xs
xsm
sm
md
lg

ฉีกกรอบแนวคิด....เนรมิตความรวยด้วยดอกไม้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


๐ ปลุกกระแสใหม่ให้ดอกไม้โกยเงินเข้ากระเป๋า !?
๐ ฉีกกรอบความคิดเดิมด้วยงานวิจัยตอบโจทย์ความต้องการของตลาด สร้างแรงบันดาลใจผู้ประกอบการ
๐ "ดอกไม้" ธรรมชาติใกล้ตัวกำลังจะบานสะพรั่ง ด้วยกลยุทธ์การเพิ่มมูลค่า สร้างสรรค์มูลค่าใหม่ๆ และต่อยอดด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างเหลือเฟือได้อย่างไร ?
๐ 4 พันธมิตรเกาะเกี่ยว โชว์ผลงานแรก "เนรมิต" เครื่องดื่มจากดอกไม้ ในงานนวัตกรรมแห่งชาติ สร้างความสดชื่นง่ายๆ ในวันที่โลกกำลังร้อนขึ้น



เส้นทางความรวยของผู้ประกอบการมากมาย เมื่อค้นเบื้องลึกแล้วจะเห็นว่าส่วนใหญ่มาจากการคิดให้ "หลุดกรอบ" จากความคิดเดิมๆ และมองให้ทะลุถึงความต้องการของตลาด เพื่อพัฒนาและสร้างศักยภาพใหม่ๆ ของตนเองให้สามารถตอบสนองได้อย่างถึงแท้จริง

ในขณะที่ สาเหตุสำคัญของการไปไม่ถึงจุดหมายของผู้ประกอบการหลายคน เมื่อมองให้ชัดจะเห็นว่า หลายคนแม้ว่าจะคิดได้ แต่ไม่ยอมหรือไม่กล้าลงมือทำ เพราะฉะนั้น การทำธุรกิจส่วนมากจึงเป็นการเดินไปบนเส้นทางเดียวกันหรือซ้ำรอยคนอื่นๆ เพราะเห็นว่าคนอื่นทำสำเร็จมาแล้ว

"นวัตกรรม" ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ "หลุดกรอบ" ได้นั้น สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงขนาดจิ๋ว ซึ่งมีจำนวนมากมายและเป็นรากฐานความมั่นคงของประเทศอย่างแท้จริง โดยส่วนใหญ่เข้าใจว่า "นวัตกรรม" ในแง่ของการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เป็นเรื่องไกลเกินฝัน เพราะต้องอาศัยทั้งเงินทุนจำนวนมาก และการวิจัยเพื่อหานวัตกรรมใหม่มีความเสี่ยงจากผลวิจัยที่ได้มาไม่ตอบโจทย์ในเชิงพาณิชย์ ทำให้ต้องสูญเสียเงินก้อนโต

แต่ในความเป็นจริงอีกด้านหนึ่ง ผู้ประกอบการสามารถหาตัวช่วยหรือพันธมิตรได้ในขณะที่มีหน่วยงานหลายภาคส่วนคอยรับบทบาทหน้าที่และสามารถก้าวไปกับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิจัยที่เป็นของรัฐ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานในภาคส่งเสริมผู้ประกอบการ
"ผู้จัดการออนไลน์" นำผลงานนวัตกรรมชิ้นหนึ่งที่เกิดจากความร่วมมือของ 4 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนแรกวิธาน ศิริเบญจวรรณ ในฐานะเจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มในชื่อ "วาสนาน้ำโบราณ" ส่วนที่สอง บริษัท อุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด หน่วยงานในสังกัดสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) ในฐานะผู้สนับสนุนและผลักดันผู้ประกอบการให้เกิดการพัฒนาธุรกิจและสร้างตลาดใหม่ๆ ส่วนที่สาม มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในฐานะผู้วิจัย และส่วนที่สี่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในฐานะผู้ให้งบประมาณในการทำวิจัย เพื่อทำโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากดอกไม้

๐ ช่องทางสร้างอนาคต ดอกไม้ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

"ประเด็นที่น่าสนใจและเป็นแรงจูงใจให้นำดอกไม้มาวิจัยและพัฒนา มาจากการมองในภาพใหญ่ในสิ่งที่ประเทศไทยมีในเรื่องของความหลากหลายในพืชพันธุ์สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างฐานที่แข็งแกร่งของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ และมองว่าน่าจะส่งผลให้เกิดแรงกระตุ้นในวงกว้างกับส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นการมองทั้งภาพกว้างและเชิงลึก" พีรวงศ์ จาตุรงคกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด กล่าวถึงที่มาของความคิดในการนำดอกไม้มาทำการวิจัยเพื่อหาความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์

