ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) จังหวัดชลบุรี และศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริจังหวัดจันทบุรี จัดอบรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดการโรคและแมลงศัตรูพืชในสวนทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์” ณ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนบ้านมาบโอน จังหวัดจันทบุรี และทางออนไลน์ เพื่ออบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่เกษตรในพื้นที่เกี่ยวกับการใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชในสวนทุเรียน การผลิตชีวภัณฑ์เบื้องต้นสำหรับใช้ในสวนทุเรียน เพื่อประโยชน์ด้านความปลอดภัยต่อตัวเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมจากการใช้ชีวภัณฑ์ ทำให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจและมั่นใจที่จะใช้ชีวภัณฑ์เพื่อจัดการศัตรูพืชในสวนทุเรียนมากขึ้น รวมถึงสามารถนำชีวภัณฑ์ไปปรับใช้กับสวนทุเรียนและผลิตชีวภัณฑ์ใช้เองได้ ส่งเสริมเกษตรกรสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตในพื้นที่ ตามนโยบาย BCG สาขาเกษตร ด้วยการสร้างความพร้อมและความสามารถในการเข้าถึงปัจจัยการผลิตชีวผลิตภัณฑ์สำหรับพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ นำสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดต่อไป
ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ (IBCT) ไบโอเทค สวทช. เปิดเผยว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการจัดการโรคและแมลงศัตรูพืชในสวนทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์ เป็นการส่งเสริมการใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชในทุเรียนอย่างถูกวิธี ให้แก่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่เกษตรในพื้นที่ได้รับความรู้เรื่องการใช้ชีวภัณฑ์ที่ “ถูกชนิด ถูกเวลา ถูกวิธี” ด้วยการจัดการที่ดีในสวนทุเรียน และการผลิตชีวภัณฑ์ที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการใช้ชีวภัณฑ์ในพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย ซึ่งทุเรียนนับเป็นผลไม้ที่มีมูลค่าสูงมาก แต่ติดปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือโรครากเน่าโคนเน่า ปกติเกษตรกรมักใช้สารเคมีปริมาณสูงมากเพื่อกำจัดแม้กระทั่งการฉีดเข้าไปที่ลำต้น สิ่งที่ทีมวิจัยฯ พยายามเข้าไปนําเสนอคือ การใช้จุลินทรีย์ เช่น ราไตรโครเดอร์มา เพื่อมาจัดการโรครากเน่าโคนเน่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถากทาที่แผล ร่วมกับการฉีดพ่นลงดินและบริเวณโคนต้น ในระยะยาวพบว่าเมื่อใช้ไปแล้ว 3-4 เดือน แผลแห้งลง ต้นที่มีการเหี่ยวเฉาจะฟื้นฟูขึ้นมา มีใบผลิงอกขึ้นชัดเจน รวมถึงยังมีชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น ราบิวเวอเรียที่ใช้จัดการเพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยไฟและเพลี้ยจักจั่น และราเมตาไรเซียมที่ใช้กำจัดไรแดงและแมลงปีกแข็งชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
“จันทบุรีนับเป็นพื้นที่สำคัญในภาคตะวันออกที่มีการผลิตทุเรียนในพื้นที่มาก เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทีมวิจัยจึงได้บูรณาการเชิงพื้นที่ (Area-Based) กับหน่วยงานหลายภาคส่วน ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มในพืชเศรษฐกิจของจังหวัดอย่างทุเรียน ด้วยการใช้ชีวภัณฑ์จัดการศัตรูทุเรียน เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรที่มีประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง”
ด้าน นายปัญญา ประดิษฐสาร เกษตรจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ทิศทางตลาดทุเรียนปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่จังหวัดได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้ชีวภัณฑ์ในสวนทุเรียน เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับต้นทุเรียนและลดต้นทุนให้กับพี่น้องเกษตรกร เพราะหากต้นทุเรียนมีความแข็งแรง จะสามารถติดดอก ออกผลได้อย่างเต็มที่ แล้วคงต้นอยู่ได้อย่างยาวนาน ต่างจากการใช้สารเคมีอย่างพร่ำเพรื่อ ที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นและต้นทุเรียนจะอ่อนแอลงไปด้วย ในการสนับสนุนตรงนี้เรามีกลไกลผ่านทางศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนที่มีสมาชิกอยู่ในทุกอำเภอ ในทุกตำบล เพื่อให้การใช้สารชีวภัณฑ์เข้าไปช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความปลอดภัย และทำให้ผลผลิตมีคุณภาพยาวนาน
ทั้งนี้ การอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว มีการให้ความรู้เรื่องการใช้ชีวภัณฑ์และคู่มือปฏิบัติงานเบื้องต้นในสวนทุเรียน การสำรวจและควบคุมแมลงศัตรูพืชในสวนทุเรียน การควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าในสวนทุเรียนด้วยราไตรโคเดอร์มา พร้อมติดอาวุธความรู้ด้วยฐานกิจกรรมเชิงปฏิบัติการอย่างเข้มข้นให้เกษตรกรได้ลงมือทำจริง ได้แก่ การใช้และการผลิตชีวภัณฑ์เบื้องต้น การสำรวจประเมินแมลงศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติในสวนทุเรียน และการสำรวจประเมินโรคพืชและใช้ราไตรโคเดอร์มาในสวนทุเรียน รวมถึงยังนำเกษตรกรเข้าเยี่ยมชมสวนทุเรียนตัวอย่างที่มีการใช้ชีวภัณฑ์เทียบกับการใช้สารเคมี และใช้แบบผสมผสานด้วย เพื่อให้ทราบถึงแบบแผนการจัดการศัตรูพืชแบบครบวงจรในทุเรียนและองค์ความรู้ในการจัดการศัตรูพืชอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ในงานยังมีการออกบูธของผู้ประกอบการที่ได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านชีวภัณฑ์จาก สวทช. ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ด้านชีวภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน ทำให้เกษตรกรได้ใช้ชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปริมาณตามที่กรมวิชาการเกษตรได้แนะนำ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมการใช้ชีวภัณฑ์ของประเทศไทยอีกทางหนึ่ง
เกษตรกรหรือผู้สนใจสามารถศึกษาและอ่านคู่มือการจัดการศัตรูทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์ในรูปแบบ e-book ได้ที่ลิงค์ https://anyflip.com/bookcase/buxwn พร้อมติดตามข่าวสารเกี่ยวกับชีวภัณฑ์เพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ทางเพจ https://www.facebook.com/BIOTEC.Biocontrol