สถาบันอาหารเผยส่งออกอาหารไทยไปญี่ปุ่นมีโอกาสขยายตัวสูง เพราะญี่ปุ่นมีอัตรานำเข้าอาหารสูงถึง 40% มูลค่าตลาด 727 พันล้านดอลลาร์ แนะเดินเกม โดยสร้างมาตรฐานความปลอดภัย เจาะกลุ่มคนแก่ พร้อมทำบรรจุภัณฑ์จูงใจ
ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เผยว่า ประเทศไทยผลิตอาหารปีละ 135 ล้านตัน ใช้บริโภคในประเทศประมาณ 60% ส่งออก 40% ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารลำดับที่ 15 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาด 2.73% หรือเป็นที่ 2 ในเอเชีย รองจากจีน โดยไทยเป็นผู้นำอันดับ 1 การส่งออกสินค้าอาหารแปรรูปที่สำคัญของโลก
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอาหารไทยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น โดยเฉพาะญี่ปุ่น มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น เพราะญี่ปุ่นนำเข้าอาหารสูงถึง 40% มูลค่าตลาด 727 พันล้านดอลลาร์
สำหรับผลการวิจัยของญี่ปุ่นพบว่าผู้บริโภค 83% มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยทางด้านอาหาร และพร้อมจะจ่ายเงินมากขึ้น เพื่อให้ได้อาหารที่มีคุณภาพ ดังนั้น การส่งออกไปญี่ปุ่นควรมุ่งเน้นอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น และที่สำคัญคือการส่งอาหารไปยังญี่ปุ่นต้องผลิตได้มาตรฐาน มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีรูปลักษณ์จูงใจ ทันสมัย สะดวกในการใช้งาน มีหลากหลายขนาดให้เลือก ระบุข้อมูลที่ชัดเจน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
“ศักยภาพตลาดอาหารในญี่ปุ่นยังมีอีกมาก ผู้บริโภคญี่ปุ่นยินดีจ่ายราคาสูงเพื่อ คุณภาพ และความสะดวก ขณะนี้ผู้บริโภคญี่ปุ่นเปิดใจยอมรับอาหารตะวันตกและอาหารเอเชียชาติอื่นมากขึ้น แต่มีความอ่อนไหวเรื่องความปลอดภัยอาหาร” ดร.ยุทธศักดิ์ เผย
นอกจากนั้น สถาบันอาหาร เชื่อว่า การที่ไทยและญี่ปุ่นมีข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐหิจ (เจเทปา) เป็นโอกาสดีที่ทั้ง 2 ประเทศ จะเพิ่มมูลค่าการค้าขายระหว่างกัน โดยเฉพาะอาหารไทยแต่ก็ต้องดำเนินมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดของญี่ปุ่นตามมาตรฐาน HACCP ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตอาหารของไทยได้มาตรฐานดังกล่าวน้อย ขณะเดียวกันการขยายกิจการร้านอาหารตามโครงการครัวไทยสู่ครัวโลกจะเป็นช่องทางการขายวัตถุดิบอาหารของไทยได้เพิ่มขึ้น