xs
xsm
sm
md
lg

เชือกมัดฟางเติมไอเดีย ยกเครื่องจักสานขึ้นไฮโซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – จังหวัดสระบุรีขึ้นชื่อเป็นแหล่งเลี้ยงโคนมสำคัญของประเทศ ในอดีตแต่ละปีจะมีเชือกพลาสติก พีวีซี ใช้มัดฟางข้าวเลี้ยงวัว เหลือทิ้งเป็นเศษขยะจำนวนมาก ตรงกันข้ามกับปัจจุบัน เชือกพลาสติกมัดฟางกลับกลายเป็นวัตถุดิบมีค่าสำหรับใช้สร้างสรรค์เครื่องใช้และของตกแต่งบ้านเกรดเอ ซึ่งตลาดต่างประเทศให้การตอบรับอย่างสูง

ผู้จุดพลุผลิตภัณฑ์ดังกล่าว คือ นฤมล ทองสิริอนันต์ ชาวบ้านจาก ต.ห้วยขมิ้น อ.หนองแค จ.สระบุรี ซึ่งบุกเบิกอาชีพนี้มากว่า 10 ปีแล้ว โดยจุดเริ่มต้นนั้น เห็นเชือกมัดฟางเหลือทิ้งในท้องถิ่นแล้วเกิดเสียดาย จึงลองใช้ฝีมือโครเชต์ที่มีติดตัว สานถักเชือกมักฟางเป็นเครื่องใช้และของตกแต่งบ้านต่างๆ

ผลงานที่ออกมาไม่เพียงแต่ใช้งานได้อย่างดีเท่านั้น แต่ยังสวยงามและมีเอกลักษณ์อย่างยิ่ง จุดเด่นอยู่ที่ความแข็งแรงทนทานของเชือกพลาสติกพีวีซี แถมยังทำความสะอาดได้ง่าย เมื่อออกขายได้ผลตอบรับอย่างสูง จึงรวมชาวบ้านในท้องถิ่นมาเป็นแรงงานตั้งกลุ่มสตรีห้วยทองหลาง เมื่อปี 2542 มีสมาชิกเริ่มต้น 30 คน ผลิตงานใช้ชื่อการค้า “นฤมล”

เจ้าของธุรกิจ เล่าให้ฟังว่า ใช้ทุนตั้งต้นแค่หลักหมื่นบาท จากนั้นขอสินเชื่อธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อขยายการผลิต ผลงานช่วงแรกๆ เน้นประเภทกระเป๋า กระเช้า และตะกร้า ต่อมา เมื่อได้คำแนะนำของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึง มีหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งมาช่วยยกระดับสินค้า สินค้าได้เพิ่มความหลากหลายยิ่งขึ้น มากกว่า 100 รายการ ไม่ว่าจะเป็นโคมไฟ เก้าอี้ โต๊ะ รองเท้า แจกัน ฉากกั้นห้อง แฟ้มเอกสาร ที่ใส่ขวดไวน์ ฯลฯ

ยิ่งกว่านั้น ต่อยอดนำวัตถุดิบอื่นๆ มาผสม เช่น ใบลาน หวาย ลวดเหล็ก เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ “รังไหม” เหลือทิ้งจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี มาผสมกับงานจักสานเชือกมัดฟางอย่างโดดเด่น กลายเป็นชิ้นงานที่ใครเห็นก็ต้องสะดุดตา จนคว้าโอทอป 5 ดาว 2 สมัยซ้อน ในปี 2546 และ 2547 สร้างชื่อให้ผู้ผลิตชุมชนรายนี้อย่างยิ่ง

ด้านราคาสินค้าเริ่มต้นที่ 20 - 25,000 บาท กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ คือ สุภาพสตรี และกลุ่มโรงแรม สปา โดยตลาดมากกว่า 70% ส่งออกต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ เป็นต้น ส่วนตลาดในประเทศ 30% ขายผ่านงานแสดงสินค้าโอทอปต่างๆ มีรายได้ยังไม่หักค่าใช้จ่ายประมาณ 2-3 แสนบาทต่อเดือน สร้างรายได้ให้สมาชิกที่ปัจจุบันมีประมาณ 100 กว่าคน ราว 3-5 พันบาทต่อเดือน

