xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) แห่งแรกในไทย! “ห้องแล็บโคลนนิ่งอินทผลัม” ปลูกไม่ต้องลุ้นเพศ ลดเสี่ยงลดทุนนำเข้าต้นพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




“อินทผลัม” เป็นอีกหนึ่งผลไม้ที่กำลังได้รับความนิยมในการปลูกในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะพันธุ์ทานสด ที่มีน้ำตาลเชิงเดี่ยวที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงทำให้อินทผลัมได้รับความสนใจจากตลาดต่างประเทศ ในอนาคตหากมีการส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศแล้ว อินทผลัมก็จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก

แต่ด้วยการเติบโตช้าของพืชตระกูลปาล์ม และการขยายพันธุ์ด้วยการเพราะเมล็ดพันธุ์ที่ไม่สามารถกำหนดเพศได้ จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าต้นพันธุ์เพศเมียที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากต่างประเทศในราคาที่สูง ทำให้เกษตรกรสวนอินทผลัมต้องใช้เงินทุนและเวลาจำนวนมากในการปลุกแต่ละต้น ด้วยเหตุนี้ จึงได้เกิดความร่วมมือระหว่าง ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ บริษัท พี โซลูชั่น จำกัด จัดตั้ง “ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัม” เพื่อแก้ไขปัญญาในเรื่องนี้


ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต นักวิจัยไบโอเทค หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัมพันธุ์ทานสดในเชิงพาณิชย์ เล่าว่า ปัจจุบันธุรกิจการปลูกอินทผลัมพันธุ์ทานสดในประเทศไทยมีการขยายตัวในวงกว้างมากขึ้นกว่าในอดีต เนื่องจากเป็นไม้ผลที่มีน้ำตาลเชิงเดี่ยวที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและมีมูลค่าสูงในตลาด แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของการคัดเลือกสายพันธุ์อินทผลัมเพื่อผลิตต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพและเหมาะสมต่อการปลูกในประเทศไทย อินทผลัมเป็นพืชที่แยกเป็นต้นตัวเมียและต้นตัวผู้ คุณภาพของผลผลิตส่วนใหญ่จึงมาจากทางต้นแม่มากกว่าต้นพ่อ การพัฒนาต้นแม่พันธุ์ดีด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะการันตีถึงความสม่ำเสมอของคุณภาพและปริมาณของผลิตผลอินทผลัมที่จะออกสู่ตลาด


จากปัญหาในการเพาะปลูก สู่งานวิจัยแก้ปัญหาเพื่อเกษตรกรสวนอินทผลัมไทย

อินทผลัมเป็นพืชตระกูลปาล์มที่มีการเติบโตช้า เป็นพืชแยกเพศต่างต้น การเพาะพันธุ์อินทผลัมในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่จะทำด้วยการเพาะเมล็ด ซึ่งการเพาะพันธุ์วิธีนี้เกษตรจะต้องลุ้นว่าต้นที่โตมานั้นเป็นต้นเพศใด กว่าจะทราบเพศต้องใช้เวลา 3 - 5 ปี ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแล การจัดการ ค่าปุ๋ยและค่าจ้างแรงงาน

นอกจากวิธีการเพาะเมล็ดก็จะมีการปลูกด้วยต้นอินทผลัมจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ด้วยการนำเข้าจากต่างประเทศเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ในราคาที่ห้องปฏิบัติการในต่างประเทศเป็นผู้กำหนด และต้นพันธุ์จากการเพาะเนื้อเยื่อที่ส่งมานั้น ยังเสี่ยงต่อการได้รับต้นพันธุ์ที่ไม่ตรงตามสายพันธุ์ที่เกษตรกรต้องการ กว่าจะทราบก็ต้องใช้เวลาในการปลูกจึงรู้ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการปลูกเป็นอย่างมาก


ช่วยเกษตรกรลดต้นทุน และระยะเวลาในการผลิต

จากความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานที่ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัม ซึ่งถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทย สามารถทำให้ลดการนำเข้าต้นอินทผลัมจาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากต่างประเทศ และทำให้เกษตรได้รับต้นพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์และมีคุณภาพตรงตามสายพันธุ์ โดยทางโครบการวิจัยตั้งเป้าผลิตต้นกล้าอินทผลัมจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อประมาณ 5,000 - 10,000 ต้นต่อปี คาดว่าสามารถผลิตและจำหน่ายกล้าอินทผลัมจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ภายในเดือน ตุลาคม 2565


“การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก็คล้ายกับวิธีการโคลนนิ่งต้นพันธุ์ ที่ได้มีการคัดเนื้อเยื่อจากต้นแม่พันธุ์ดี แม่พันธุ์เป็นอย่างไรต้นพันธุ์จะเป็นอย่างนั้น เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดระยะเวลาในการระบุเพศ และการันตีถึงความสม่ำเสมอของคุณภาพและปริมาณของผลิตผลอินทผลัมที่จะออกสู่ตลาด”


การพัฒนาสายพันธุ์ที่ดีสำหรับประเทศไทยได้ ก็สามารถนำเอานวัตกรรมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่พัฒนาขึ้นไปใช้ประโยชน์ในการขยายต้นพันธุ์เพื่อปลูกในเชิงพาณิชย์ เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ให้วงการอินทผลัมไทยได้อย่างยั่งยืน




กำลังโหลดความคิดเห็น