xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“อิกัวนาเขียว” เอเลียนสปีชีส์ คุกคามนิเวศ เป็นภัยต่อมนุษย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - วายร้ายทำลายระบบนิเวศ “จับเป็น” หรือ “จับตาย” ติดตามสถานการณ์ “อิกัวนาเขียว” เอเลียนสปีชีส์ บุกสร้างความเดือดเมืองละโว้ จ. ลพบุรี ทั้งยังพบในพื้นที่ จ.อุดรธานี และ จ.เพชรบุรี สร้างปัญหากัดกินพืชผลทางการเกษตร เกิดกระแสข่าวลือชาวบ้าวถูกกัดจนนิ้วขาด สร้างความเดือนร้อนรำคาญให้ประชาชนในพื้นที่ อีกทั้ง “อิกัวนาเขียว” ยังเป็นพาหะของเชื้อ “ซาโมเนลลา” ก่อโรคอุจจาระร่วงในมนุษย์

กลายเป็นประเด็นร้อนที่ “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการเร่งด่วนแก้ปัญหาเอเลียนสปีชีส์ “อิกัวนาเขียว” แพร่กระจายพันธุ์เป็นจำนวนมากในพื้นที่ชุมชน บุกพื้นที่ไร่นาสวนเกษตรกรรม ซึ่งอาจเล็ดรอดสู่พื้นที่ป่าธรรมชาติเมืองไทย ส่งผลต่อภาคเกษตรกรรม และกระทบรุนแรงอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ

กล่าวสำหรับเจ้ากิ้งก่าต่างถิ่น “อิกัวนาเขียว” จัดอยู่ในหมวด “เอเลียนสปีชีส์” ที่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว สามารถอยู่ได้ในระบบนิเวศใหม่ๆ ด้วยการรุกรานสัตว์พื้นถิ่นทำให้สัตว์พื้นถิ่นมีน้อยลงหรือสูญพันธุ์ เป็นสัตว์ประจำถิ่นในป่าเขตร้อนของเม็กซิโก อเมริกากลาง อเมริกาใต้และหมู่เกาะแคริบเบียน ซึ่งเป็นสัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร โดยช่วงวัยอ่อนจะกินแมลง หอย และเมื่อถึงช่วงอายุวัยเจริญพันธุ์จะกินใบไม้ ดอกไม้ เป็นต้น

ตามกฎหมายประเทศไทยถือเป็นสัตว์ป่าควบคุมในบัญชี อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) ลําดับที่ 690 “อิกัวนา” ทุกชนิดในสกุล “Iguana” : มาตรา 9 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตวป่า พ.ศ. 2562 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าควบคุม พ.ศ.2565 และเมื่อวันที่ 20 ก.พ.2561 กำหนดให้อีกัวนาขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าต่างถิ่นที่มีประวัติว่ารุกรานแล้วในประเทศอื่น แต่ยังไม่รุกรานในประเทศไทย เพื่อป้องกันการหลุดรอดในธรรมชาติและกระทบระบบนิเวศ

ทั้งนี้ “อิกัวนาเขียว” เคยเป็นปัญหาในต่างประเทศ เช่น รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยคณะกรรมการอนุรักษ์สัตว์ป่า ให้การสนับสนุนให้กำจัดได้โดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะอิกัวนาที่ปรากฏตามที่สาธารณะโดยไม่ต้องขออนุญาต หรือในประเทศกายอานา ซึ่งรับผลกระทบจากการรุกรานของอิกัวนา มีมาตรการแปรรูปเป็นอาหารเมนูเด็ด ตั้งราคาขายกิโลกรัมหลักพันบาท เป็นต้น

โดย นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่าอีกัวน่าเขียวเป็นสัตว์ต่างถิ่น ผู้เลี้ยงต้องมีการขออนุญาตนำเข้ามายังประเทศไทย การครอบครองต้องเลี้ยงโดยไม่ปล่อยออกมาสู่ธรรมชาติ ถ้าผู้เลี้ยงปล่อยหลุดออกมาให้มีการแพร่ขยายพันธุ์ในธรรมชาติ มีความผิดตามกฎหมาย