“จุดเด่นอีกประการของเรา คือ สามารถผลิตสินค้าได้ในปริมาณมาก งานชิ้นเล็กๆ ผลิตได้เป็นหมื่นชิ้นต่อเดือน ทำให้ไม่มีผู้ผลิตรายอื่นเป็นคู่แข่ง ซึ่งการบริหารให้สมาชิกผลิตสินค้าให้ได้ทั้งปริมาณ และคุณภาพตามต้องการ จะใช้วิธีให้สมาชิกแต่ละคนต้องระบุชื่อตัวเองในชิ้นงานที่ทำมาส่ง และต้องผ่านขั้นตอนตรวจสอบคุณภาพสินค้า 3 รอบ ถ้าไม่ผ่านต้องนำกลับไปแก้ใหม่ และจ่ายค่าแรงให้ทุก 15 วัน ซึ่งจากรายได้ที่จูงใจทำให้สมาชิกต้องเร่งทำงาน ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาคุณภาพด้วย” นฤมล เผยถึงหลักการบริหารกลุ่ม

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ลูกชายอย่าง “พงษ์ไพบูลย์ ศรีวรสาร” เข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งในการสานต่อธุรกิจที่ผู้เป็นแม่บุกเบิกไว้ โดยเฉพาะด้านพัฒนาดีไซน์ รวมถึง ขยายตลาดต่างประเทศ

ในความเป็นจริงพงษ์ไพบูลย์ เรียนจบด้านการเกษตร ซึ่งห่างไกลกับงานออกแบบอย่างยิ่ง ทว่า ผลงานจากการสร้างสรรค์ของเขา เคยคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ1 จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์จากรังไหม ในงานมหกรรมไหมไทย ปี 2550 มาแล้ว ซึ่งหลักที่ใช้ในการออกแบบจะศึกษาข้อมูลด้วยตัวเอง ประกอบกับวิเคราะห์กระแสโลก เพื่อให้ผลงานที่ออกมาเป็นที่ต้องการของตลาด

“การออกแบบงานแต่ละชิ้น ผมจะเริ่มจากศึกษาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต เช่น ถ้าจะออกแบบแฟ้มเอกสาร ผมก็ดูข้อมูลพื้นฐานว่าแฟ้มเอกสารมีขนาดมาตรฐานกว้างยาวเท่าใด ทั่วโลกนิยมใช้แบบไหน ส่วนเรื่องสี ก็สังเกตจากแฟชั่นของดีไซน์เนอร์ดังๆ ว่า ปีนี้เขานิยมสีใดกัน เพื่อที่เราจะทำแฟ้มเอกสารที่มีสีเข้ากับชุดเขาได้พอดี”

“ด้านวัตถุดิบพยายามดูกระแสของโลก เช่น ทุกคนกำลังเป็นห่วงเรื่องโลกร้อน ประกอบกับทุกวันนี้ ราคาเชือกมัดฟางสูงถึง 410 บาทต่อม้วน แพงกว่าตอนแม่เริ่มธุรกิจ 2 เท่าตัว ทำให้งานทุกวันนี้ จะลดการใช้วัสดุเชือกพลาสติกลง หันมาใช้วัสดุธรรมชาติทดแทน เช่น ต้นกอ เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสโลก และยังลดต้นทุนการผลิตของเราด้วย” ทายาทธุรกิจ อธิบาย

แผนการตลาดในอนาคตนั้น พงษ์ไพบูลย์ ระบุว่า พยายามเปิดหาตลาดใหม่ในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เช่น กลุ่มตะวันออกกลาง และยุโรป ผ่านการออกโรดโชว์ต่างๆ ส่วนตลาดในประเทศ เตรียมจะหาแหล่งทุนประมาณ 2 แสนบาท สำหรับขยายปริมาณการผลิต เพื่อจะนำไปฝากวางขายตามร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกทั่วประเทศอีกด้วย

โทร.08-1458-9423 , 08-9745-6512
กำลังโหลดความคิดเห็น