กว่าจะมาเป็นผลทุเรียนที่มีคุณภาพในแต่ละปีนั้น ชาวสวนทุเรียนต้องดูแลและปกป้องต้นทุเรียนด้วยความเอาใจใส่ เพราะในปัจจุบันมีโรคพืชและแมลงศัตรูพืชมากมายที่เป็นตัวการทำให้ต้นทุเรียนอ่อนแอ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้การออกดอกออกผลไม่มีคุณภาพ สร้างปัญหาให้ชาวสวนทุเรียนเป็นอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ ทีมนักวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้นำงานวิจัยชีวภัณฑ์มาช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนทุเรียน และยังคำนึงในเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่จะไม่สร้างผลเสียต่อเศรษฐกิจ "การฟื้นฟูสีเขียว หรือ Green Recovery" ซึ่งเป็นแนวทางและมาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความเจริญเติบโตแบบยั่งยืน รวมทั้งสอดคล้องตามนโยบาย “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ”
ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจโรคและแมลงศัตรูที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่จังหวัดระยอง และทดสอบประสิทธิภาพของชีวภัณฑ์ในการจัดการสวนทุเรียน ทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการระบาดของโรคและแมลงสำคัญ เพื่อสร้างองค์ความรู้และกระบวนการจัดการปัญหาโรคและแมลงในสวนทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมีที่มีอันตราย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนอินทรีย์หรือทุเรียนปลอดภัย และส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกร แรงงานไทยและต่างชาติ รวมถึงผู้บริโภค และลดการปนเปื้อนของสารเคมีเกษตรสู่แหล่งน้ำหรือสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลเสียทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมสัตว์น้ำและการท่องเที่ยวด้วย
พื้นที่สวนคุณสันติ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ทดสอบการใช้ชีวภัณฑ์ระดับแปลงและจัดทำเป็นแปลงสาธิตแสดงประสิทธิภาพของสารชีวภัณฑ์แก่ผู้ปลูกทุเรียน โดยมีเป้าหมายในการแก้ปัญหา ยุติความสูญเสียจากการยืนต้นตายของต้นทุเรียน โดยทีมวิจัยได้ทำการสำรวจโรคและแมลงที่เป็นปัญหาในแปลง พูดคุยสร้างความเข้าใจและถ่ายทอดความรู้เรื่องชีวภัณฑ์กับคุณสันติและคุณพ่อ รวมไปถึงคนงานที่อยู่ในสวนอย่างใกล้ชิด การทดสอบประสิทธิภาพของการใช้ชีวภัณฑ์แบ่งเป็นสามกรรมวิธี กรรมวิธีละ 1 ไร่ ประกอบด้วย กรรมวิธีใช้สารชีวภัณฑ์อย่างเดียวตามการระบาด กรรมวิธีผสมผสานชีวภัณฑ์และสารเคมี และกรรมวิธีดั้งเดิมตามแนวทางของเกษตรกรที่ใช้สารเคมีเพียงอย่างเดียว โดยเริ่มการทดสอบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ปัจจุบัน
พบว่า ชีวภัณฑ์มีประสิทธิภาพในการควบคุมแมลงศัตรูได้ดีหรือเทียบเท่าสารเคมี และยังพบการเพิ่มขึ้นของแมลงศัตรูธรรมชาติที่มีประโยชน์ (แมลงดี) ในแปลงที่ใช้ชีวภัณฑ์และผสมผสานมากกว่าแปลงสารเคมี แสดงให้เห็นว่าการใช้ชีวภัณฑ์สามารถฟื้นคืนสมดุลธรรมชาติระบบนิเวศในสวนทุเรียนได้ดี ในด้านของโรคทุเรียน พบว่า ชีวภัณฑ์สามารถหยุดการตายของต้นทุเรียนได้ ต้นทุเรียนค่อยๆ ฟื้นตัว ดังนั้น ทีมวิจัยจึงได้สนับสนุนให้คุณสันติฉีดพ่นไตรโคเดอร์มาแบบปูพรมทั้งสวน เพื่อลดความรุนแรงของเชื้อราไฟทอปธอร่า และไตรโคเดอร์มา ทั้งยังสามารถส่งเสริมความแข็งแรงของพืชได้อีกด้วย เมื่อพิจารณาด้านคุณภาพและปริมาณผลผลิต พบว่า การใช้ชีวภัณฑ์หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวภัณฑ์ร่วมกับสารเคมี ไม่ส่งผลเสียต่อรสชาติและคุณลักษณะภายนอกของผลทุเรียน และทุเรียนยังให้ผลผลิตใกล้เคียงกับการใช้สารเคมีคือ เฉลี่ย 43-57 ผล/ต้น”