xs
xsm
sm
md
lg

“กำปั่น” จุดเปลี่ยนร้านท่องเที่ยวอัมพวา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขนมไทยพัฒนาในบรรจุภัณฑ์พร้อมจำหน่ายเป็นของฝาก
วิถีชีวิตริมน้ำแบบดั้งเดิมของไทย ดูเหมือนจะเป็นเสน่ห์ ที่ก่อให้เกิดสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง และหนึ่งในนั้น คือ ตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม สถานที่ท่องเที่ยวชมหิ่งห้อยและตลาดน้ำ ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก จากนักท่องเที่ยวเพราะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก
บรรยากาศภายในร้านกำปั่น
และด้วยเสน่ห์ของอัมพวาที่ยังคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม และสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้มัดใจนักท่องเที่ยวให้ต้องแวะเวียนกันมาชื่นชมและบอกเล่าเรื่องราวกันแบบปากต่อปาก จนวันนี้อัมพวาเป็นที่รู้จักไปไกลถึงต่างแดน และส่วนหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มให้กับอัมพวาในวันนี้ ที่คงจะปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ ร้านค้าที่เปิดให้บริการนักท่องเที่ยวทั้งบนบกและในน้ำที่สามารถจัดร้านและนำสินค้าที่โดนใจออกมาขายให้กับเหล่านักท่องเที่ยวได้ทั้งช็อป ทั้งชิมกันอย่างเพลิดเพลิน

หนึ่งในนั้นที่วันนี้ใครได้มีโอกาสได้ไปเที่ยวตลาดน้ำอัมพวาก็อดที่จะแวะเข้าไปชื่นชมภายในร้านไม่ได้ นั่นก็คือ ร้านกำปั่น ร้านที่ได้ถูกจัดขึ้นมาในรูปแบบที่เชื่อว่าใครหลายคนเดินผ่านร้านนี้ก็อดไม่ได้ที่จะขอแวะเวียนเข้ามาชื่นชมภายในร้านแม้ว่าจะซื้อไอศกรีมเพียงแท่งเดียวก็ตาม ซึ่งก็เป็นไปอย่างที่เจ้าของต้องการ เพราะต้องการเห็นนักท่องเที่ยวได้เข้ามาชมถ่ายภาพเป็นที่ระลึก แม้ว่าจะไม่ได้ซื้ออะไรก็ตาม

นายพีรวงศ์ จาตุรงคกุล เจ้าของร้านกำปั่น เล่าถึงที่มาของร้านกำปั่น ว่าเกิดขึ้นมาจากตนเองทำงานในตำแหน่งผู้บริหารของบริษัทอุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด และได้มีโอกาสเข้ามาทำวิจัยเกี่ยวกับขนมไทยที่อัมพวา มานานกว่า 3 ปี ซึ่งพบว่าผู้ประกอบการในท้องถิ่นมีขนมไทยที่ดีและน่าสนับสนุนหลายตัว และต้องการให้ชาวบ้านได้มีการพัฒนาโดยการสร้างแบรนด์ หรือบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการเป็นของฝากได้ เพราะสิ่งที่อยู่กับสถานที่ท่องเที่ยวคือ ของฝาก

และพบว่าจนถึงวันนี้ยังไม่สามารถเปลี่ยนแนวคิดของพ่อค้าแม่ค้าที่อัมพวาได้ เพราะไม่มีใครยอมที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร จึงเกิดความคิดว่าน่าจะเปิดร้านสักร้านและนำขนมที่ได้พัฒนาแล้วมาวางจำหน่าย และจัดร้านให้ดูดีและน่าสนใจ มีอาหาร เครื่องดื่ม ของฝากจำหน่ายอยู่ภายในร้าน เพราะเชื่อว่าถ้าร้านกำปั่นได้รับความสนใจจะต้องมีผู้ต้องการทำตามอย่างแน่นอน

โดยรูปแบบของร้านจะเป็นการผสมผสานกับความหลากหลายของชุมชนท้องถิ่น กับความทันสมัย สะดวกสบาย ซึ่งอาหารที่จำหน่ายภายในร้านจะคัดเลือกอาหารที่ขึ้นชื่อของอัมพวามาพัฒนาต่อยอด เช่น อัมพวาขึ้นชื่อเรื่องปลาทู เราก็มีน้ำพริกสูตรชาววังโบราณมาขายคู่กับปลาทู และนำมาเป็นอาหารจานเด็ดของทางร้าน

