xs
xsm
sm
md
lg

ประวัติและประโยชน์ของ "แก้วสารพัดนึก"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปี 1200-1850 เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่มีความสำคัญต่อประวัติวิวัฒนาการของมนุษย์มาก เพราะนักประวัติศาสตร์ได้มีการบันทึกว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวอารยธรรมของมนุษย์ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารและฉับพลันทันที เมื่อผู้คนตระหนักว่า ในการแสวงหาความจริงที่มีในธรรมชาติ ทุกคนต้องใช้เหตุผลและตรรกะ โดยต้องอาศัยการทดลองเป็นหลักฐานที่สนับสนุน หรือแย้งค้านความเชื่อต่างๆ ว่า ถูกต้องหรือผิดพลาด หาใช่ด้วยความเชื่อตามคำบอกเล่าของผู้อาวุโสทั้งหลายที่ได้ถ่ายทอด โดยการบอกตามๆ กันมา


เหตุการณ์ที่บังเกิดตามมา คือ การถือกำเนิดของยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา (Renaissance) ในดินแดนที่เป็นยุโรปตะวันตก จนมีผลทำให้เกิดวิทยาการสาขาใหม่ๆ เช่น วิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์มากมายหลายสาขา ซึ่งเป็นพื้นฐานของการมีเทคโนโลยี ครั้นเมื่อเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ องค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี ก็จะกลับมาพัฒนาวิทยาศาสตร์อีก

ดังนั้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงเปรียบเสมือนขาทั้งสองข้างของคน ที่มีบทบาทช่วยให้มนุษย์มีอารยธรรม และศาสตร์ทั้งสองนี้ต้องพึ่งพาอาศัยกัน คือ ทำงานร่วมกันอย่างตลอดเวลา และตลอดไป

วัสดุศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่งที่ได้เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของมนุษย์มาก เป็นเวลานานหลายพันปีแล้ว เมื่อมนุษย์โบราณรู้จักใช้ทองคำ เงิน ทองแดง เหล็ก ตะกั่ว ฯลฯ ทำเครื่องใช้ เครื่องประดับ ตลอดจนถึงทำเป็นอาวุธ เพื่อใช้อย่างแพร่หลาย นักโบราณคดีจึงได้แบ่งยุควิวัฒนาการของมนุษย์ตามวัสดุที่ผู้คนนิยมใช้กัน เป็นยุคหิน ยุคทอง ยุคสำริด ยุคเหล็ก ยุคซิลิคอน และยุคดิจิทัล ฯลฯ

"แก้ว" เป็นวัสดุอีกชนิดหนึ่งที่ได้เข้ามามีบทบาทในอารยธรรมของมนุษย์ ตั้งแต่เมื่อ 5,000 ปีก่อน ในดินแดนตะวันออกกลาง และ Mesopotamia


ในหนังสือ “Naturalis Historia” ที่เรียบเรียงโดยปราชญ์โรมันชื่อ Pliny (ค.ศ.23-79) ซึ่งมีเนื้อหาที่หลากหลายและลึกซึ้ง จนทำให้หนังสือเล่มนี้ ได้รับการยกย่องให้เป็นสารานุกรมฉบับแรกของโลก Pliny ได้กล่าวถึงชนชาว Phoenician ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามชายฝั่งด้านทิศตะวันออกของทะเล Mediterranean ว่า มีความเชี่ยวชาญในการเดินเรือมาก และชาว Phoenician ได้พบวิธีทำแก้วโดยบังเอิญ ขณะนำเรือที่บรรทุกสินค้าของตนมาจอดพักที่ปากแม่น้ำ Belus ใน Palestine (ปัจจุบัน คือ แม่น้ำ Na'aman ในอิสราเอล) เพื่อหุงหาอาหาร แล้วได้พยายามค้นหาก้อนหินขนาดใหญ่มาวางเป็นเส้าเตา เมื่อหาไม่ได้ จึงได้นำก้อน natron ที่เป็นสินค้าบนเรือมาวางแทน

หลังการหุงหาอาหาร ชาวเรือเหล่านั้นก็ได้พบว่า มีวัสดุใสเหมือนแก้ว ปรากฏอยู่ที่กลางกองเถ้า และเม็ดทรายที่อยู่ใกล้กองไฟก็ร้อนระอุด้วย

