xs
xsm
sm
md
lg

ลั่นปีแห่งการลงทุนฉุดเอสเอ็มอีโต คาดยอดขายเพิ่มกำไรกลับหด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายดำริ สุโขธนัง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
รัฐบาลประกาศนโยบายส่งเสริมให้ปีนี้เป็นปีแห่งการลงทุน และขยายการท่องเที่ยวไทย หวังอานิสงส์ฉุดธุรกิจเอสเอ็มอีขยายตาม ระบุพร้อมสานต่อนโยบายเพิ่มผลิตภาพเอสเอ็มอีรองรับการลงทุน ด้าน สสว. เผยคาดการณ์สถานการณ์เอสเอ็มอี สิ้นปีนี้ ส่งออกและตลาดโตขึ้น แต่กำไรกลับหด

นายดำริ สุโขธนัง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเปิดงานสัมมนา เตือนภัย : เศรษฐทัศน์ เอสเอ็มอี รายสาขา ปี 2551 ว่า นโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอีของรัฐบาลชุดนี้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประกาศให้ปีนี้เป็นปีแห่งการลงทุน สนับสนุนนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทย ผ่านโครงการยักษ์ใหญ่ต่างๆ เช่น ผลิตรถอีโคคาร์ เป็นต้น รวมถึง เน้นส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวไทย ซึ่งผลพ่วงจะส่งมาสู่กลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งจะเป็นฐานการผลิตให้แก่การลงทุนต่างๆ เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจอาหาร โรงแรม ที่พัก เป็นต้น

นอกจากนั้น จะสานต่อนโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอีจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่เน้นพัฒนาประสิทธิภาพ และผลิตภาพ (Productivity) อีกทั้ง พัฒนาโครงสร้างทางปัญญา นำนวัตกรรมมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ เพื่อให้เอสเอ็มอีมีศักยภาพ พร้อมที่จะเป็นฐานการผลิตรองรับปีแห่งการลงทุนดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน คือ การเมืองที่ยังอ่อนไหว อีกทั้ง ปัจจัยลบต่างๆ เช่น ราคาค่าพลังงานสูง เงินบาทแข็งตัว ความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีถดถอย เป็นต้น

สำหรับแนวทางส่งเสริมเอสเอ็มอีนั้น จะยังคงเดินตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมเอสเอ็มอี ฉบับที่ 2 (2550-2554) คือ ด้านเพิ่มประสิทธิภาพ และนวัตกรรม (Productivity & Innovation) โดยการสร้างและพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการ การเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมในภาคการผลิต ลดผลกระทบในภาคการค้า ส่งเสริมขีดความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มดภาคบริการ และส่งเสริมเอสเอ็มอีในภูมิภาคและท้องถิ่น (โอทอป)

อีกด้าน คือ การพัฒนาปัจจัยเอื้อในการดำเนินธุรกิจ เช่น ด้านเทคโนโลยี กฎระเบียบ การตลาด การเงิน การบริการภาครัฐ เป็นต้น

ด้านนางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่าการเตือน SMEs รายสาขา ปี 2551 โดย โครงการวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา (SAW) ของ สสว. ประจำ ไตรมาส 1/2551 หากพิจารณาปัจจัยต่างๆ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยที่อาจจะปรับลดลง ค่าเงินบาทที่ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยคาดว่าค่าเงินบาท ณ สิ้นปี จะแข็งค่าขึ้นจากระดับปัจจุบันอีกประมาณร้อยละ 5 จนทำให้ค่าเงินบาทแตะระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และผลการสำรวจ SMEs รายภูมิภาคจำนวน 2,835 กิจการ (0.1% จาก SMEs ทั้งหมด) ผ่านสถาบันอุดมศึกษาประจำภูมิภาคทั่วประเทศไทย เกี่ยวกับน้ำหนักของผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่างๆ ต่อการประกอบการของ SMEs นั้น สามารถสรุปสถานการณ์เป็นประเด็น ปัจจัยเสี่ยงสำหรับ SMEs ในการประกอบธุรกิจสำหรับปี 2551 ที่สำคัญ ได้แก่ ราคาน้ำมัน ค่าเงินบาท พฤติกรรมของผู้บริโภค (ความสามารถในการบริโภค) การแข่งขันทางธุรกิจ อัตราดอกเบี้ย นโยบายรัฐเกี่ยวกับปัจจัยเอื้อ และทักษะแรงงานไทย เป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการ SMEs ได้ให้น้ำหนักในการประเมิน สถานการณ์มากที่สุด