โครงการวิจัยเริ่มด้วยการคัดเลือกดอกไม้ 5 ชนิดมาเป็นกลุ่มนำร่อง ประกอบด้วย ดอกเข็ม ดอกบัว ดอกกุหลาบ ดอกอัญชัญ และดอกดาหลา ซึ่งวิธีเลือกดอกไม้แต่ละชนิดมาจากเหตุผลที่แตกต่างกัน สำหรับดอกบัวและดอกกุหลาบ เลือกเพราะเป็นดอกไม้ที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคย แต่ดอกเข็ม มีความโดดเด่นมาก นอกจากจะเลือกเพราะเป็นความประทับใจสมัยเด็ก สำหรับน้ำหวานของดอกเข็มมีบุคลิกเฉพาะตัวมาก ซึ่งอาจจะนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้กลายเป็นกระแสความนิยมใหม่ขึ้นมาได้
วิธาน ศิริเบญจวรรณ
ส่วนดอกดาหลา เลือกเพราะเป็นดอกไม้ท้องถิ่นของอัพวาซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังเป็นที่นิยม แต่รสชาติของดอกดาหลามีปัญหาเรื่องความฝาด แต่เมื่อพยายามตอบโจทย์ทางการตลาดจึงทำให้ได้เรียนรู้กระบวนการใหม่ๆ ในการวิจัย ซึ่งสามารถสร้างความสำเร็จให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นได้ เพราะ "พั๊นช์ดอกดาหลา" ของชาวบ้านตัวเล็กๆ คนหนึ่งกลายเป็นกระแสของเครื่องดื่มที่กำลังได้รับความนิยมมากในอัมพวา และกำลังต่อยอดด้วยการสร้างตราสินค้าในระดับชาวบ้าน

พีรวงศ์ บอกว่าคุณประโยชน์ที่วิจัยได้จากดอกไม้ในกลุ่มดังกล่าว มีจุดที่น่าสนใจ คือมีสารต้านอนุมูลอิสระ มีกลิ่นและรสชาติที่มีเอกลักษณ์ และไม่มีผลให้เกิดมะเร็ง เปรียบเทียบได้ว่ามีคุณประโยชน์มากกว่าชาเขียว ซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถสร้างตลาดขึ้นมาด้วยจุดขายเพื่อสุขภาพจนกลายเป็นเครื่องดื่มเซ็กเม้นต์ใหม่ที่มีส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทยสูงมาก

สำหรับ "เครื่องดื่มจากดอกไม้" หรือ flower drink เป็นผลิตภัณฑ์ที่กำลังพัฒนาออกสู่ตลาดเป็นตัวแรก เนื่องจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนี้มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาสินค้าประเภทเครื่องดื่มมากที่สุด ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการระดับชาวบ้านท้องถิ่นและผู้ประกอบการระดับที่ต่อยอดสู่การส่งออก และจะมีการนำออกมาเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการในงานนิทรรศการเทิดพระเกียรติตามรอยเบื้องพระยุคลบาทและงานแสดงผลงานพัฒนาเทคโนโลยีนักศึกษาทุนปริญญาตรี สกว. ครั้งที่ 6 (IRPUS 51) ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 28- 30 มีนาคม 2550 ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน

สำหรับผลงานวิจัยที่ได้เป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยากับบริษัท อุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด ซึ่งการนำผลงานวิจัยมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 2 มิติ คือ มิติการนำผลวิจัยดอกไม้ 5 ชนิดดังกล่าวมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ไอศกรีม ขนมเค้ก ข้าว ฯลฯ และมิติของการต่อยอดในสายผลิตภัณฑ์ใหม่จากวิธีการวิจัยที่ได้มา ซึ่งมีดอกไม้ใหม่ๆ ที่กำลังคัดเลือกเข้าสู่การวิจัย พื้นฐานการเลือกมาจากดอกไม้ไทยที่รับประทานได้ เช่น ดอกเล็บมือนาง เฟื่องฟ้า ฯลฯ และจะมุ่งหาคุณประโยชน์ในเชิงลึก เช่น การช่วยยืดอายุอาหาร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของโครงการทั้งหมด คือการค้นหาโอกาสในเชิงพาณิชย์ทุกอย่างที่ได้จากดอกไม้ โดยเน้นไปที่ดอกไม้ที่ปลูกได้ในประเทศไทยเป็นหลัก ซึ่งดอกไม้มีความได้เปรียบในแง่ที่คนอื่นหรือประเทศอื่นๆ ไม่มีหรือมีแต่ไม่เหมือนกัน ทำให้สามารถสร้างความแตกต่างได้ตั้งแต่จุดเริ่มต้นพื้นฐานของตัวสินค้า และสิ่งสำคัญคือ จุดเด่นของดอกไม้ซึ่งอยู่ที่การมีบุคลิกเฉพาะตัว คือ สี กลิ่น และรสชาติ ทำให้สามารถสร้างให้กลายเป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ได้อย่างชัดเจน