ความรู้เกี่ยวกับการทำแก้วในเวลาต่อมา ได้แสดงให้เห็นว่า แก้วเกิดจากการผสมกันระหว่างทราย silica และ alkali ที่มีใน natron เพราะทรายตามปกติ จะหลอมเหลวที่อุณหภูมิ 1,725 องศาเซลเซียส การมี alkali ปนอยู่ด้วย ได้ทำให้จุดหลอมเหลวของทรายลดลงมาอยู่ที่อุณหภูมิ 1,200 องศาเซลเซียส แก้วจึงสามารถเกิดขึ้นได้ ทั้ง ๆ ที่อุณหภูมิของเตาในเวลานั้นก็ไม่สูงมาก


การติดต่อค้าขายระหว่างชาว Phoenician กับชาวอียิปต์ ได้ทำให้ชาวอียิปต์รู้วิธีทำแก้วด้วย ดังที่นักโบราณคดี เช่น Sir William Matthew Flinders Petrie (1853–1942) ซึ่งเป็นนักอียิปต์วิทยาชาวอังกฤษกับคนอื่น ๆ ได้ขุดพบเครื่องประดับและเครื่องใช้ที่ทำด้วยแก้วมากมายในสุสานของฟาโรห์ Thutmose ที่ 1, Akhenaten และ Tutankhamun ตลอดจนในมหาวิหารที่ Khanak ได้พบกระจก ในเครื่องปั้นดินเผาในปี 1888 ว่ามีทั้งสีฟ้า ชมพู แดง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ช่างทำแก้วชาวอียิปต์รู้จักวิธีการทำแก้วสีเป็นอย่างดีแล้ว


ครั้นเมื่อจักรพรรดิ Alexander มหาราช แห่งอาณาจักร Macedonia ทรงกรีฑาทัพเข้ายึดครองอียิปต์ได้ เมื่อ 332 ปีก่อนคริสตกาล พระองค์ทรงโปรดให้นำช่างแก้วชาวซีเรียและอียิปต์เดินทางกลับยุโรปพร้อมพระองค์ เพื่อถ่ายทอดศิลปะการทำแก้วให้ชาวยุโรปได้ทำบ้าง


หลักฐานของความรุ่งเรืองทางด้านเทคโนโลยีแก้ว ได้มีปรากฏมากมายในดินแดนตะวันออกกลาง เช่น ที่เมือง Samarra (ปัจจุบันอยู่ในประเทศ Iraq) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุง Baghdad ไปทางเหนือ เป็นระยะทางประมาณ 125 กิโลเมตร ที่เมืองนี้มีสุเหร่า ซึ่งองค์กาหลิบ al-Mutawakkil (822-861) ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี 847 จนกระทั่งเสร็จในปี 851 และเป็นสุเหร่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เวลานั้น เพราะสูงถึง 52 เมตร และมีขั้นบันไดวนขึ้นรอบหอคอยรูปทรงกรวยจนถึงยอดสูง ภายในสุเหร่ามีผลงานด้านเทคโนโลยีแก้วเป็นกระจกสีตามหน้าต่าง ทั้ง 28 บาน โดยสีกระจกเป็นสีน้ำเงิน สีขาว และสีทอง ที่พื้นมีแผ่น mosaic ประดับ ภายในสุเหร่ามีศิลปกรรมของศิลปินอาหรับ เป็นลวดลายรูปดอกไม้กับรูปทรงเรขาคณิตที่ยังคงสภาพให้เห็นจนทุกวันนี้ ตลอดเวลา 1,200 ปีที่ผ่านมา


ในปี 2007 สุเหร่าได้รับการยกย่องโดยองค์การ UNESCO ให้เป็นมรดกโลก

ใน วารสาร PLoS ONE, doi.org/cs9c ฉบับเดือนสิงหาคม ปี 2018 Nadine Schibille แห่งมหาวิทยาลัย Orléans ในฝรั่งเศสกับคณะ ได้รายงานการวิเคราะห์หาองค์ประกอบของแก้วจำนวน 265 ชิ้น ที่ได้รับจากพิพิธภัณฑ์ British Museum, Victoria and Albert Museum ในอังกฤษ และจากพิพิธภัณฑ์ Berlin ในเยอรมนี โดยแก้วเหล่านี้อยู่ในรูปของจาน ขวดโหล และกระจกหน้าต่าง ทีมวิจัยได้ทำความสะอาดแก้วเป็นอย่างดี แล้วนำเข้าเครื่อง mass spectrometer เพื่อหาธาตุและโมเลกุล ของสารที่ใช้ทำแก้ว