ในปี 2550 ที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 2.3 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.41 จากจำนวนวิสาหกิจทั้งหมดของไทย และก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 9 ล้านคน หรือ 76% จากการจ้างงานทั้งระบบนั้น สามารถสร้างมูลค่าตลาดจากรายได้รวมได้ถึง 5.695 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 37 จากทั้งประเทศ โดยแบ่งเป็นการส่งออก 1.613 ล้านล้านบาท ที่มีการขยายตัวร้อยละ 12.18 คิดเป็นร้อยละ 30.58 จากการส่งออกทั้งหมดของประเทศไทย ทั้งนี้ SMEs ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้านการเงิน หรือ Economic Value Added ได้ถึง 265,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 24% จากทั้งประเทศ ตลอดจนมีผลตอบแทนจากการดำเนินงานเฉลี่ย 4.41%

จากสมมติฐานเศรษฐทัศน์และแนวโน้มภายนอกประเทศและภายในประเทศไตรมาส 2/2551 ตลอดจนการสำรวจ SMEs รายสาขารายภูมิภาคข้างต้น โครงการศึกษาวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา (SAW) เชื่อว่าในปี 2551 SMEs น่าจะมีการขยายตัวด้านการการส่งออกต่อเนื่องประมาณร้อยละ 8.69 จากปี 2550 โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 1.753 ล้านล้านบาท โดยปัจจัย ค่าเงินบาท เศรษฐกิจสหรัฐฯ และการแข่งขันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจส่งออกของผู้ประกอบการ SMEs (ประมาณการเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2551 ที่เคยคาดการณ์ไว้เพียงร้อยละ 8.12)

จากการคาดการณ์การส่งออกของ SMEs ในระดับร้อยละ 8.69 ในปี 2551 จะส่งผลให้มูลค่าตลาดที่วัดจากรายได้สุทธิของ SMEs โดยรวมในปี 2551 มีมูลค่าประมาณ 5.890 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.45 จากปี 2550 โดย SMEs ทั้งหมดน่าจะมีจำนวนประมาณ 2.36 ล้านกิจการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.76 จากปี 2550 และก่อให้เกิดการจ้างงาน 9.28 ล้านคน โดยมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 2.50 ตามลำดับ

แม้ว่าการคาดการณ์ทั้งจากอัตราการขยายตัวและมูลค่าจากการส่งออกและรายได้ จะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่เมื่อพิจารณาถึงมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้านการเงิน หรือ Economic Value Added (EVA) ของ SMEs แล้ว พบว่าจากข้อมูลด้านต้นทุน กำไรต่อหน่วย ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และการแข่งขันที่รุนแรงตามแนวโน้มปี 2551 นี้ทำให้ EVA ของ SMEs น่าจะปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 21.56 จากปี 2550 หรือน่าจะมีมูลค่า ณ สิ้นปี 2551 ประมาณ 207,700 ล้านบาท (ลดลงจากการประมาณการในไตรมาสที่ 1/2551 ที่เคยคาดการณ์ไว้ 255,726 ล้านบาท ลดลงเพียงร้อยละ 3.45 จากปี 2550) ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity) ที่อาจจะลดลงร้อยละ 20 จากปี 2550 โดยมีมูลค่าประมาณ 53,900 บาทต่อคน

นอกจากนี้ปัจจัยด้านต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในปี 2551 อาจจะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนจากการดำเนินงานของ SMEs ที่เคยทำได้ร้อยละ 4.41 ในปี 2550 ต้องปรับตัวลดลงร้อยละ 25.80 หรือมีผลตอบแทนจากการดำเนินงานในปี 2551 ประมาณร้อยละ 3.27 เท่านั้น (ลดลงจากการประมาณการในไตรมาสที่ 1/2551 ที่เคยคาดการณ์ไว้ร้อยละ 4.08 ลดลงเพียงร้อยละ 7 จากปี 2550)

