กสอ. เผยโครงการจัดการพลังงานในโรงอุตสาหกรรม ใน 4 รุ่นที่ผ่านมา กิจกรรมโรงงานเอสเอ็มอีเข้าร่วม จำนวน 184 กิจการ สามารถประหยัดพลังงานได้กว่า 500 ล้านบาทต่อปี เผยรุ่นที่ 5 นี้ มีร่วมกิจกรรมจำนวน 100 ราย
นายปราโมทย์ วิทยาสุข อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใช้พลังงานมากเป็นอับดับสองรองจากภาคขนส่ง โดยมีสัดส่วนการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมของประเทศคิดเป็นร้อยละ 36 ของปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมดภายในประเทศ แต่ปัจจุบันโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมยังขาดการพัฒนากิจกรรมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่ดี ภาครัฐจึงได้วางกรอบยุทธศาสตร์ที่เน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทให้คำปรึกษาแนะนำด้านต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง จึงได้ริเริ่มโครงการการจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับอุตสาหกรรม (Total Energy Management :TEM) ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เพื่อช่วยเหลือให้คำปรึกษาแก่ภาคธุรกิจไทยในการพัฒนาองค์กร ให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียในระหว่างกระบวนการผลิตให้น้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายของพลังงานได้อย่างแท้จริง
การดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่ รุ่นที่ 1 - 4 มีวิสาหกิจเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 184 กิจการ สามารถประหยัดพลังงานได้กว่า 500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเฉลี่ยในแต่ละกิจการสามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่าร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่าย ดังนั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงพิจารณาจัดทำกิจกรรมการจัดการ พลังงานแบบสมบูรณ์ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับอุตสาหกรรม รุ่นที่ 5 ( Total Energy Management :TEM 5 ) เพื่อสานต่อความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการประหยัดพลังงานในภาคอุตสาหกรรม
ด้านนางอุไรวรรณ จันทรายุ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมการจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์ฯ เป็นการผสมผสานแนวความคิดทางการบริหารจัดการ และหลักทางวิศวกรรมอย่างเป็นระบบ เช่น การควบคุมคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (Total Quality Control) วิศวกรรมระบบที่เน้นการออกแบบระบบบำรุงรักษาเครื่องจักร และระบบควบคุมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Concurrent Engineering) และวิศวกรรมคุณค่าเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (Value Engineering) โดยจะนำผลมาสรุปเป็นแนวทางที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับกิจกรรมอื่นๆ ในโรงงานได้อย่างง่าย ๆ ซึ่งการดำเนินกิจกรรมนี้สามารถแบ่งย่อยออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่
1)Cost / Energy Focus ปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการประหยัดพลังงานว่าไม่ใช่เรื่องของพลังงานเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องของการลดต้นทุน และเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน
2)การกำหนดนโยบาย แผนงานและแผนการปฏิบัติ ผู้บริหารระดับสูงจำเป็นต้องมีการกำหนดนโยบาย เป้าหมายและทิศทางขององค์กรที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริหารระดับกลางและล่างสามารถนำไปประยุกต์เป็น Action Plan
3)Product / Process Improvement โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Optimization of Resource Usage) เพื่อลดต้นทุนสูญเสียที่เกิดจากการออกแบบและการผลิต (Process)
4) Total Involvement ผู้บริหารและพนักงานทุกคนทุกระดับมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อพัฒนา และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ กิจกรรมการจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์ฯ รุ่นที่ 5 นี้ มีวิสาหกิจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 100 ราย แบ่งเป็นส่วนภูมิภาค 46 ราย ส่วนกลาง 54 ราย ประกอบด้วย 13 สาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายของแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง อุตสาหกรรมเซรามิกและแก้ว อุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมยาและเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก อุตสาหกรรมยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน โดยวางเป้าหมายให้แต่ละกิจการสามารถลดการใช้พลังงานลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ภายในระยะเวลา 7 เดือน ที่เข้าร่วมกิจกรรม