ในสมัยนั้นแก้วโบราณ มักเป็นแก้วที่ทำขึ้นโดยช่างชาวโรมัน ชาวอียิปต์ และชาว Levant ซึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนตะวันออกกลาง โดยใช้ทรายที่ประกอบด้วยแร่ silicate มาผสมกับ natron ซึ่งเป็น soda ash ที่ชุ่มน้ำ หลังจากการเผาของผสมเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ ก็จะมีแก้วเกิดขึ้น

แต่แก้วที่ Schibille พบ กลับมีส่วนผสมที่แตกต่างไปจากแก้วเดิม คือ แทนที่จะใช้ natron ในการทำ เขากลับใช้เถ้าที่ได้จากการเผาพืช ซึ่งมี magnesium oxide มากประมาณ 3 เท่าของที่พบใน natron และช่างอาหรับได้ใช้แก้วรูปแบบใหม่นี้ ในการประดับประดาสุเหร่าและพระราชวังขององค์กาหลิบ ตลอดจนถึงอาคารในเมืองใกล้เคียงชื่อ al-Qadisiyyah ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 จนเมืองได้รับฉายาว่าเป็นเมืองแก้ว ข้อมูลที่ได้นี้ จึงบอกประวัติของอุตสาหกรรมทำแก้วในอาณาจักรอาหรับในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ให้เราในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ได้รู้และเข้าใจพอสมควร


เมื่อช่างแก้วชางอาหรับเดินทางถึงยุโรปก็ได้ถ่ายทอดความรู้และความสามารถให้ช่างชาวยุโรปได้รับรู้ และนำไปพัฒนาต่อ โดยเฉพาะที่เมือง Venice ในอิตาลี เมื่อปี 982 การผสมผสานเทคโนโลยีทำแก้วของชาวอาหรับกับศิลปะการออกแบบแก้วของชาวยุโรป ได้ทำให้แก้ว Venice มีชื่อเสียงมาก และมีค่าควรเมือง ดุจแก้ว Swarovski ในปัจจุบัน เพราะแก้ว Venice มีสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะ มีรสนิยม สวย จึงมีราคาสูง อุตสาหกรรมทำแก้วใน Venice ได้เจริญรุ่งเรืองมาก โดยเฉพาะที่เกาะ Murano จนทำให้ช่างแก้วฝีมือดีจากแทบทุกภาคส่วนของโลก เดินทางมาทำงานที่นี่เป็นจำนวนมาก และได้จัดตั้งสมาคมวิชาชีพช่างทำแก้วขึ้น เพื่อออกกฎหมายห้ามช่างแก้ว Venice ไปถ่ายทอดศิลปะการเป่าแก้ว การขึ้นรูปแก้ว การให้สีแก้ว ฯลฯ แก่คนที่อยู่นอกเกาะ และถ้าใครฝ่าฝืนก็จะถูกลงโทษจนถึงแก่ชีวิต

แต่ในที่สุดความลับ และเคล็ดลับต่างๆ ในการทำแก้วก็ถูกขโมยออกไป ช่างทำแก้วจึงมีมากมายในฝรั่งเศส เยอรมนี เช็กโกสโลวาเกีย เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ และช่างเหล่านี้ได้ผลิตภาชนะแก้ว ที่เป็นศิลปะระดับอมตะมากมาย เช่น คนโทแก้ว Cristallerie de Baccarat โดยช่างฝรั่งเศส แห่งเมือง Lorraine ในฝรั่งเศส เมื่อปี 1878 คนโทนี้สูง 31.9 เซนติเมตร และขณะนี้ถูกเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ British Museum


นอกจากนี้ก็มีถ้วยแก้ว Lycurgus ที่มีสองสี โดยเวลาถ้วยแก้ววางอยู่ในที่ร่ม จะมีสีเขียว แต่เวลาออกไปรับแสง ถ้วยแก้วจะเป็นสีแดง ถ้วยนี้ทำขึ้นโดยช่างอิตาลีในคริสต์ศตวรรษที่ 4 มีความสูง 15.9 เซนติเมตร ถ้วยมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 13.2 เซนติเมตร และขณะนี้ก็อยู่ที่ British Museum เช่นกัน และสุดท้ายก็มีแก้วขนาดใหญ่ปากกว้าง (beaker) ชื่อ Hedwig ซึ่งทำขึ้นโดยช่างชาวซีเรีย ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 แก้วนี้สูง 14 เซนติเมตร ส่วนชื่อนั้นเรียกตามพระนามในเจ้าหญิง Saint Hedwig เอกลักษณ์พิเศษของแก้วนี้ คือ มีผิวที่แกะสลักเป็นรูปสิงโตมีปีก และตัว griffin ซึ่งเป็นสัตว์ครึ่งนกอินทรีย์และครึ่งสิงโตในเทพนิยาย


ในขณะที่ชาวอิสลามโบราณสนใจใช้แก้วทำภาชนะและเครื่องประดับเป็นส่วนใหญ่ ชาวยุโรปกลับนำแก้วไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมด้านอื่น เช่น นำไปทำเป็นอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ต่าง ๆ มากมาย จนทำให้วิทยาศาสตร์ยุคใหม่ถือกำเนิด และเจริญอย่างยั่งยืนในเวลาต่อมา เช่น ชาวยุโรปได้ใช้แก้วทำกระจกเงา โดยเอาปรอทมาเคลือบที่ผิวด้านหลังของกระจก เพื่อใช้ส่องดูหน้า และบางคนก็ได้นำแผ่นแก้วมาดัดจนเป็นกระจกโค้งเว้า และกระจกโค้งนูน ซึ่งเมื่อนำมาทำเป็นแว่นก็สามารถช่วยคนชรา ในการอ่านหนังสือได้


ด้าน Hans Lippershey (1570-1619) ช่างทำเลนส์ชาวดัตช์ ได้ใช้เลนส์แก้วทำกล้องโทรทรรศน์ในปี 1608 ให้ Galileo Galilei (1564-1642) ใช้สำรวจเอกภพ และพบดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี เป็นการเปิดโลกดาราศาสตร์ยุคใหม่ ส่วน Antony van Leeuwenhoek (1632-1723) ชาวดัตช์ ก็ได้ใช้เลนส์แก้วส่องดูซากอาหารในปาก และได้เห็นจุลินทรีย์ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น นี่เป็นการบุกเบิกวิทยาการด้านชีววิทยา และสร้างความก้าวหน้าให้กับวิทยาศาสตร์การแพทย์


ในสวีเดน Anders Celsius (1701-1744) ได้ใช้แก้วทำเทอร์โมมิเตอร์ เพื่อวัดอุณหภูมิเป็นองศาเซลเซียส ในเวลาไล่เรี่ยกัน Evangelista Torricelli (1608-1647) ชาวอิตาเลียน ซึ่งเป็นศิษย์ของ Galileo ได้ประดิษฐ์ barometer ซึ่งเป็นอุปกรณ์วัดความดันอากาศที่ทำด้วยหลอดแก้ว

ในปี 1662 Isaac Newton (1642-1727) ชาวอังกฤษ ได้ใช้ปริซึมแก้วแยกแสงอาทิตย์ เป็นการเปิดวิทยาการสาขา spectroscopy ที่ช่วยให้เรารู้ว่า บนต่างดาวมีธาตุอะไรบ้าง และในปี 1785 Benjamin Franklin (1706-1790) รัฐบุรุษชาวอเมริกัน ได้ประดิษฐ์แว่นตา แบบ bifocal ที่กระจกแว่น ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ให้ส่วนล่างสำหรับใช้อ่านหนังสือ และส่วนบนสำหรับใช้มองดูวัตถุที่อยู่ไกล

ในด้านสถาปัตยกรรม สถาปนิกผู้สร้างอาคารก็ได้พบว่า หน้าต่างกระจกแก้วและผนังที่ทำด้วยแก้ว จะทำให้บรรยากาศภายในอาคารและที่ทำงานโล่งโปร่งและสว่าง เพราะแสงอาทิตย์สามารถสาดส่องทะลุเข้าไปในอาคารได้ และในเวลาเดียวกันคนที่ทำงานในอาคาร ก็สามารถเห็นธรรมชาติภายนอกอาคารได้ดี การมีสภาพจิตใจที่ดี มักทำให้คนทำงาน ทำงานได้ดีขึ้น และสำหรับพ่อค้าแม่ขาย เมื่อนำสินค้าบรรจุลงในตู้กระจก ลูกค้าก็สามารถเห็นสินค้า และตัดสินใจซื้อได้ในทันที โดยไม่ต้องถามคนขาย

