xs
xsm
sm
md
lg

“ชิบูย่า” ยกทัพแฟรนไชส์ เสิร์ฟเมนูเส้นเทรนด์ซากุระ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากร้านอาหารญี่ปุ่นสัญชาติไทย “ชิบูย่า” (Shibuya) โดดสู้ศึกในสังเวียนธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นปี 2550 เป็นต้นมา ถึงวันนี้ น้องใหม่รายนี้ เริ่มสร้างชื่อเป็นที่รู้จักของนักชิมมากขึ้นทุกขณะ ด้วยจุดขายเน้นอาหารญี่ปุ่นเมนูเส้นสด พร้อมปรับรสชาติเข้มข้นให้ถูกปากคนไทย
ปริชาติ อัศวเศรณี
ทั้งนี้ ร้านชิบูย่า ใช้แผนการตลาดเริ่มจากขยายสาขาด้วยตัวเอง ใช้ลงทุนไปแล้วกว่า 15 ล้านบาท ถึงปัจจุบัน มี 4 สาขา ได้แก่ เอสพละนาด ฟิวเจอร์รังสิต ซีคอนสแควร์ และชั้นใต้ดิน ซีพี ทาวเวอร์ ตามลำดับ และล่าสุด ก้าวสู่แผนตลาดระยะสอง โดยขยายสาขารูปแบบแฟรนไชส์

***บุกตลาดแฟรนไชส์ต่อยอดแบรนด์***

ปริชาติ อัศวเศรณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิบูย่า ฟู้ด จำกัด เผยว่า สาเหตุการขยายแฟรนไชส์ เพื่อต้องการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ซึ่งการขายแฟรนไชส์จะช่วยขยายเครือข่าย ทั้งปริมาณสาขา และฐานลูกค้าได้เร็วรวดยิ่งขึ้น ประกอบกับเพื่อตอบสนองคำเรียกร้องของลูกค้าหลายรายที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ


“ตั้งแต่เริ่มธุรกิจ ลูกค้าหลายราย พยายามขอซื้อแฟรนไชส์ แต่เรายังไม่พร้อม เพราะกังวลในเรื่องของคุณภาพอย่างมาก เพราะการขายแฟรนไชส์ ถ้าผิดพลาดจะส่งผลกระทบต่อแบรนด์อย่างรุนแรง ดังนั้น จึงใช้เวลาเตรียมตัวด้านวางระบบให้พร้อมเกือบ 1 ปี” เจ้าของธุรกิจ เผย

***วางระบบครัวกลางคุมคุณภาพ***

ระบบควบคุมคุณภาพแฟรนไชส์ให้มีมาตรฐานเดียวกันนั้น ปริชาติ ระบุว่า ใช้ระบบครัวกลางป้อนวัตถุดิบหลักส่งให้แฟรนไชซี ไม่ว่าจะเป็นเส้นสด ซอสปรุงรส น้ำซุปก้อน เป็นต้น ส่วนวัตถุดิบเสริมต่างๆ จะใช้วิธีแนะนำการซื้อ และแหล่งขาย รวมถึง จัดอบรมประมาณ 1 เดือน ถึงวิธีทำเมนูต่างๆ และหลักบริหารร้านครบวงจร
เน้นเมนูเส้นสดต่างๆ
นอกจากนั้น บริษัทฯ ลงทุน 5- 10 ล้านบาท ทั้งด้านเครื่องจักรรองรับขยายกำลังผลิต และด้านระบบขนส่งวัตถุดิบ โดยระยะเริ่มต้นส่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่มาตรการรักษาคุณภาพ มีกำหนดเงื่อนไข เช่น ให้รับวัตถุดิบหลักจากส่วนกลางเท่านั้น เก็บเงินมัดจำป้องกันละเมิดสัญญา และมีทีมตรวจสอบ เป็นต้น
ภาพกราฟฟิกตัวอย่างเคาน์เตอร์แฟรนไชส์ชิบูย่า
สำหรับการลงทุนนั้น วางไว้ 2 รูปแบบ คือ 1. แบบร้านขนาดย่อม พื้นที่ประมาณ 70 ตารางวา เงินลงทุนเบื้องต้นพร้อมเปิดร้าน ประมาณ 1 ล้านบาท และ 2. แบบเคาน์เตอร์ เน้นเปิดบริเวณศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้า เงินลงทุนเบื้องต้นพร้อมเปิดร้านประมาณ 5 แสนบาท

ร้านชิบูย่าสาขาเอสพละนาด
ปริชาติ เผยว่า แฟรนไชส์ชิบูย่า จะใช้จุดขายเดียวกับร้านชิบูย่า เน้นอาหารญี่ปุ่นจานเดียวประเภทเส้นสด มีให้ลูกค้าเลือก 5 เส้น ได้แก่ ราเมน อูด้ง โซบะ โซเมน และอินามิวะ การตกแต่งร้านทันสมัย รสชาติปรับให้เข้มข้นถูกปากคนไทย ในร้านแฟรนไชส์ มีรายการอาหารให้เลือกประมาณ 10 เมนู ทั้งจานหลักและกินเล่น คัดเฉพาะเมนูฮิตและสะดวกในการทำ ส่วนราคาขายจะถูกกว่าที่ร้านหลักประมาณ 20-30% เพื่อให้เหมาะแก่กลุ่มลูกค้าที่จะขยายฐานกว้างขึ้น มุ่งเจาะกลุ่มวัยรุ่นถึงคนทำงาน อายุ 20-40 ปี