ส่วนสินค้าอื่น มีไอศกรีมโบราณ 100 ช่าง ที่ไม่สามารถหาทานได้ทั่วไป โดยนำมาจากจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งปรากฏว่าภาพที่เห็นกันได้ทั่วไปของตลาดน้ำอัมพวาในวันนี้ คือนักท่องเที่ยวที่เดินทานไอศกรีม ที่ซื้อจากร้านกำปั่นแห่งนี้ ไอศกรีมจึงเป็นตัวจุดประกายสร้างชื่อให้กับร้านกำปั่น ในขณะนี้ก็ว่าได้


นอกจากนี้ ทางร้านยังมีเครื่องดื่มน้ำอัดลมโบราณ สิ่งที่ทางร้านภูมิใจนำเสนออย่างมาก เพราะเป็นเครื่องดื่มน้ำอัดลมโบราณ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ที่ทุกคนเริ่มรู้จักกันบ้างแล้ว ในชื่อของน้ำมะเน็ดไทย หรือ น้ำลามิเน็ตที่ฝรั่งอยู่จัก โดยเป็นน้ำอัดลมที่ใช้การอัดแก๊สคาร์บอเนตที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และมีผสมด้วยหัวเชื่อที่เรียกว่า ฟรุตโตส ที่ไม่มีความหวานสะสม สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานสามารถรับประทานได้

นายพีรวงศ์ กล่าว่า ต้องการทำร้านแห่งนี้ ให้เป็นร้านตัวอย่างของการรวมตัวกันของผู้ประกอบการในลักษณะที่เรียกว่า คลัสเตอร์ โดยภายในร้าน จะมีสินค้าจากผู้ประกอบการจากหลายๆแห่งเกือบทุกภาคมาจำหน่าย อาทิ ขนม มาจากผู้ประกอบการ 8-10 ราย และ ในสินค้าอื่นๆอีก รวมภายในร้านมีสินค้ามาจากผู้ประกอบการกว่า 30 ราย

โดยร้านแห่งนี้จะเป็นร้านต้นแบบ และทุกคนสามารถนำไปเป็นแบบอย่างได้ โดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยวเป็นการยกระดับร้านค้าในแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง รองรับกลุ่มลูกค้าในระดับ บี ขึ้นไป หรือ กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยนำเอาคอนเซ็ปต์ความหลากหลายชุมชนท้องถิ่นเข้ามาเล่นด้วย เพราะสิ่งที่นักท่องเที่ยว ต้องการจะเห็นคือ วิถีชีวิต อาหารการกินแบบดั้งเดิมภายในชุมชน

สำหรับร้านกำปั่น คุณพีรวงศ์ ยอมควักกระเป๋าร่วมกับครอบครัวไปจำนวนกว่า 1 ล้านบาท ในครั้งแรกไม่ได้คาดหวังอะไรเพียงแค่ต้องการมีร้านที่มีบรรยากาศดี และเห็นนักท่องเที่ยวได้แวะเวียนเข้ามาชื่นชม หรือมาถ่ายภาพในร้าน แต่ผลตอบรับเกินคาด มีนักท่องเที่ยวเข้ามาทานอาหารและซื้อของภายในร้านเพิ่มขึ้นเรื่อย จากที่เปิดให้บริการมา 4 เดือน

นอกจากความสำเร็จในเรื่องยอดขาย สิ่งที่เราได้มากกว่านั้น ในฐานะที่เราเป็นผู้บริหารอุตสาหกรรมขนมไทย คือ การได้เห็นชาวบ้าน พ่อค้าแม่ค้า บางรายมีการเปลี่ยนแปลงตามเรา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ หรือการสร้างตราสินค้าของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการและคาดหวังจะให้เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นเปิดร้าน โดยสิ่งที่ขายไม่กระทบกับชาวบ้านและชุมชน และสามารถชี้นำชุมชนให้ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อได้

สนใจโทร. 08-1754-3400
กำลังโหลดความคิดเห็น