อนึ่ง ผู้ที่ครอบครองสัตว์ป่าต่างประเทศ ต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมาย โดยไม่ปล่อยให้สัตว์ที่อยู่ในครอบครองเป็นอิสระ ซึ่งการปล่อยสัตว์ป่าควบคุมมิโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ต้องเลี้ยงไปตลอดชีวิต และหากไม่ประสงค์จะเลี้ยงให้แจ้งและส่งมอบให้กรมอุทยาน

โดยตามมีข้อมูลนำเข้าทั้งหมด 11,622 ตัวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเก็บข้อมูล ว่ามีการขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นหรือถือครองเพิ่มอีกจำนวนเท่าไร ซึ่งจะมีแนวทางกำกับดูแลในส่วนนี้ต่อไป

อ้างอิงข้อมูลกรมอุทยานแห่งชาติฯ รายงานว่าตั้งแต่ปี 2533 - 2565 มีการอนุญาตนำเข้าสัตว์เลื้อยคลาน 199 ชนิด ทั้งหมด 238,774 ตัว จาก 72 ประเทศ 6 ภูมิภาค (แอฟริกา ยุโรป เอเชีย อเมริกากลาง อเมริกาเหนือ โอเชเนียร์) ในจำนวนนี้ เป็นอิกัวนา 5,877 ตัว จาก 11 ประเทศ 5 ภูมิภาค (อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง เอเชีย แอฟริกา

ปัจจุบันพบว่า “อิกัวนาเขียว” แพร่พันธุ์อยู่ใน 3 แหล่งธรรมชาติของ สาเหตุมาจากตั้งใจปล่อยทิ้งในสู่ธรรมชาติ และหลุดสู่ธรรมชาติโดยไม่ได้ตั้งใจ แหล่งที่พบมากที่สุด “บริเวณพื้นที่ชุมชนใกล้เขาพระยาเดินธง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี” ซึ่งมีจากการสำรวจพบอีกัวนาหลายตัวอาศัยใกล้ชิดกับชุมชน ทั้งอยู่ในน้ำ อยู่ตามพุ่มไม้ ต้นไม้ บางตัวกัดกินพืชผลของชาวบ้าน พบอีกัวนาเขียวมีหลายขนาดเล็ก ตั้งแต่ 10-20 ซม. ซึ่งคาดว่าเป็นรุ่นลูกที่มีขยายพันธุ์ออกมา จนถึงรุ่นพ่อรุ่นแม่ขยายใหญ่ความยาวประมาณ 30-40 ซม.

“อิกัวนาเขียว” สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ประชาชนในพื้นที่ กัดกินพืชผลทางการเกษตร อีกทั้งเกิดกระแสข่าาวลือชาวบ้าวถูกอีกัวน่ากัดจนนิ้วขาด ซึ่งทราบข้อเท็จจริงภายหลังจากผู้ใหญ่บ้านเปิดเผยว่าอีกัวน่าตัวที่กัดชาวบ้าน เป็นอิกัวน่าที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้แล้วนไปแบกเล่น และอีกัวนากำลังจะหลุดมือเลยรีบคว้าจึงถูกกัดเล็กน้อย ซึ่งเป็นเหตุเกิดตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน

นายณรงค์ วัสสละ ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง เผยหลังจากการลงพื้นที่ร่วมกันตรวจสอบ พบว่า อีกัวน่ามีการแพร่พันธุ์เป็นจำนวนมากในพื้นที่หมู่ที่ 3 ต. พัฒนานิคม โดยเฉพาะในบริเวณที่มีแหล่งน้ำ ลำคลอง เนื่องจากกิ้งก่าอีกัวนาเป็นสัตว์ที่ชอบอาศัยและหากินอาหารใกล้แหล่งน้ำ และแพร่พันธุ์บริเวณที่แหล่งน้ำ เป็นสัตว์กินพืช และกินสัตว์น้ำ

ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้าน เล่าว่าน่าจะมีการขยายพันธุ์ในพื้นที่ ประมาณปี 2542 - 2543 โดยมีประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงนำมาเลี้ยงโดยไม่ทราบว่าเป็นใคร จนมีการขยายพันธุ์จำนวนมาก และไม่สามารถเลี้ยงต่อได้ เนื่องจากหาอาหารเลี้ยงได้ไม่เพียงพอ จึงได้ปล่อยเข้าป่า และภูเขา ทำให้เกิดการขยายพันธุ์ในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียงจนถึงปัจจุบัน

