xs
xsm
sm
md
lg

“ร้อยชั่ง”.... ไอศกรีมไทย การกลับมาอย่างมีอนาคต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไอเดียของผู้ประกอบการที่คิดสร้างธุรกิจด้วยการนำองค์ความรู้และความประทับใจในอดีตมาใช้นั้น มีให้เห็นอยู่ไม่น้อยในธุรกิจขนม แต่มีผู้ประกอบการไม่มากนักที่สามารถนำภูมิปัญญาเดิมมาผสมผสานกับความต้องการของคนยุคใหม่ได้อย่างลงตัว ทำให้ไม่สามารถเบียดเข้าไปในตลาดที่มีอยู่แล้ว หรือสร้างตลาดใหม่ของตัวเองขึ้นมา

สำหรับธุรกิจไอศกรีมก็เช่นกัน ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ส่วนใหญ่ ใช้วิธีการลอกแบบไอศกรีมไทยในอดีตมาใช้ โดยไม่ได้ตีโจทย์ธุรกิจและวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายให้ดีพอ แต่ “ร้อยชั่ง” เป็นการกลับมาของไอศกรีมไทยในรูปแบบของไอศกรีมแท่งที่กำลังมาแรง และนับเป็นการกลับมาอย่างมีอนาคต

“ร้อยชั่ง” เริ่มต้นจาก “สมยศ” กับ “เพ็ญศิริ สื่อสวัสดิ์วณิชย์” สามี-ภรรยาคู่หนึ่งที่ตัดสินใจจะสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมา โดยมีหลักว่าต้องเป็นธุรกิจที่ลงทุนต่ำ ทำแล้วพอจะมีกำไร และเป็นที่ต้องการของตลาด

ดังนั้น เมื่อเห็นว่าเครื่องมือทำไอศกรีมไทยแบบโบราณของครอบครัวที่เก็บเอาไว้ยังอยู่ในสภาพใช้การได้ดี พร้อมกับสูตรที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากคนรุ่นก่อน จึงเป็นจุดเริ่มของการคิดทำธุรกิจไอศกรีมไทย

ข้อได้เปรียบของไอศกรีม คือการเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของคนทั่วโลกอยู่แล้ว จึงไม่ต้องสร้างตลาดด้วยการให้ความรู้ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการที่จะทำให้ลูกค้าที่ไม่รู้จักสินค้ามาก่อนเปิดใจยอมรับ โดยเฉพาะลูกค้าชาวต่างชาติ

นอกจากนี้ ไอศกรีมยังเป็นสินค้าที่มีฐานลูกค้ากว้างมาก ตั้งแต่เด็กเล็กๆ จนถึงผู้ใหญ่สูงวัย ทำให้สินค้ากลุ่มนี้มีโอกาสขยายตลาดได้ใหญ่มาก เพราะฉะนั้น อนาคตของไอศกรีมจึงขึ้นอยู่กับการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการว่าจะตีโจทย์ธุรกิจได้แตกมากน้อยแค่ไหน

นอกจากสูตรไอศกรีมไทยโบราณซึ่งมีชื่อเสียงของคนแปดริ้วที่ได้เรียนรู้มา 3 รสชาติ คือ รสนมขนุน รสนมชมพู และรสกาแฟ   “ร้อยชั่ง”ยังมีรสชาติใหม่เพื่อสร้างความหลากหลายให้เพียงพอที่จะนำสินค้าออกสู่ตลาด เช่น รสชานมเย็น มาจากกระแสความนิยมของชาชักในช่วงนั้น รสทุเรียน เพราะต้องการนำผลไม้ไทยที่ดูมีราคาเข้ามาเพิ่มคุณค่าให้สินค้า และรสกระเจี๊ยบ ซึ่งมาจากความนิยมสมุนไพรไทยและสีสันที่สวยงาม และยังนำธัญพืชต่างๆ มาใช้ นอกจากกระแสห่วงใยสุขภาพแล้ว ยังเป็นรสชาติที่ได้รับความนิยมในอดีตอีกด้วย เช่น ถั่วดำ โกโก้ ลอดช่อง ข้าวเหนียวดำ และทยอยออกรสชาติใหม่ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า

