xs
xsm
sm
md
lg

สสว.เชื่ออุตฯ อาหารไทยยังสดใส เล็งป้อนนวัตกรรมมุ่งตลาดส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสว.เล็งเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารของไทย ชี้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยังฮิตผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนิยมลงทุน เผยข้อดีอาหารไทย ได้เปรียบเรื่องความหลากหลายของวัตถุดิบ แต่ยังขาดเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต และการควบคุมมาตรฐานการส่งออก เชื่อปี 51 เทรนด์อาหารสุขภาพ และคนชรามาแรง

นางนิจนิรันดร์ สุวรรณเกต รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวถึงสถานการณ์ธุรกิจอาหารของไทย ว่า ขณะนี้ธุรกิจอาหารของไทยมีศักยภาพ ทั้งในเรื่องความพร้อมของวัตถุดิบ และแรงงาน หากได้รับการพัฒนาที่ดีและต่อเนื่อง ซึ่งจากการศึกษาที่ทาง สสว. ได้ดำเนินการร่วมกับที่ปรึกษา พบว่า ในสาขาอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ในปี 2549 มีผู้ประกอบการจำนวน 152,611 ราย ในจำนวนนี้ เป็นเอสเอ็มอี ถึง 152,119 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 99.7 และนับเป็นกลุ่มที่มีจำนวนเอสเอ็มอี มากเป็นลำดับ 2 ในหมวดการผลิตอุตสาหกรรม มีการจ้างงาน 523,104 คน มีมูลค่า GDP 156,892 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา จึงนับเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารแม้จะมีจุดเด่น เช่น ความหลากหลายของวัตถุดิบ การที่ผู้ประกอบการมีประสบการณ์และมีรากฐานเทคโนโลยีเป็นของตนเอง มีแรงงานฝีมือระดับหนึ่ง รัฐบาลให้ความสำคัญ รวมทั้งมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนก็ตาม แต่ยังมีปัญหาอุปสรรค ทั้งในเรื่องคุณภาพและปริมาณของวัตถุดิบ การขาดความรู้และเทคโนโลยี จึงมีข้อจำกัดในการปรับปรุงกระบวนการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ขาดแคลนบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนารวมทั้งการควบคุมมาตรฐานคุณภาพ คุณภาพมาตรฐานสินค้าและการส่งออก ใบรับรองคุณภาพยังไม่เพียงพอ ล่าช้า และมีค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงผู้ประกอบการมีข้อจำกัดด้านการบริการจัดการและด้านเงินทุนในการประกอบธุรกิจ

นอกจากนี้จากสภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้หญิง กลุ่มชนชั้นกลาง ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นโอกาสของเอสเอ็มอี ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร จึงจะอยู่ในกลุ่มอาหารที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะอาหารเฉพาะกลุ่ม (Functional Food) เช่น อาหารคนชรา อาหารคุมน้ำหนัก อาหารเสริมความงาม และอาหารเสริมสุขภาพ เป็นต้น แต่การจะประสบความสำเร็จได้นั้น ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับปรุงและพัฒนา ทั้งในเรื่องระบบการบริหารจัดการและระบบการผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐาน มีการวิจัยพัฒนารวมทั้งการสร้างนวัตกรรมในสินค้า การบริหารจัดการโลจิสติคส์ที่ดี รวมถึงการสร้างความรู้ความสามารถในด้านการตลาด
กำลังโหลดความคิดเห็น