xs
xsm
sm
md
lg

สวทช.ผนึก 6 หน่วยงานรุกตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 36 โรงเรียนชาวไทยภูเขา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สวทช.นำร่องติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้แก่ศูนย์การเรียนชาวไทยภูเขา 36 จุดในพื้นที่โครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพฯ กระจายโอกาสการเข้าถึงไฟฟ้าแก่โรงเรียนพื้นที่ห่างไกล พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับอีก 6 หน่วยงานในการให้ความรู้ ผลิตสื่อช่วยสอน และการซ่อมบำรุง ลบภาพเซลล์แสงอาทิตย์ในชนบทไร้คนเหลียวแล -ใช้การไม่ได้

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) แถลงข่าวเปิดตัวโครงการนำร่องติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในสถานศึกษาและศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาในพื้นที่โครงการพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้นเมื่อวันที่ 5 ก.พ.51 ณ โรงแรมเซ็นจูรีปาร์ค กรุงเทพฯ

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สวทช.กล่าวว่า พลังงานแสงอาทิตย์ถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงชนิดหนึ่งที่ สวทช.วิจัยพัฒนาจนได้ต้นแบบสายการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดไฮบริดขนาดการผลิต 3 เมกะวัตต์/ปี ซึ่งเป็นเซลล์แสงอาทิตย์แบบฟิล์มบางที่ผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีแบบอะมอร์ฟัสซิลิกอนและเทคโนโลยีแบบผลึกซิลิกอนชนิดฟิล์มบาง ซึ่ง สวทช.ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชนผลิตจำหน่ายแล้ว ขณะเดียวกันยังเห็นว่างานวิจัยนี้ควรนำไปใช้กับการพัฒนาพื้นที่ชนบทห่างไกลด้วย

รศ.ดร.ศักรินทร์ เผยว่า สวทช.จึงได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงระยะเวลา 3 ปีร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) สำนักงานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
 
ทั้งนี้เพื่อนำแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 480 วัตต์ที่เกิดการวิจัยพัฒนาไปติดตั้งยังพื้นที่เป้าหมายที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงจำนวน 36 แห่ง ซึ่งแบ่งเป็นในพื้นที่ จ.ตาก 17 แห่ง จ.เชียงใหม่ 17 แห่ง และ จ.แม่ฮ่องสอนอีก 9 แห่ง เพื่อให้มีกระแสไฟฟ้าใช้ระหว่างการเรียนการสอน

สำหรับกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะใช้ได้เพียงพอกับหลอดตะเกียบขนาด 11 วัตต์จำนวน 6 หลอด วันละ 12 ชั่วโมง และโทรทัศน์ 21 นิ้ว 1 เครื่อง วันละ 1 ชั่วโมง โดยยังใช้งานร่วมกับเครื่องเล่นวีซีดี และจานรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อใช้ในการเรียนการสอนเยาวชนภาคกลางวันได้ นอกจากนั้นยังมีแบตเตอรีสำรองกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในห้องเรียนภาคค่ำสำหรับผู้ใหญ่ ใช้กับวิทยุสื่อสารคลื่นสั้น และระบบเสียงตามสายของชุมชนได้อีกด้วย

"ที่ผ่านมา เรามักจะมองกันว่าเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีติดตั้งตามพื้นที่ชนบทต่างๆ มักเสียหาย ใช้การไม่ได้ เรื่องนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง"
 
"ดังนั้นเราจึงต้องมีความร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อดูแลให้ใช้งานอุปกรณ์ได้อย่างต่อเนื่อง มีทีมงานช่วยเหลือปรับปรุงแก้ไขยามขัดสนให้สามารถทำงานได้สอดคล้องกัน เพื่อใช้ประโยชน์ในโรงเรียนชนบท และใช้เป็นเครื่องมือช่วยสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เยาวชนได้เห็นการทำงานของเซลล์แสงอาทิตย์ วิธีการแปลงไฟฟ้า ได้เห็นแผงวงจรเป็นอย่างไร และได้เข้าใจพื้นฐานฟิสิกส์ไฟฟ้าไปพร้อมๆ กัน" ผอ.สวทช.กล่าว

หลังจากมีการติดตั้งแล้วเสร็จจะส่งมอบแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้แก่ สพฐ. และกศน.รับช่วงต่อในด้านการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ สสวท.รับหน้าที่ในการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องเซลล์แสงอาทิตย์แก่นักเรียน และมี พพ. สำนักงานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม และ มจธ.ให้ความช่วยเหลือด้านการบำรุงรักษา และให้คำแนะนำแก่ครูและนักเรียนได้รู้จักการบำรุงรักษาเซลล์แสงอาทิตย์อย่างถูกต้อง

ความคืบหน้าในขณะนี้ ได้มีการทยอยติดตั้งระบบไปกว่า 50% แล้ว สวทช.สนับสนุนค่าใช้จ่ายในโครงการประมาณ 3.5 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 1 แสนบาท/แห่ง ซึ่งประหยัดกว่าการนำเข้าระบบจากต่างประเทศประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งแผงเซลล์แสงอาทิตย์นี้จะมีอายุการใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า 20 ปี และผลการใช้งานที่ได้ยังจะนำไปประกอบการพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศให้ดีขึ้นด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น