พีรวงศ์ เน้นว่าการคิดนอกกรอบเรื่องดอกไม้ โดยมีงานวิจัยเชิงพาณิชย์ที่สามารถตอบโจทย์ในแง่ของคุณสมบัติของดอกไม้แล้ว เหนือกว่านั้นคือดอกไม้เป็นความใหม่และความแตกต่าง เป็นโอกาสมากมายในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีจุดขายโดดเด่นกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วในตลาด และช่วยสร้างตลาดใหม่ๆ รวมทั้ง ขยายไปสู่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่สนใจได้ ด้วยการนำองค์ความรู้นี้ไปขยายผลหรือต่อยอดได้มากมาย
ลูกค้าที่ติดใจในรสชาติ
"โครงการนี้เหมือนเวลาโยนหินลงในน้ำแล้วน้ำกระเพื่อมเป็นวงกว้างออกไป เพราะคาดหวังให้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และมองหาโอกาสซึ่งมีอยู่มากมาย เพราะไม่แน่ว่าการพัฒนาและวิจัยในขั้นต่อๆ ไป จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อะไรออกมา เช่น เหล้า หรือวิตามิน ฯลฯ บอกได้ว่าผลที่ได้เกินคาดเมื่อชี้วัดจากความคุ้มค่าของกระบวนการที่จะนำไปใช้พัฒนาและวิจัยดอกไม้ชนิดใหม่ๆ ด้วยกระบวนการเดิม เพราะเป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียวและใช้งบประมาณไม่มากนักอยู่ที่หลักแสน แต่นำไปใช้ได้อีกมาก และน่าจะช่วยกระตุ้นนักวิจัยและผู้ประกอบการให้เข้ามาช่วยกันสร้างสิ่งใหม่ๆ"

"คนไทยรู้จักกินดอกไม้มานานแล้ว ทำเป็นอาหารง่ายๆ เช่น ทอดหรือลวกจิ้มน้ำพริก และมีการพัฒนามาใช้กับเรื่องความสวยงาม เช่น ทำเครื่องสำอาง แต่ยังไม่รู้ลึกซึ้งถึงคุณค่าอื่นๆ ตอนนี้เรารู้มากขึ้น รู้คุณประโยชน์ในด้านโภชนาการโดยมีผลวิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์รองรับ และนอกจากการมองโอกาสในการพัฒนาสินค้าใหม่ได้อย่างมหาศาล เมื่อมองอีกทางจะเห็นผู้ปลูกที่จะมีโอกาสมากขึ้น และมองส่วนรวมทำให้โลกสวยงามไปกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี ล้วนแล้วแต่เป็นผลพวงด้านบวกที่เกิดขึ้นตามมา" พีรวงศ์ ทิ้งท้ายด้วยความคิดดีๆ

"ดอกไม้" กำลังเบ่งบาน รอคอยว่าการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่มาสร้างมูลค่าเพิ่ม จะตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ และเนรมิตความร่ำรวยในแบบที่แตกต่างไปจากเดิมได้อีกมากน้อยเพียงใด....

*********************

๐ ตอบโจทย์เครื่องดื่ม 'เนรมิต' เล็งบุกตลาดโลก

แม้ว่าวิธาน ศิริเบญจวรรณ จะเป็นเพียงผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่เน้นการขยายธุรกิจด้วยการขายแฟรนไชส์เครื่องดื่ม "น้ำมะเน็ด" ในชื่อ "วาสนาน้ำโบราณ" แต่การเป็นผู้ประกอบการที่ชอบเสาะหาแนวทางใหม่ๆ มาสร้างโอกาสธุรกิจด้วยการมองภาพรวมของพฤติกรรมผู้บริโภคและสถานการณ์ทางธุรกิจเป็นหลัก