แม้ว่าช่องทางจำหน่ายในช่วงเริ่มต้นของ “ร้อยชั่ง” จะเหมือนกับผู้ประกอบการรายย่อยหลายราย ด้วยการเลือกเข้าไปในงานแสดงสินค้าหรือกิจกรรมใหญ่ๆ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และศูนย์แสดงสินค้าที่เมืองทองธานี เช่น งานไทยแลนด์เบสท์บาย และงานไทยเที่ยวไทยของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

แต่ความแตกต่างอยู่ที่กลยุทธ์การนำเสนอสินค้าซึ่งใช้ได้ผลอย่างมาก นอกจากการสร้างภาพลักษณ์ที่สื่อถึงตัวสินค้าด้วยการให้คนขายแต่งตัวเป็นลุงโบราณและสั่นกระดิ่งเล็กๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเชิญชวนให้ลูกค้าชิมฟรี เพราะทั้งสองคนรู้ว่าคนไทยมีนิสัยเกรงใจ การให้ชิม 1 แท่งๆ ละ 10 บาท กลับทำให้ได้ยอดขายจากลูกค้าแต่ละคนเฉลี่ยครั้งละประมาณ 10 แท่ง จากการซื้อกลับบ้านไปฝากคนในครอบครัว

ด้วยรสชาติถูกปาก และความหลากหลาย ประกอบกับราคาเมื่อเทียบกับปริมาณและคุณภาพ รวมทั้ง การเพิ่มจุดเด่นที่แตกต่างในเรื่องความสะอาด ด้วยการใช้ถุงพลาสติกใส่ไอศกรีมแต่ละแท่งแทนการใช้กระดาษซับมันอย่างในอดีต และการติดตราสินค้าที่ไอศกรีมทุกแท่ง ช่วยยกระดับสินค้าให้สูงขึ้น ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้อย่างง่ายๆ

ในขณะนี้ซึ่งกำลังก้าวขึ้นปีที่ 3 “ร้อยชั่ง” สร้างฐานลูกค้าประจำได้แล้วในระดับหนึ่ง นอกจากงานแสดงสินค้าที่เลือกให้เหมาะกับภาพลักษณ์ ยังมีการเข้าร่วมในบางกิจกรรมของห้างที่จัดเป็นช่วงๆ และยังมีตลาดงานเลี้ยงต่างๆ เช่น วันเกิด ทำบุญเลี้ยงพระ ฯลฯ และล่าสุด แหล่งท่องเที่ยวในแบบย้อนยุคหรือแสดงความเป็นไทย เช่น ตลาดร้อยปีที่สามชุก ตลาดน้ำยามเย็นที่อัมพวา พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง ฯลฯ เป็นช่องทางใหม่ที่ผู้บริโภคให้การตอบรับอย่างดี

สำหรับชื่อ “ร้อยชั่ง” มาจากความเก่าแก่ของสูตรไอศกรีมไทยโบราณของแปดริ้วที่มีอายุมากว่า 80 ปี และเพิ่มเป็นร้อยปีเพื่อให้ดูมีคุณค่ามากขึ้นและจำง่าย เป็นที่มาของคำว่า “ร้อย” ส่วนคำว่า “ชั่ง” มาจากการที่ต้องการสื่อให้เห็นว่ามีความพิถีพิถันอย่างมากในการผลิตเพื่อให้สินค้าได้คุณภาพมาตรฐาน ยังมีการนำ “กระติกไอศกรีม” กับ “กระดิ่ง” แบบโบราณมาใช้เป็นโลโก้ เพื่อให้สื่อถึงเรื่องราวและที่มาของสินค้าได้เป็นอย่างดี

“ร้อยชั่ง”คือการกลับมาของไอศกรีมไทยโบราณที่มีรสชาติ ความสะอาด และราคา เป็นจุดขายสำคัญ ซึ่งนอกเหนือจาก “การสร้างตลาด” ด้วยการต่อยอดสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในอดีตและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน

เหนือกว่านั้นคือ “การสร้างแบรนด์” ซึ่งหมายถึงการสร้างอนาคตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ

(ข้อมูลจากนิตยสาร SMEs Today ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2551)

กำลังโหลดความคิดเห็น