สำหรับการเตือนภัยรายสาขานั้น กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตประเภทวิศวการ (หนัก) ค่อนข้างไปได้ดีโดยรวม เพราะค่าเฉลี่ยในแต่ละปัจจัยข้างต้นส่วนใหญ่ มีมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมโดยรวม โดยสาขาที่ต้องระวังเรื่องการส่งออก เพราะอาจจะต้องเผชิญทั้งการแข่งขันที่รุนแรง การกีดกันประกอบด้วย สาขาเครื่องจักรกล สาขาเครื่องมือเฉพาะด้านและสาขาการบิน สาขาที่ต้องระวังเรื่องของต้นทุน ที่จะกลายเป็นจุดอ่อนจนทำให้ผลตอบแทนจากการดำเนินงานต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ได้แก่ สาขาเครื่องใช้ไฟฟ้า สาขาเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ สาขาเครื่องมือเฉพาะด้าน และสาขาต่อเรือและซ่อมเรือ โดยเฉพาะสาขาต่อเรือและซ่อมเรือที่อาจจะส่งผลถึงการขาดสภาพคล่อง จนทำให้ขาดความสามารถในการชำระหนี้ได้

สาขาที่ต้องระวังด้านผลิตภาพแรงงาน ประกอบด้วย สาขาเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และสาขาเครื่องมือเฉพาะด้าน เนื่องจากจำนวนแรงงานค่อนข้างมีจำนวนมากขณะที่ผลตอบแทนจากการดำเนินงานต่ำ ส่วนสาขาที่อาจจะต้องระวังเรื่องการแข่งขันหากข้อตกลง Asian Economic Community (AEC) เริ่มมีผลในปี 2008 ได้แก่ สาขาเหล็กโลหะและผลิตภัณฑ์ สาขาเครื่องจักรกล สาขาเครื่องใช้ไฟฟ้า และสาขาเครื่องมือเฉพาะด้าน เพราะวัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากนอกกลุ่ม AEC ทำให้เราอาจจะเสียเปรียบด้านต้นทุนจากภาษีนำเข้าที่สูงกว่าคู่แข่งขันในกลุ่ม AEC

ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตประเภทเบา โดยรวมอาจจะเจอภาวะที่เป็นแรงกดดันรอบด้าน เพราะโดยรวมมีค่าเฉลี่ยในแต่ละปัจจัยด้านการส่งออก ผลตอบแทนจากการดำเนินกิจการ ความสามารถในการชำระหนี้ ผลิตภาพรายได้ต่อจำนวนวิสาหกิจ และผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ สาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม สาขาเครื่องหนังและผลิตภัณฑ์ สาขาแก้วและเซรามิค สาขาอัญมณีและเครื่องประดับ และสาขาเครื่องสันทนาการ

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตประเภทที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ มีบางสาขาที่ไปได้ดีเพราะมีค่าเฉลี่ยที่ดีในหลายมิติเช่น สาขานมและผลิตภัณฑ์นม ส่วนสาขาที่ต้องระวังประกอบด้วย ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อาหารแปรรูปประเภทเนื้อสัตว์ อาหารประเภทน้ำมันจากพืชและสัตว์ อาหารประเภทธัญพืช ขนมอบกรอบ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล และอาหารกึ่งสำเร็จรูปจากแป้งประเภทเส้น

และกลุ่มธุรกิจการค้าและการบริการ โดยรวมค่อนข้างจะทรงตัว อย่างไรก็ตามสาขาที่ต้องระวังประกอบด้วย โรงแรมและภัตตาคาร บริการให้เช่าสินทรัพย์ บริการคอมพิวเตอร์ ซอฟแวร์และ Digital Content บริการการศึกษา บริการเสริมสร้างสุขภาพสปาและสังคม ตลอดจนร้านค้าปลีกและค้าส่งขนาดเล็ก เพราะแรงกดดันจากราคาทั้งต้นทุนขายและต้นทุนในการแข่งขัน ที่ส่งผลต่อรายได้ ผลตอบแทนจากการดำเนินกิจการ ความสามารถในการชำระหนี้ ผลิตภาพรายได้ต่อจำนวนวิสาหกิจ และผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity) ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
กำลังโหลดความคิดเห็น