ความคืบหน้าล่าสุด นายสุทธิพงษ์ แกมทับทิม ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (สาขาสระบุรี) นำคณะทำงานลงพื้นที่เริ่มภารกิจจับอีกัวน่า ที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ เพื่อนำไปไว้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 นครนายก ต่อไป

นอกจากนี้ ยังพบอิกัวนาเขียว “บริเวณพื้นที่วัดป่าคำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี” เบื้องต้นพบมากกว่า 10 ตัว และ “บริเวณพื้นชุมชนหนองยาว อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี” พบฝูงอิกัวนาเขียว 10 ตัว ตามคำบอกว่าชาวบ้านมีคนต่างชาตินำมาเลี้ยง ซึ่งผ่านมาหลายปีพบลูกๆ หลุดกรงไปเติบโตในธรรมชาติ

สถานการณ์อิกัวนาเขียวเป็นภัยคุกคามระบบนิเวศ โดยกรมอุทยานฯ ได้ส่งเทียบเชิญนักนิเวศวิทยา ผู้เชี่ยวชาญสัตว์เลื้อยคลาน สมาคมผู้นิยมเลี้ยงสัตว์ชนิดพิเศษ เพื่อมาหารือประเด็นต่างๆ ทั้งการแจ้งขออนุญาตนำเข้ามาเลี้ยง การครอบครอง รวมทั้ง สำรวจเชิงข้อมูลวิชาการเพื่อหาตอบว่าสัตว์ชนิดนี้เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่จะกระทบกับกิ้งก่าพันธุ์พื้นเมืองของไทยหรือไม่ หรือหากเข้าไปอยู่ป่าอนุรักษ์จะส่งผลกระอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องหาคำตอบ สร้างแนวทางกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

และประเด็นที่น่ากังวล “อีกัวน่าเขียว” เป็นพาหะของเชื้อ “ซาโมเนลลา” โดยคนอาจติดเชื้อจากการสัมผัสโดยตรง และทางอ้อมจากการขับถ่ายของเสียไว้ตามทาง ถนน บ้านเรือน อาจปนเปื้อนอาหาร ซึ่งจะมีอาการอาเจียน ท้องเสียได้ ทั้งนี้ ทีมสัตวแพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้เข้าพื้นที่ทำการตรวจเชื้อและเก็บตัวอย่าง เพื่อไปตรวจสอบว่าอีกัวน่าเขียวที่แพร่กระจายพันธ์ะพบเชื้อซาลโมเนลลาหรือไม่

ขณะเดียวกัน กรมอุทยานฯ ประกาศแนวทางสำหรับการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายพันธุ์ของอีกัวน่าเขียว ดังนี้ 1. หากมีการพบเห็นอีกัวน่าเขียวให้โทรแจ้งทางสายด่วนหมายเลข 1362 กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะประสานเจ้าหน้าที่ในบริเวณใกล้เคียงไปดำเนินการดักจับเพื่อนำส่งไปดูแลตามสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า และศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่มีอยู่ทั่วประเทศ และ 2. ผู้ที่ครอบครองอีกัวน่าเขียว ให้มาแจ้งการครอบครองต่อเจ้าหน้าที่ สำหรับในพื้นที่ต่างจังหวัดให้แจ้งต่อ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ในท้องที่รับผิดชอบ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้แจ้งต่อกองคุ้มครองพันธุ์พืชป่าและสัตว์ป่า ตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

สุดท้าย สถานการณ์การแพร่กระจายพันธุ์ของ “อิกัวนาเขียว” เป็นประเด็นใหญ่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดสำหรับการควบคุมเอเลียนสปีชี่ย์ตัวร้าย ภายใต้การกำกับของ “กรมอุทยานฯ” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เป็นปัญหาสะสมมาอย่างเนื่อง กระทั่ง เกิดผลกระทบในวงกว้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเข้ามาดำเนินการ


กำลังโหลดความคิดเห็น