“ป่าแอมะซอน” ป่าฝนเขตร้อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดถึง 7.4 ล้าน ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่กว่า 40% ของละตินอเมริกา กระจายไปใน 9 ประเทศ คือ โบลิเวีย บราซิล โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เฟรนช์เกียนา กายอานา เปรู ซูรินาเม และเวเนซุเอลา ซึ่งป่าแห่งนี้ผลิตออกซิเจนให้กับโลกประมาณ 20%
แต่ในการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ ได้เผยข้อมูลว่า ป่าฝนเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้อาจจะไม่มีอีกแล้วภายในปี 2050
Bernardo Flores นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Federal University of Santa Catarina ประเทศบราซิล ผู้เขียนรายงานการศึกษาป่าแอมะซอน ที่เผยแพร่ในวารสาร Nature เผยว่า การขาดความชุ่มชื้น การปรับเปลี่ยนที่ดิน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจทำให้ป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้กลายเป็นทุ่งหญ้าสะวันนา ภายในปี 2050
จากผลกระทบในปัจจุบัน ที่มาจากปัจจัยต่างๆ รวมกัน เช่น กิจกรรมของมนุษย์ในพื้นที่ป่า และวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก ทำให้ป่าฝนแอมะซอนกำลังเดินทางไปสู่จุดเปลี่ยนที่ไม่สามารถย้อนกลับไม่ได้เหมือนเดิม
แม้เหล่านักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์จะเรียกร้องให้มีฟื้นฟูพื้นที่และปรับปรุงความยืดหยุ่นของระบบนิเวศอย่างเร่งด่วน เพราะการศึกษาคิดว่า ป่าฝนแห่งนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ แต่ในความเป็นที่จริงสถานการณ์กลับเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการไว้
ป่าฝนแอมะซอนสามารถทนต่อความแปรปรวนของภูมิอากาศได้ มานานกว่า 65 ล้านปี แต่ในปัจจุบันกลับถูกคุกคามอย่างหนัก ทั้งจากความแห้งแล้ง ความร้อน ไฟไหม้ ที่ทำให้ป่าฝนขาดความชุ่มชื้น การปรับที่ดินในป่าที่ส่งผลกระทบถึงบริเวณใจกลางส่วนลึกของป่าแอมะซอน
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะเกิดแบบเป็นลูกโซ่ ซึ่งจะทำให้ในหลายพื้นที่มีฝนตกน้อยลง ป่าฝนขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน จะกลายเป็นที่ปล่อยคาร์บอน ปัจจุบันอุณหภูมิในฤดูแล้งสูงกว่าเมื่อ 40 ปีที่แล้วถึง 2°C
ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ประเมินว่าภายในปี 2050 ป่าอเมซอน 10 - 47% จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบนิเวศ จากป่าฝนกลายเป็นทุ่งหญ้าสะวันนาที่แห้งแล้ง และจะมีวันที่แห้งแล้งมากกว่าปัจจุบันมากถึง 10-30 วัน และอุณหภูมิสูงสุดต่อปีจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 2 - 4°C
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : www.nature.com , www.wionews.com FB : Environman