วิธานมองว่า ในปัจจุบันสำหรับสินค้าเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มในประเด็นความต้องการของผู้บริโภค นอกจากเรียกร้องในเรื่องของรสชาติซึ่งผู้ประกอบการต้องเฟ้นหาสินค้าที่สอดรับกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้ได้สูงที่สุดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าแล้ว ในประเด็นของสุขภาพยังใช้เป็นจุดขายได้อีกยาวไกล ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในธุรกิจเครื่องดื่มของผู้ประกอบการต่างๆ ที่เป็นอยู่ส่วนใหญ่มุ่งไปที่การนำผลไม้และชาสมุนไพรมาทำตลาด มองว่าในภาพรวมค่อนข้างอิ่มตัวแล้ว เพราะฉะนั้น "ดอกไม้" จึงเป็นคำตอบที่ดี

"ชอบการทำธุรกิจด้วยการคิดสิ่งใหม่ๆ ที่คนอื่นยังไม่ได้ทำ แต่ในตอนแรกไม่กล้าหวังมาก ก็ถือว่าเกินคาดเมื่อผลวิจัยคุณประโยชน์ของดอกไม้ที่เราอยากทำอยู่แล้ว คิดแค่ให้มีพอๆ กับชาเขียวที่เราใช้เป็นตัวเทียบเคียง แต่พอผลวิจัยที่ออกมาให้ผลว่ามีคุณประโยชน์มากกว่า ยิ่งทำให้เห็นโอกาสที่จะขยายตัวไปเติบโตในต่างประเทศได้มากขึ้น"

สำหรับก้าวแรกของการนำออกสู่เชิงพาณิชย์เป็นการสร้างผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากผลไม้ ซึ่งอยู่ในขั้นของการปรับเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาดให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม มีการวางแผนการตลาดในเบื้องต้นด้วยการสร้างตราสินค้า “เนรมิต” เพราะมีความหมายที่ดีเพื่อใช้ในการทำตลาดได้อย่างหลากหลาย เช่น การเนรมิตสุขภาพที่ดี การเนรมิตความอร่อยแบบใหม่ๆ การเนรมิตตลาดใหม่ ฯลฯ และคาดว่าในไตรมาสที่สี่ของปีนี้จะมีความพร้อมในการนำผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ออกสู่ตลาด ขณะนี้ กำลังดำเนินการเกี่ยวกับการจดสิทธิบัตร

"ในฐานะที่เป็นคนขาย ใช้วิธีการมองกระแสความต้องการของผู้บริโภคก่อน แล้วผลิตสินค้าให้ตรงตามต้องการ ดีกว่าทำออกมาแล้วไม่รู้จะขายใคร สำหรับกระแสสุขภาพมาแรงมากในระดับโลกและไปได้อีกไกล หรือถ้ามองกลับไปในสมัยโบราณที่เรียกว่าน้ำอำมฤต และเห็นว่าบางแห่งใส่ใจสุขภาพมากถึงขั้นไม่ดื่มเครื่องดื่มประเภทคาร์บอนเนต เช่น รัฐมิชิแกน ในสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าทิศทางที่กำลังจะเดินไปของเราน่าจะสดใส แต่ต้องมีพันธมิตรไปกับเราด้วย เพราะด้วยศักยภาพของการเป็นผู้ประกอบการรายเล็กๆ ทำให้มีข้อจำกัด แต่ก็เห็นว่ามีหน่วยงานของภาครัฐที่สนับสนุน เราจะใช้เป็นช่องทางช่วยให้ธุรกิจเราไปได้เร็วขึ้นและไกลขึ้นกว่าเดิม"

แม้ว่าธุรกิจเครื่องดื่ม "น้ำมะเน็ด" ที่ทำอยู่ มีการพัฒนาความหลากหลายมาในระดับหนึ่งซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในตลาดเดิม "วาสนาน้ำโบราณ" มีรสชาติหลักๆ ที่ขายดีประมาณ 10 กว่ารสชาติ และรสชาติที่พัฒนาไว้แล้วประมาณ 40 รสชาติ แต่การต่อยอดธุรกิจเป็นประเด็นที่สำคัญเมื่อมองในภาพรวมของตลาดเครื่องดื่ม การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นไม่ว่าจะต้องเผชิญกับคู่แข่งในระดับเดียวกันหรือใหญ่กว่า การก้าวขึ้นไปแทรกตัวอยู่ในตลาดใหม่ซึ่งไม่มีคู่แข่งหรือคู่แข่งน้อยให้ได้นั้นเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการที่มองอนาคตต้องการจะไปให้ถึง

สำหรับ "เนรมิต" เป็นเป้าหมายใหม่ที่ช่วยให้เห็นการยกระดับการพัฒนาธุรกิจครั้งสำคัญ และเพิ่มศักยภาพการก้าวไปในตลาดโลก

