xs
xsm
sm
md
lg

“ศุภมาส” ลงพื้นที่โคราช ก่อนประชุม ครม.สัญจร สั่งต่อยอด “โดรนเพื่อการเกษตรแม่นยำ” ให้โดรนสามารถสำรวจตรวจสอบภาพดิน-พืช เพื่อออกแบบปุ๋ยได้ตรงเป้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศุภมาส” ลงพื้นที่โคราช ก่อนประชุม ครม.สัญจร สั่งต่อยอด “โดรนเพื่อการเกษตรแม่นยำ” ให้โดรนสามารถสำรวจตรวจสอบภาพดิน-พืช เพื่อออกแบบปุ๋ยได้ตรงเป้า ยกระดับการทำการเกษตรของประชาชนให้มีประสิทธิภาพ เตรียมผลักดันศูนย์ทดสอบมาตรฐานอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นในภาคอีสาน พร้อมนำคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. มาสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในพื้นที่ รวมทั้งออกหน่วยแพทย์ หน่วยทันตกรรม หน่วยคัดกรองโรคจากคณะแพทย์ มทส.ช่วยดูแลพี่น้องประชาชน


เมื่อวันที่ 1 ก.ค.67 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. และผู้บริหารกระทรวง อว. ลงพื้นที่ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร กลุ่มพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ที่โรงเรียนจักราชวิทยา อ.จักราช จ.นครราชสีมา โดยกระทรวง อว.ได้นำนวัตกรรมโดรนเพื่อการเกษตรแม่นยำจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 (จังหวัดนครราชสีมา) มาจัดแสดง โดยสาธิตวิธีการใช้โดรนเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตร ภาคผลิตและภาคบริการ เพื่อสร้างโอกาสให้กับประชาชน นอกจากนี้ ยังจัดอบรมส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคในพื้นที่ โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการผลิตอาหารเลี้ยงโคอย่างมีคุณภาพ สามารถช่วยลดต้นทุนค่าผลิตอาหารสัตว์ให้กับเกษตรกร รวมทั้งการสนับสนุนเนื้อโคไทยเข้าสู่ตลาดพรีเมี่ยมและตลาดสากล ขณะเดียวกัน องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) นำคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. มาจัดแสดงให้เยาวชนในพื้นที่ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างสนุกสนาน โดยได้รับความสนใจจากประชาชน นักเรียนและเยาวชนเป็นจำนวนมาก

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ภารกิจของกระทรวง อว.แบ่งเป็น 2 ด้าน ได้แก่ ด้านอุดมศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม การนำผลงานมาจัดแสดงในพื้นที่ครั้งนี้คือการตอบโจทย์ของการพัฒนาตามภารกิจของกระทรวง อว. ทั้งสองด้าน โดยได้มีการนำโรงเรียนแพทย์ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง อว. มาออกหน่วยเพื่อบริการประชาชน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ หรือแม้กระทั่งการคัดกรองโรคต่าง ๆ จากคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) มาช่วยดูแลพี่น้องประชาชนที่ อ.จักราช ขณะเดียวกัน เรายังนำคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. ที่นำกิจกรรมต่าง ๆ มาสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ ที่อาจไม่คุ้นเคยกับวิทยาศาสตร์ ให้มีใจรักและความชอบวิทยาศาสตร์ รวมทั้งยังเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับเด็กและเยาวชนที่อาจยังไม่สามารถเข้าถึงพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่กรุงเทพมหานครได้

รมว.อว. กล่าวต่อว่า ในด้านของวิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม เราให้ความสำคัญในหลายเรื่อง หลัก ๆ คือเราพร้อมดูแลประชาชนโดยการนำวิทยาศาสต์มาแก้จน เช่น การนำนวัตกรรมโดรนมาใช้ในภาคการเกษตร อย่างเมื่อก่อนเราใช้กระบือไถนา ต่อมามีการใช้รถแทรกเตอร์ในการช่วยไถนาแทน เปลี่ยนจากการใช้แรงงานสัตว์ แรงงานคนมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ขณะนี้นอกจากเราสามารถใช้โดรนช่วยพ่นยาฆ่าแมลง เรายังสามารถใช้โดรนเพื่อการเกษตรแม่นยำ ซึ่งจะช่วยยกระดับการทำเกษตรกรรมของประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นผ่านการนำอากาศยานและนักบินที่มีประสิทธิภาพประเมินสำรวจและวิเคราะห์พื้นที่ก่อนทำการเกษตรระหว่างการเกษตรและหลังเก็บเกี่ยวซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกและประเมินค่าใช้จ่ายในการทำเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพยากยิ่งขึ้น อธิบายง่ายๆ ได้ว่า สามารถนำโดรนไปสำรวจสภาพดิน ต้นไม้ ใบไม้ เป็นอย่างไร เพื่อที่จะเอามาวิเคราะห์ว่ามีแร่ธาตุอะไรในดินนั้นบ้าง สุดท้ายเมื่อรู้ว่าสภาพดินแต่ละที่ไม่เหมือนกัน เราจะสามารถออกแบบปุ๋ยได้ถูก เป็นการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง แต่เกิดผลสัมฤทธิ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

“ขณะนี้ ตนได้มอบหมายให้อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 พัฒนาโดรนเพื่อการเกษตรแม่นยำ และผลักดันให้มีศูนย์ทดสอบมาตรฐานอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นภายในภาคอีสานซึ่งจะทำให้นวัตกรรมที่เกิดในภูมิภาคอีสานมีการพัฒนามากยิ่งขึ้นและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในพื้นที่สามารถพัฒนานักวิจัยหรือนวัตกรรมออกสู่ตลาดและส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นวงกว้าง สุดท้ายผลประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชน“ น.ส.ศุภมาส กล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น