ในด้านการทำเกษตรกรรม เกษตรกรทุกวันนี้นิยมสร้างเรือนกระจกที่สามารถควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นภายในเรือนได้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกพืช ผัก และดอกไม้นอกฤดูได้

สำหรับแพทย์และวิศวกรปัจจุบัน ก็ได้ใช้ใยแก้ว (glass fiber) ในการตรวจดูอวัยวะภายในร่างกาย และในการสื่อสาร ส่วนนักวัสดุศาสตร์ก็ได้พยายามสร้างวัสดุฉลาด (smart material) เพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันมากมาย โดยนำธาตุต่าง ๆ มาผสมกัน เพื่อให้มีสมบัติของแก้วที่แข็งมาก จนสามารถตัดเพชรได้ เป็นต้น โดยอาศัยหลักการว่า องค์ประกอบที่เป็นธาตุของวัสดุผสมนี้ เมื่อมาอยู่ด้วยกัน จะทำให้วัสดุผสมในภาพรวม มีคุณภาพดียิ่งกว่าคุณภาพของแต่ละวัตถุแต่ละชนิดเมื่ออยู่แยกกัน


ใน วารสาร National Science Review ปี 2013 Tian Yongjun แห่ง Yanshan University ที่เมือง Qinhuangdao ในมณฑล Hubei ของจีน ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างวัสดุที่แข็งสุด ๆ เทียบเท่าเพชร คือ ผลึก boron nitride ที่ความดัน 200 GPa (gigapascal)

เพชรนั้น แม้จะเป็นวัสดุที่แข็งที่สุด แต่เวลานำไปตัดโลหะ ferrous เช่น เหล็กกล้า ปฏิกิริยาเคมีระหว่างเพชร (C) กับเหล็ก (Fe) จะทำให้ได้สารประกอบ iron carbide นั่นคือ เพชรจะกร่อน


ส่วนสารประกอบ boron nitride ซึ่งแข็งรองเป็นที่สองจากเพชร สามารถตัดโลหะ ferrous ได้สบายๆ แต่สารประกอบชนิดนี้ ไม่มีในธรรมชาติให้ใช้ นักวัสดุศาสตร์จึงต้องสังเคราะห์มันขึ้นมา แต่ต้องใช้ความดัน และอุณหภูมิที่สูงมาก เงื่อนไขนี้จึงทำให้มันมีราคาแพงมาก

ในปี 2023 ทีมวิจัยของ Tian ได้ประสบความสำเร็จในการผลิตวัสดุ superhard ที่แข็งมากเท่าเทียมเพชรได้ โดยใช้อัญรูปของคาร์บอนชื่อ fullerene ที่เป็นทรงกลมรูปฟุตบอล แล้วนำมาอัดที่ความดัน 25 GPa และเผาที่อุณหภูมิ 1,200 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 12 ชั่วโมง โดยค่อย ๆ เพิ่มความดันและอุณหภูมิทีละน้อย ๆ จนถึงจุดสูงสุด แล้วลดความดันกับอุณหภูมิลง โดยใช้เวลานานพอ ๆ กัน ทีมวิจัยได้ตั้งชื่อวัสดุใหม่นี้ว่า AM-III เป็นการชั่วคราว ลักษณะทางกายภาพของวัสดุชนิดใหม่นี้ คือ เป็นแก้วโปร่งใส มีสีเหลือง และมีสมบัติเป็นสารกึ่งตัวนำ จึงมีประสิทธิภาพเหมือน silicon ทำให้สามารถนำไปใช้ทำอุปกรณ์ photoelectric ได้ เพราะสามารถทนความร้อน และความดันที่สูงมากได้

ประโยชน์สุดท้ายของแก้วที่น่าจะต้องกล่าวถึง คือ การใช้แก้วสะท้อนแสงเลเซอร์ เพื่อวัดระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ได้อย่างละเอียดถึงระดับมิลลิเมตร


