รองอธิการบดี สจล.เผยเซลล์เชื้อเพลิงในไทยยังอยู่ในระดับการทดลอง ไม่มีการใช้งานในเชิงพาณิชย์ แนะรัฐตั้งสถาบันเซลล์เชื้อเพลิงหนุนการวิจัยเข้มข้น พร้อมเพิ่มงบวิจัย-กำลังคน ด้านฝ่ายวิจัย กฟผ.เผยปี 2573 ไทยอาจต้องตั้งโรงไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงแห่งแรก กำลังการผลิตอย่างน้อย 300 เมกะวัตต์
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดอภิปราย “ต้นกำเนิดพลังงานในอนาคต : เซลล์เชื้อเพลิงบนเส้นทางสู่การพาณิชย์” ขึ้นเมื่อวันที่ 25 มี.ค.51 ภายในงานประชุมประจำปี 2551 (NAC2008) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
รศ.ดร.วีระเชษฐ์ ขันเงิน รองอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงภาพรวมการวิจัยพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงในประเทศไทยว่า ได้มีการรวมกลุ่มนักวิจัยจากหลายสถาบันเพื่อร่วมกันพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงในแต่ละสาขาที่แต่ละสถาบันมีความถนัด
กลุ่มวิจัยดังกล่าว เช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช.
รศ.ดร.วีระเชษฐ์ กล่าวว่า นักวิจัยไทยจะเน้นไปยังการวิจัยพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงแบบเมมเบรนแลกเปลี่ยนโปรตอน (PEMFC) เป็นหลัก เนื่องจากมีความสะดวกด้านเทคโนโลยีมากที่สุด โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้กับภาคการขนส่ง เช่น รถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิง ซึ่งนักวิจัยไทยได้พัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงชนิดนี้ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์ได้แล้ว
ขณะเดียวกันยังมีการวิจัยพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงชนิดออกไซด์ของแข็ง (SOFC) เพื่อใช้เป็นโรงไฟฟ้าด้วย โดยนักวิจัยไทยสามารถพัฒนาขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 50 วัตต์ได้ และกำลังพัฒนาต่อไปให้ผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 1 กิโลวัตต์ในอนาคต
อย่างไรก็ดี การวิจัยพัฒนาดังกล่าวยังไม่สามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ รศ.ดร.วีระเชษฐ์ เสนอว่า ภาครัฐควรจัดตั้งสถาบันที่มีหน้าที่วิจัยพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มวิจัยพัฒนาอย่างเข้มข้นและยั่งยืนมากขึ้น เนื่องจากเซลล์เชื้อเพลิงเป็นแหล่งพลังงานอนาคตที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนั้น ยังจะต้องมีการเพิ่มงบประมาณสนับสนุนการวิจัยพัฒนามากขึ้นด้วย จากปัจจุบันที่งบวิจัยพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงในไทยมีประมาณ 50 ล้านบาทจากที่ควรเพิ่มขึ้นอีกนับร้อยเท่า รวมทั้งควรพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านเพิ่มอีก จากตอนนี้มีอยู่เพียง 100 คน จากความต้องการจริงอย่างน้อย 1,000 คนขึ้นไป
ส่วนนายพินิจ ศิริพฤกษ์พงษ์ ผช.ผอ.สำนักงานวิจัยและพัฒนา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เผยว่า กฟผ.กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เซลล์เชื้อเพลิงชนิดออกไซด์ของแข็ง และเซลล์เชื้อเพลิงชนิดคาร์บอเนตหลอมเหลว (MCFC) เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า
ทั้งนี้ เชื่อว่าภายในปี 2563 นักวิจัยต่างชาติจะสามารถพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงขนาดผลิตไฟฟ้ามากกว่า 300 เมกะวัตต์ได้ จากนั้นอีก 10 ปี ไทยอาจนำเข้าเทคโนโลยีบางส่วนมาผสมผสานกับเทคโนโลยีฝีมือนักวิจัยไทยเพื่อตั้งโรงไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงต่อไป.