***ระบุแฟรนไชส์คืนทุนภายใน 2 ปี****

ปริชาติ เผยต่อว่า การบริหารร้านแฟรนไชส์ จะใช้ร้านสาขาเอสพละนาดเป็นต้นแบบ ซึ่งมีพื้นที่ไม่มาก แต่ประสบความสำเร็จอย่างสูง รายได้ประมาณ 1.5 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้ คาดการณ์คืนทุนแฟรนไชส์ประมาณ 2 ปี บวกลบ 6 เดือนขึ้นอยู่กับทำเล


ส่วนแผนส่งเสริมการตลาดเพื่อสนับสนุนแฟรนไชส์ ปริชาติ ระบุว่า สำรองงบประมาณไว้ที่ 10% ของผลประกอบการ เพื่อทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์ การออกงานแสดงสินค้า และจัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย เป็นต้น

สำหรับเป้าขยายแฟรนไชส์นั้น ตั้งไว้ที่ประมาณ 10 สาขา โดยจะเปิดตัวในงานแสดงสินค้าอาหาร 2551 (THAIFEX-World of food ASIA 2008) ระหว่างวันที่ 21 – 25 พฤษภาคม นี้ ณ เมืองทองธานี นอกจากนั้น เตรียมจะขยายสาขาด้วยตัวเองในปีนี้ อีก1-2 สาขา รวมถึง จะออกผลิตภัณฑ์เส้นญี่ปุ่น บรรจุซอง วางขายในร้านชิบูย่า และห้างสรรพสินค้า ซึ่งจากแผนธุรกิจต่างๆ ทุกด้าน น่าจะช่วยให้ผลประกอบการของบริษัทฯ ปีนี้ (2551) อยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาท

แม้ปัจจุบัน เศรษฐกิจโดยรวมจะชะลอตัว ทว่า มุมมองของปริชาติ เชื่อว่า แฟรนไชส์ชิบูย่าจะมีโอกาสสวนกระแสได้ เนื่องจากความสำเร็จของสาขาที่ผ่านมา รายได้เฉลี่ย แต่ละแห่งอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาทต่อเดือน ยืนยันว่า ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ผลตอบแทนน่าสนใจ รวมถึง ไม่ได้เป็นเพียงธุรกิจแฟชั่นมาไวไปเร็วแน่นอน แต่สามารถประสบความสำเร็จแบบยั่งยืน เพราะปัจจุบัน คนไทยชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นแบบถาวร โดยเฉพาะเมนูเส้น ยิ่งคุ้นเคยกับคนไทยเป็นอย่างดี
สาขา ซีพี ทาวเวอร์
นอกจากนั้น บริษัทฯ มีทีมงานทั้งฝ่ายวิจัยพัฒนา ทีมพ่อครัว ที่จะคิดค้นเมนูใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นความสนใจจากลูกค้าใหม่ให้เข้าร้านสม่ำเสมอ และเมื่อได้ทดลองชิม เชื่อว่า จะเกิดพฤติกรรมกลับมากินซ้ำ กลายเป็นขาประจำ ช่วยให้แบรนด์ชิบูย่าเป็นที่รู้จักมากขึ้น ในฐานะของร้านอาหารญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญเมนูเส้น ซึ่งจะส่งผลดีถึงแฟรนไชซีด้วย

********************************

โทร.02-215-0624-7 , www.shibuyafood.com

ตารางธุรกิจ และความน่าสนใจในการลงทุน “แฟรนไชส์ชิบูย่า”
-มีให้เลือก 2 รูปแบบ ได้แก่
-1.1 ร้านขนาดย่อม ลงทุนเบื้องต้น 1 ล้านบาท
-1.2 แบบเคาน์เตอร์ ลงทุนเบื้องต้น 5 แสนบาท
-คาดการณ์คืนทุนใน 2 ปี บวกลบ 6 เดือน แล้วแต่ทำเล
-กำไรต่อหน่วย 30-50%
-เงื่อนไขกำหนดต้องรับวัตถุดิบหลักจากครัวกลางเท่านั้น ช่วยดูแลด้านมาตรฐาน
-มีอบรมการเปิดร้าน 1 เดือน
-แฟรนไชซอร์ทำตลาดให้ต่อเนื่อง ด้วยงบประมาณจากผลประกอบการ 10%
-บริษัท ชิบูย่า ฟู้ด จำกัด เป็นบริษัทลูกของบริษัท เนเจอร์ เบสฟู้ด จำกัด มีชื่อเสียงมายาวนาน ช่วยให้มั่นใจถึงความมั่นคง


ความเสี่ยง และปัจจัยลบ
-คู่แข่งร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีจำนวนมาก
-เศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคลดจำนวนกินอาหารนอกบ้าน
-ต้นทุนวัตถุดิบด้านอาหารถีบตัวสูง ทำให้กำไรต่อหน่วย มีแนวโน้มอาจลดลง

กำลังโหลดความคิดเห็น