นับตั้งแต่ปี 1969 ที่มนุษย์อวกาศได้เดินทางไปเยือนดวงจันทร์ในโครงการ Apollo11-17 มนุษย์อวกาศชาวอเมริกันได้ทิ้งอุปกรณ์ LLR (จากคำเต็มว่า Lunar Laser Ranging) ไว้บนดวงจันทร์ 6 เครื่อง ณ สถานที่ต่าง ๆ กัน ด้านยานอวกาศของรัสเซีย ก็ได้นำ LLR 2 เครื่อง ไปทิ้งไว้บนดวงจันทร์ และยาน Chandrayaan-3 ของอินเดียก็ได้นำ LLR 1 เครื่อง ไปทิ้งไว้เมื่อปี 2023 เช่นกัน

หลักการวัดระยะทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์ คือ ถ้าเรารู้เวลาที่แสงเดินทางไปและกลับจากโลกถึงดวงจันทร์ เราก็สามารถหาระยะทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์ได้ เพราะแสงจะใช้เวลานานประมาณ 2.5 วินาที ในการเดินทางไปและกลับ และความเร็วของแสง คือ 299,792,458 เมตร/วินาที


แต่การวัดเวลาให้ถูกต้องที่สุด เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก เพราะแสงต้องเดินทางผ่านบรรยากาศโลกที่มีความหนาแน่น และดัชนีหักเหไม่สม่ำเสมอ อีกทั้งโลกและดวงจันทร์ก็มีความเร็วในการเคลื่อนที่ต่างกัน การเลื่อนตัวของเปลือกโลก และเปลือกดวงจันทร์ ก็มีส่วนในการเคลื่อนย้ายตำแหน่งของแหล่งแสงและกระจกสะท้อนแสง ทำให้ระยะทางระหว่างโลกและดวงจันทร์เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ความร้อนและความหนาวเย็นบนดวงจันทร์ ก็สามารถทำให้กระจกสะท้อนแสง ยืดตัวและหดตัวได้ด้วย ประเด็นการดักจับแสงเลเซอร์ที่สะท้อนมาถึงโลกก็มีปัญหามาก เพราะจาก photon ที่ส่งไปจากโลกจำนวน 3*(10^17) อนุภาค จำมี photon ที่สะท้อนกลับถึงจอรับแสงบนโลกเพียง 1-5 อนุภาคเท่านั้นเอง แต่นักมาตรวิทยาก็สามารถจะรับได้ เพราะเขารู้ความยาวของคลื่นแสงเลเซอร์ที่ส่งไป ซึ่งจะต้องเท่ากับความยาวของคลื่นแสงเลเซอร์ที่สะท้อนกลับมา การรู้ความเร็วในการหมุนรอบตัวของโลก และของดวงจันทร์ที่ไม่สม่ำเสมอ ก็มีส่วนทำให้การวัดความเร็วในการรับ-ส่งแสงผิดพลาดได้
กระนั้นข้อมูลที่ได้ตลอดเวลา 55 ปีที่ผ่านมานี้ ก็แสดงให้เห็นว่า ดวงจันทร์ได้เคลื่อนที่ถอยห่างจากโลก ไปเป็นระยะทางโดยเฉลี่ยประมาณ 3.8 เซนติเมตร/ปี โครงสร้างภายในของดวงจันทร์มีแก่นกลาง และมีเนื้อดาว (mantle) คล้ายโลก ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ Einstein ที่ใช้บรรยายวงโคจรของดวงจันทร์รอบโลก และของโลกรอบดวงอาทิตย์ก็ยังใช้ได้ อีกทั้งค่าคงตัวโน้มถ่วงสากล (G) ของ Newton ก็มีค่าคงตัวจริง ๆ คือ ไม่ขึ้นกับเวลา นั่นคือ ไม่เปลี่ยนแปลง 9*10^(-13)% ต่อปี
แผนงานชิ้นต่อไป ที่นักวิทยาศาสตร์จะทำ คือ การนำกระจกแก้วสะท้อนแสง LLR ไปวางบนดาวอังคาร แต่จะเมื่อใดนั้น ก็ยังไม่มีใครรู้

อ่านเพิ่มเติมจาก "World of Glass by Geoffrey Reid Associates". The Architects' Journal. 5 October 2000. Retrieved 4 July 2021.


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น