****************
การพัฒนาสินค้าใหม่
'พั๊นช์ดอกดาหลา' สร้างกระแส ดื่มกระจาย

"พั๊นช์ดอกดาหลา" กลายเป็นเครื่องดื่มพื้นบ้านที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากจากนักท่องเที่ยวทั้งขาประจำและขาจรที่ได้แวะเวียนเข้าไปเดินเที่ยวในตลาดน้ำยามเย็นของอัมพวา แหล่งท่องเที่ยวที่สร้างชื่อเสียงอย่างมากให้จังหวัดสมุทรสงคราม

สำเนียง ดีสวาสดิ์ แม่บ้านที่เริ่มต้นหารายได้ให้ครอบครัวจากการทำน้ำลูกสำรองขายให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวตลาดน้ำยามเย็นที่อัมพวา จนสามารถพัฒนาคุณภาพไปถึงขั้นได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนกำลังสนุกกับการค้าขายเพราะมีนักท่องเที่ยวไปอุดหนุนเป็นประจำ

ด้วยการสั่งสมประสบการณ์ พัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ และปรับตัวไปตามสถานการณ์ได้อย่างดี กิจการเครื่องดื่มเล็กๆ ที่เปิดขายก้าวหน้า และเป็นผู้ประกอบการที่นำน้ำดอกดาหลาที่ได้จากการวิจัยในโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากดอกไม้ ไปพัฒนาด้วยการนำไปผสมรสชาติใหม่ เพราะเห็นว่าน้ำดอกดาหลามีจุดเด่นที่กลิ่นหอม สีสวย และดีต่อสุขภาพ เพียงแต่รสชาติไม่เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า แต่เมื่อปรับแต่งรสชาติใหม่โดยใช้ลูกตะลิงปลิงมาเป็นส่วนผสมทำให้ได้ "พั๊นช์ดอกดาหลา" ซึ่งขายมาประมาณ 4 เดือนแล้ว และกลายเป็นสินค้าขายดีอันดับหนึ่งพอๆ กับน้ำใบบัวบก แซงหน้าน้ำลูกสำรองที่เคยขายดีไปแล้ว

"ตอนนี้ในอัมพวามีขายอยู่เจ้าเดียว เพราะคนอื่นคงจะทำไม่ได้อย่างเรา ขายดีมาก ลูกค้าชอบ มีพวกที่ซื้อประจำและขาจรอย่างละครึ่ง มีคนที่ซื้อทีละหลายๆ ขวดไปเป็นของฝากก็มี เพราะเก็บในตู้เย็นได้ 7-8 วัน ลูกค้าเห็นว่าดอกดาหลาเป็นของพื้นถิ่นในอัมพวาปลูกกันมาก และเป็นของธรรมชาติสดๆ ทั้งหมด ไม่มีสารเคมี ขายขวดละ 10 บาท 220 ซีซี ทำแค่วันละ 200 ขวด ขายหมดเร็วมากเพราะคิดว่าทำแค่พอขายหมดทุกวัน ไม่ให้เหลือ"

นอกจากจะขายประจำ 3 วันตามวันที่ตลาดเปิดคือศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เธอยังคิดที่จะพัฒนาสินค้าเพื่อให้ขายได้มากขึ้นในรูปแบบอื่น เช่น เก็บได้นานขึ้น หรือไม่ต้องใส่ตู้เย็น แต่เมื่อได้รับคำปรึกษาแล้วถึงรู้ว่าเป็นเรื่องใหญ่มากในแง่ของการลงทุนแม่บ้านตัวเล็กๆ ที่คิดมองหาโอกาสขยายธุรกิจออกไปนอกบ้าน

สำเนียงบอกว่า น้ำที่ทำขายอยู่รวมมีทั้งหมด 6 ชนิด ด้วยร้านที่มีพื้นที่เล็กๆ ทำให้แคบเกินไปที่จะคิดทำน้ำรสชาติใหม่ๆ ออกมาวางขาย เพราะตอนนี้ก็มีน้ำอีก 3 ชนิด คือ น้ำใบชาหวาน น้ำตะลิงปลิง และน้ำแครอท วางขายเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าอยู่แล้ว แม้จะขายได้น้อยกว่าดาหลา ใบบัวบก และสำรอง แต่มีแผนในใจอยู่แล้วว่า ถ้ามีเครื่องดื่มชนิดไหนขายได้น้อยมากๆ จะหยิบน้ำดอกเข็มมาทดลองขายเป็นสินค้าตัวใหม่ให้ลูกค้าได้มีความสุขและเพิ่มรสชาติกับการมาเที่ยวที่ตลาดน้ำอัมพวา
กำลังโหลดความคิดเห็น