บไซต์ ของบริษัทกัลฟ์ ฯ, ข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์, และหาข้อมูลจากชาวบ้านด้วยกันเองในพื้นที่ที่สร้างโรงไฟฟ้าไปแล้วในจังหวัดอื่นๆ กระทั่งนำไปสู่การชุมนุมปิดถนนและตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นมาศึกษาผลกระทบ

กำลังโหลดความคิดเห็น