สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดค่าย “ลำแสงซินโครตรอน...แสงแห่งอนาคต” ให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนจิตรลดา จัดฐานการทดลองให้นักเรียนได้เรียนรู้การใช้ประโยชน์ของแสงซินโครตรอนจากเครื่องเร่งอนุภาค เปิดฐาน “ณ หน้าทอง” พิสูจน์ทองจริง-ทองปลอมด้วยเทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ ฐาน “Fast & Furious” บังคับลำอนุภาคด้วยสนามแม่เหล็ก เรียนรู้หลักการพื้นฐานเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ฐาน “แก้วไวน์เต้นระบำ” เรียนรู้ปรากฏการณ์สั่นพ้องผ่านแก้วไวน์ และฐาน “ไฟฉายย่อส่วนของซินโครตรอน” เรียนรู้การผลิตชิ้นส่วนขนาดจิ๋วด้วยแสงซินโครตรอน
รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ต้อนรับคณะครูและนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมค่าย “ลำแสงซินโครตรอน...แสงแห่งอนาคต” ระหว่างวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา
โอกาสนี้ ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ รองผู้อำนวยการพัฒนาเครื่องกำเนิดแสงสยาม 2 และประธานค่ายลำแสงซินโครตรอนฯ ได้บรรยายให้ความรู้เรื่องแสงซินโครตรอนแก่นักเรียนที่เข้าค่ายทั้งหมด 26 คน
ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ กล่าวว่า .... "นอกจากเรียนรู้จากการบรรยายแล้ว นักเรียนในค่ายยังได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงสยามโดยมีพี่ๆ นักวิทยาศาสตร์นำเยี่ยมชม จากนั้นนักเรียนจะรวมเป็นกลุ่มย่อย เพื่อเข้าร่วมฐานการทดลองเกี่ยวกับธรรมชาติของคลื่น หลักการกำเนิดแสงซินโครตรอน การใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง”
“สถาบันฯ ได้จัดเตรียมฐานทดลองทั้งหมด 4 ฐาน ได้แก่ ฐาน ณ หน้าทอง เป็นฐานที่นักเรียนจะได้เรียนรู้การประยุกต์ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน โดยการพิสูจน์ทองจริงหรือทองปลอมจากการวิเคราะห์ธาตุองค์ประกอบ ในตัวอย่างทองที่สนใจด้วยเทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ (X-ray Florescence: XRF) ฐาน Fast & Furious เป็นฐานการบังคับลำอนุภาคด้วยสนามแม่เหล็ก เพื่อเรียนรู้หลักการพื้นฐานเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ฐานแก้วไวน์เต้นระบำ เพื่อเรียนรู้เรื่องของปรากฏการณ์สั่นพ้อง และฐานไฟฉายย่อส่วนของซินโครตรอน เพื่อเรียนรู้การผลิตชิ้นส่วนจิ๋วด้วยแสงซินโครตรอน โดยนักเรียนจะได้ลงมือทดลองร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ ที่เชี่ยวชาญในองค์ความรู้แต่ละฐานอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียน ในการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต” .... ประธานค่ายลำแสงซินโครตรอนฯ กล่าว
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และโรงเรียนจิตรลดา ได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ณ ศาลาผกาภิรมย์ โรงเรียนจิตรลดา เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน การทำวิจัยของครูและโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียน โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีซินโครตรอนและสาขาวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งร่วมกันพัฒนาทรัพยากรบุคคล และสร้างแรงบันดาลใจเพื่อให้เยาวชนมีเจตนคติที่ดีต่อวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมสนับสนุนทางวิชาการ การฝึกอบรม การจัดกิจกรรม ผลักดันโครงการวิทยาศาสตร์และค่ายวิทยาศาสตร์ และพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป